เปิดเงื่อนไขไฮสปีดเทรน กรุงเทพฯ-อู่ตะเภา สร้างเศรษฐกิจ 7 แสนล้าน

04 มี.ค. 2561 | 06:36 น.
ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(กนศ.) มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ได้เห็นชอบในหลักการโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และจะนำเสนอคณะรัฐมนตรีเห็นชอบในสัปดาห์หน้า เพื่อนำไปสู่การออกประกาศเชิญชวน(ทีโออาร์) ให้ผู้สนใจเข้าร่วมประมูลรูปแบบเอกชนร่วมลงทุน(พีพีพี) ราวเดือนมีนาคม 2561 ถือเป็นโครงการแรกที่มีความชัดเจนในการขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซี ที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน

++เชื่อม3สนามบิน45นาที
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ กนศ.ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของโครงการดังกล่าวว่า จะเป็นการยกระดับสนามบินอู่ตะเภามาเป็นสนามบินนานาชาติแห่งที่ 3 ให้ทำงานควบคู่กับสนามบินดอนเมืองและสนามบินสุวรรณภูมิ ที่จะวิ่งด้วยความเร็ว 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง สามารถเชื่อมกับกรุงเทพฯกับสนามบินอู่ตะเภาได้ใน 45 นาที เทียบกับรถยนต์ที่ต้องใช้เวลา 2-3 ชั่วโมง

โดยรถไฟความเร็วสูงนี้ จะเป็นการเปิดพื้นที่การพัฒนาจากกรุงเทพฯ เชื่อม ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง ในช่วงแรกจะมี 5 สถานี (ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ศรีราชา พัทยา อู่ตะเภา) ซึ่งจะมีการพัฒนาบริเวณสถานีให้เป็นพื้นที่พัฒนาเชื่อมโยงกับชุมชนเก่า สามารถมาใช้บริการโดยนำรถยนต์ไปจอดที่สถานีเหล่านี้ได้ ทำให้ประหยัดเวลาการเดินทางมาก ประเทศได้ประโยชน์จากการลดการใช้นํ้ามันและลดความแออัดบนถนน

ขณะที่ระยะที่ 2 จะมีการเชื่อมโยงพื้นที่พัฒนาไปสู่ ระยอง จันทบุรี และตราดในอนาคตอันใกล้ ที่คาดว่าใช้เวลาเดินทางจาก กรุงเทพฯ - ระยอง 60 นาที กรุงเทพฯ-จันทบุรี 100 นาที และกรุงเทพฯ-ตราด 120 นาที ซึ่งเป็นระยะเวลาที่เหมาะสม และจะทำให้คนส่วนใหญ่หันมาใช้การเดินทางด้วยรถไฟความเร็วสูง แทนการเดินทางโดยรถยนต์

tp11-3344-a ++ต่อขยายแอร์พอร์ตลิงค์
สาระสำคัญโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน จะแบ่งเป็น 3 ช่วง รวมระยะทางประมาณ 220 กิโลเมตร ที่เริ่มจากรถไฟความเร็วสูงส่วนต่อขยาย แอร์พอร์ตลิงค์ ดอนเมือง-พญาไท ระยะทาง 21 กิโลเมตร ที่จะวิ่งด้วยความเร็ว 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และต่อด้วยรถไฟแอร์พอร์ตลิงค์ พญาไท-สนามบินสุวรรณภูมิ ระยะทาง 29 กิโลเมตร ที่ดำเนินการอยู่แล้วในปัจจุบัน ความเร็ว 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งจะยังคงมีรถไฟจอดที่สถานีแอร์พอร์ตลิงก์ทุกสถานีเหมือนเดิม แต่จะมีขบวนรถวิ่งรับผู้โดยสารมากขึ้น ประมาณ 10 นาทีต่อขบวน ทั้งนอกชั่วโมงเร่งด่วนและชั่วโมงเร่งด่วน

ส่วนรถไฟความเร็วสูงจาก สนามบินสุวรรณภูมิ-สนามบินอู่ตะเภา ระยะทาง 170 กิโลเมตร จะมีขบวนทุกๆ 30 นาที ทั้งนอกชั่วโมงเร่งด่วนและชั่วโมงเร่งด่วน จากกรุงเทพฯ ถึงสถานีอู่ตะเภา และจะมีขบวนรถในชั่วโมงเร่งด่วนแทรกเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปยังสถานีศรีราชา ทุก 20 นาทีซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาแอร์พอร์ตลิงค์เดิม ที่ขาดทุนสะสมประมาณ 1,785 ล้านบาท โดยปี 2560 ขาดทุนประมาณ 280 ล้านบาท และเป็นหนี้จากการก่อสร้างประมาณกว่า 33,000 ล้านบาท เนื่องจากผู้ลงทุนจะต้องซื้อกิจการในมูลค่าที่เหมาะสม และการรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.)จะสามารถนำไปลดหนี้ได้ ซึ่งค่าโดยสารรถไฟความเร็วสูงจากมักกะสัน ถึงพัทยา ประมาณ 270 บาท และค่าโดยสารรถไฟความเร็วสูงจากมักกะสัน ถึงสนามบินอู่ตะเภา ประมาณ 330 บาท

++พัฒนาที่ดินรอบสถานี
อีกทั้ง จะมีการพัฒนาพื้นที่สถานีและสนับสนุนการให้บริการผู้โดยสาร ในพื้นที่สถานีมักกะสันประมาณ 150 ไร่ สำหรับการเป็นสถานีหลักรถไฟความเร็วสูง รวมที่จอดรถและเชื่อมโยงกับรถไฟฟ้าใต้ดินรวมทั้งสถานีศรีราชาประมาณ 100 ไร่ สำหรับการเป็นสถานี ที่จอดและอู่ซ่อมเพื่อสนับสนุนบริการรถไฟ

โดยผู้รับไปพัฒนาต้องจ่ายค่าเช่าที่ดินให้ร.ฟ.ท. ตามราคาตลาด และให้รัฐมีส่วนร่วมรับกำไรเมื่อโครงการมีกำไร (revenue sharing) ส่วนที่ดินศรีราชา ร.ฟ.ท. มีพื้นที่ประมาณ 100 ไร่ แต่ใช้ประโยชน์พื้นที่เพียง 75 ไร่ ซึ่งจะปรับปรุงเป็นสถานีรถไฟความเร็วสูง และอู่ซ่อมรถจักรของการรถไฟฯ ส่วนพื้นที่ที่เหลือ 25 ไร่ จะกำหนดให้เอกชนนำไปพัฒนา และจ่ายค่าเช่าให้การรถไฟฯตามราคาตลาด

สำหรับการประมูลจะเป็นรูปแบบ net costเช่นเดียวกับรถไฟฟ้าสาย สีเหลือง และรถไฟฟ้าสายสีชมพู ซึ่งเอกชนรายใดยื่นเสนอผลตอบแทนสูงสุดให้รัฐ เช่น การร่วมทุนให้รัฐจ่ายงบประมาณลงทุนน้อยที่สุด จะเป็นผู้ชนะการประมูล โดยเอกชนแต่ละรายจะคำนวณผลตอบแทนสูงสุดที่จะหาได้ ตามความสามารถของแต่ละรายในการควบคุมต้นทุนการก่อสร้าง การบริหารระบบการก่อสร้าง การจัดหาขบวนรถไฟ การหารายได้จากการวิ่งรถไฟ การหารายได้จากการบริหารอสังหาริมทรัพย์ (หลังจากจ่ายค่าเช่าที่ดินตามที่กำหนด) และนำเสนอผลประโยชน์สูงสุดมาเข้าประมูล

++สร้างมูลค่าเศรษฐกิจ7แสนล.
ทั้งนี้ จากผลการวิเคราะห์ผลตอบแทนทางด้านเศรษฐกิจตลอดทั้งโครงการในช่วง 50 ปี จะอยู่ที่ราว 4 แสนล้านบาท(มูลค่าปัจจุบัน) และหลังจากนั้นจะโอนมาเป็นของรัฐ ที่จะสร้างมูลค่าได้อีกราว 3 แสนล้านบาท จากมูลค่าการลงทุนประมาณ 2 แสนล้านบาท จึงถือว่าเป็นผลตอบแทนที่คุ้มค่าต่อการลงทุน ที่มาจากมูลค่าเพิ่มจากการนำสนามบินอู่ตะเภามาใช้ประโยชน์ ลดการใช้นํ้ามัน ลดเวลาการเดินทาง ลดมลพิษสิ่งแวดล้อมจากการใช้รถยนต์ ผลตอบแทนจากการพัฒนาเศรษฐกิจตลอดเส้นทาง การจ้างงานและการใช้ปัจจัยการผลิตในประเทศไทย และรัฐจะจัดเก็บภาษีต่างๆ ได้เพิ่มขึ้น และเมื่อครบ 50 ปี แล้ว ยังมีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจนสิ้นอายุของโครงการอีกอย่างน้อย 3 แสนล้านบาท (มูลค่าปัจจุบัน)

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,344 วันที่ 1 - 3 มีนาคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว