ยื่น‘ดีเอสไอ’สอบเชิงลึก เจ้าหน้าที่สหกรณ์ฯรถไฟรํ่ารวยผิดปกติ

04 มี.ค. 2561 | 03:31 น.
กลุ่มธรรมาภิบาลยื่นหลักฐานเพิ่มให้ดีเอสไอชงสอบสัมพันธ์ลับกรรมการสหกรณ์ฯกับเจ้าหน้าที่ พบเบาะแสรํ่ารวยผิดปกติ มีบ้าน 3 หลัง รถยนต์ 3 คันเผยยื่นกู้สูงถึง 15 ล้านบาท ล่าสุดสหกรณ์กทม.พื้นที่ 1 แจ้งผลการตรวจสอบชัดเจนแล้วเร่งตามยึดทรัพย์และไล่บี้ส่งเงินคืนสหกรณ์ฯ

นายกิ่งแก้ว โยมเมือง ทนายกลุ่มธรรมาภิบาล เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าตามที่ทางกลุ่มได้ยื่นหลักฐานเพิ่มเติมกรณีทุจริตสหกรณ์ออมทรัพย์สโมสรรถไฟ จำกัด ไปแล้วนั้น ยังจะมีการยื่นเพิ่มเติมจากหลักฐานสัญญาการกู้เงินทั้ง 199 ฉบับจำนวนมากถึง 1 ลังขนาดใหญ่ ล่าสุดพบหลักฐานสำคัญเพิ่มเติมในปมที่สามารถนำไปสู่การสืบสวนสอบสวนระหว่างกรรมการสหกรณ์และเจ้าหน้าที่สหกรณ์ โดยเฉพาะเบาะแสกรณีรํ่ารวยผิดปกติทั้งๆที่เป็นเพียงเจ้าหน้าที่สหกรณ์ แต่กลับพบว่ามีการซื้อบ้านหลังใหญ่จำนวน 3 หลัง แถมยังมีชื่อซื้อรถยนต์คันหรูอีกจำนวน 3 คันเป็นชื่อของเจ้าหน้าที่สหกรณ์คนดังกล่าว

นอกจากนั้นยังพบเอกสารของผู้คํ้าประกันที่มีรายได้ระดับ 2 หมื่นบาทแต่คํ้าประกันให้กับผู้กู้เงินสหกรณ์ที่เป็นผู้ยื่นกู้เอง เซ็นอนุมัติเอง วงเงินสูงถึง 15 ล้านบาท จึงเป็นพิรุธและจะเร่งยื่นเอกสารให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) ตรวจสอบเชิงลึกต่อไปเนื่องจากเกี่ยวข้องทางคดีนี้

TP12-3344-A “มีบ้านเลขที่ชัดเจน บ้านแต่ละหลังราคาระดับ 10-15 ล้านบาทขึ้นไป และมีเอกสารการครอบครองชัดเจนในนามเจ้าหน้าที่สหกรณ์คนดังกล่าว โดยเฉพาะบ้านหลังใหญ่โซนพุทธมณฑล และบางบัวทอง พร้อมบ้านพักตากอากาศที่ภูเก็ต ตลอดจนสำเนาคู่มือจดทะเบียนครอบครองรถทั้ง 3 คันซึ่งเป็นปมพิรุธในการตรวจสอบความสัมพันธ์เชิงลึก อีกทั้งรายละเอียดแต่ละสัญญาระบุยอดการกู้เอาไว้ชัดเจน ประการสำคัญเมื่อตรวจสอบเชิงลึกยังพบอีกว่าใช้ที่ดินมาเป็นหลักประกันพร้อมมีการประเมินราคาเอาไว้สูงมาก จากบริษัทซึ่งเคยโดนตรวจสอบครั้งเหตุเกิดที่เมืองทองธานีเป็นผู้ทำการประเมินราคาหลักทรัพย์แปลงดังกล่าว โดยมีการประเมินราคาสูงเกินความเป็นจริงซึ่งบริษัทผู้ประเมินก็สมควรได้รับการตรวจสอบในครั้งนี้ด้วย”

นายกิ่งแก้ว กล่าวอีกว่า นอกจากนี้นายณรงค์พล พัฒนศรี ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมสหกรณ์กรุงเทพมหานคร พื้นที่ 1 ยังได้แจ้งผลการตรวจสอบการบริหารงานของสหกรณ์ออมทรัพย์สโมสรรถไฟ จำกัดตามที่กลุ่มธรรมาภิบาลได้แจ้งขอให้พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช.ตรวจสอบการกระทำของนายบุญส่ง หงษ์ทอง และพวกว่าเป็นการกระทำที่น่าจะทุจริตและมิชอบต่อสหกรณ์ หรือไม่ เป็นการกระทำที่มีเจตนาพิเศษเพื่อประโยชน์ของตนเองหรือผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่นั้น

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว กรณีดังกล่าวนายทะเบียนสหกรณ์ได้ใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.2542 มาตรา 22(1) สั่งการให้คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์แก้ไขข้อบกพร่องโดยให้สมาชิกทั้ง 6 รายส่งคืนเงินกู้ส่วนที่ได้รับเกินกว่าระเบียบฯภายใน 60 วัน หลังจากนั้นคณะผู้ตรวจการสหกรณ์ที่นายทะเบียนแต่งตั้งให้เข้าตรวจติดตามการแก้ไขปัญหาต่างๆพบว่าผู้ที่ต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายในครั้งนี้ ได้แก่ คณะกรรมการชุดที่ 7,8,9,10,11 แต่เนื่องจากเมื่อผู้ตรวจการสหกรณ์ได้เข้าตรวจติดตามพบว่าคณะกรรมการไม่ได้ปฏิบัติตามคำสั่งนายทะเบียนสหกรณ์จึงได้ร้องทุกข์กล่าวโทษคณะกรรมการชุดที่ 7,8,9,10,11,12 และอดีตผู้จัดการสหกรณ์รวม 36 คนต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลบางรักเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2560 และวันที่ 15 มกราคม 2561 เพื่อให้ชดใช้ค่าเสียหายคืนแก่สหกรณ์ ขณะนี้เรื่องอยู่ระหว่างการดำเนินการของพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจ นครบาลบางรักและสำนัก งานอัยการสูงสุด

“ผลการตรวจสอบระบุชัดเจนแล้วว่านายบุญส่ง หงษ์ทอง และพวกรวม 6 คน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคณะกรรมการบริหารสหกรณ์ชุดที่ 7,8,9,10 และ 11 ต้องเป็นผู้รับผิดชอบในความเสียหายจากการอนุมัติเงินกู้ที่ไม่เป็นไปตามระเบียบของสหกรณ์ รวมเป็นวงเงิน 2,297 ล้านบาท อีกทั้งนายทะเบียนสหกรณ์ได้ใช้อำนาจตามมาตรา 21 แห่งพระราช บัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.2542 ร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนและส่งเรื่องให้พนักงานอัยการฟ้องร้องคดีแทนสหกรณ์แล้ว

ส่วนกรณีที่นายบุญส่งและพวกรวม 6 คนกู้เงินไปจากสหกรณ์ซึ่งปรากฏว่าขณะนี้ได้ผิดสัญญาชำระหนี้ นายทะเบียนสหกรณ์ได้สั่งให้คณะกรรมการสหกรณ์บอกเลิกสัญญาและเรียกเงินกู้คืนรวมทั้งหากไม่ชำระหนี้คืนให้ฟ้องร้องดำเนินคดีแล้ว ความชัดเจนดังกล่าวนี้ก็ได้แต่หวังว่าจะสามารถหาเงินมาชดใช้คืนให้แก่สมาชิกทั้ง 6,500 คนสามารถมีเงินทุนหมุนเวียนสหกรณ์ได้อีกต่อไป”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,344 วันที่ 1 - 3 มีนาคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว