สนช.รับลูก รัฐบาล/สปท. ดันร่างก.ม.ตั้งศาลอาญาคดีทุจริต

18 ม.ค. 2559 | 02:00 น.
หากจะกล่าวว่า จุดแข็งสำคัญของรัฐบาล บิ๊กตู่- พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คงไม่ผิดนัก เมื่อเทียบกับรัฐบาลในภาวะปกติ คือ ความสามารถในการผลักดันร่างกฎหมายสำคัญๆหลายฉบับออกมาบังคับใช้ได้อย่างรวดเร็วโดยล่าสุด (14 มกราคม 2559 ) ในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้บรรจุวาระเรื่องด่วนพิจารณาร่างกฎหมายที่น่าสนใจรวม 4 ฉบับ

  เสียงเอกฉันท์ ตั้งศาลคดีทุจริต

ไฮไลต์สำคัญอยู่ตรงที่ การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ ( พ.ร.บ.) จัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ.. ซึ่งเสนอโดย คณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยร่างกฎหมายฉบับนี้ เพิ่งผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในหลักการไปเมื่อวันที่ 23 ธันวาคมที่ผ่านมา ซึ่งไม่เหนือความคาดหมาย เมื่อที่ประชุม สนช. มีมติผ่านวาระแรก ขั้นรับหลักการ ด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น 174 เสียง และให้ตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาจำนวน 15 คน กำหนดแปรญัตติภายใน 7 วัน ระยะเวลาดำเนินงาน 60 วัน จึงกล่าวได้ว่า เป็นกฎหมายอีกฉบับที่ผ่านขั้นตอน และกระบวนการต่างๆมาแบบด่วนพิเศษ

โดย ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย ในฐานะตัวแทนรัฐบาล ชี้แจงหลักการและเหตุผลต่อที่ประชุม สนช. ถึงความสำคัญของร่างกฎหมายฉบับนี้ว่า

"..บ่อยครั้งการดำเนินคดีเป็นไปอย่างล่าช้า ทำให้มีผู้ได้รับประโยชน์ จึงสมควรที่จัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ซึ่งเป็นศาลชำนัญพิเศษ มีผู้พิพากษาที่มีความชำนาญ มีประสบการณ์ในศาลไม่น้อยกว่า 10 ปี การพิจารณาคดีเหล่านี้ ใช้ระบบไต่สวน เหลือแค่ 2 ศาล คือ ชั้นต้นและอุทธรณ์ หากจำเลย หรือผู้ถูกกล่าวหาหลบหนีคดีก็หยุดไว้ ไม่ขาดอายุความ จนกว่าจะได้ตัวมา คดีก็จะเดินหน้าต่อไปได้ รวมถึงการยึดทรัพย์สินด้วย..." ดร.วิษณุ ระบุ

สำหรับสาระสำคัญ คือ การยกฐานะ "แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐ" ในศาลอาญา จัดตั้งขึ้นเป็น "ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ" ประกอบด้วย ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง และศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค โดยกำหนดให้เป็นศาลชั้นต้นตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ และตามที่กฎหมายอื่นบัญญัติให้อำนาจไว้

โอน ป.ป.ท.สังกัดสำนักนายกฯ

ในวันเดียวกัน ที่ประชุม สนช. ได้ลงมติวาระที่ 1 รับหลักการร่าง พ.ร.บ.มาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ไว้พิจารณา ด้วยคะแนนเสียง 175 ต่อ 0 งดออกเสียง 4 เสียง และตั้งคณะ กมธ.วิสามัญ จำนวน 15 ราย กำหนดแปรญัตติภายใน 7 วัน ระยะเวลาการดำเนินงาน 30 วัน และลงมติในวาระที่ 1 รับหลักการร่าง พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ไว้พิจารณา ด้วยคะแนนเสียง 180 ต่อ 0 งดออกเสียง 4 เสียง และตั้ง กมธ.วิสามัญชุดเดียวกันพิจารณา กำหนดแปรญัตติภายใน 7 วัน ระยะเวลาการดำเนินงาน 30 วัน

สำหรับร่าง พ.ร.บ.มาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต มีทั้งหมด 29 มาตรา แก้ไขจากเพิ่มเติม 13 มาตรา ขณะที่ร่างพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม มีทั้งหมด 8 มาตรา แก้ไขเพิ่มเติม 2 มาตรา สาระสำคัญ คือ โอนย้าย "สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) จากเดิมที่อยู่ในสังกัดของกระทรวงยุติธรรม และขึ้นตรงกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ให้อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี เพื่อให้เกิดความคล่องตัว

อย่างไรก็ดี นายกล้านรงค์ จันทิก ประธานกมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปรับปรุง กระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่..) ชี้แจงว่า ร่าง พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าว ปรับที่มาของ คณะกรรมการ ป.ป.ท. เพื่อแก้ปัญหาการแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง จากเดิมที่ ครม. เป็นผู้เสนอชื่อ แล้วขอความเห็นชอบจากสภาฯ แต่ร่างกฎหมายใหม่กำหนดให้ผู้แทน ครม. สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ( ป.ป.ช.) และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เสนอหน่วยงานละ 5 รายชื่อ รวมเป็น 15 รายชื่อ จากนั้นให้คัดเลือกโดยคณะกรรมการคัดเลือก ซึ่งประกอบด้วย ประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานศาลรัฐธรรมนูญ และประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ให้เลือกเพียง 5 คน ก่อนให้ นายกรัฐมนตรี นำรายชื่อทูลเกล้าฯ ต่อไป

  1 ปี พิจารณาก.ม.แล้วกว่า 143 ฉบับ

ขณะที่ภาพรวมของการพิจารณากฎหมายของ สนช. นั้น ในการแถลงผลการดำเนินงานครบรอบ 1 ปี ของสนช.(ตั้งแต่วันที่ 7 สิงหาคม 2557- 7 สิงหาคม 2558) ด้านการพิจารณากฎหมาย พบว่า ส่วนใหญ่เป็นกฎหมายที่รัฐบาลเสนอ ทั้งที่เกี่ยวกับกฎหมายบริหารราชการแผ่นดิน และกฎหมายที่เป็นนโยบายของรัฐบาล โดยมีกฎหมายเข้าสู่การพิจารณาของ สนช.จำนวน 143 ฉบับ รับหลักการวาระที่ 1 แล้ว 132 ฉบับ ยังไม่ได้รับหลักการอีก 3 ฉบับ อยู่ระหว่างรอคณะ กมธ.พิจารณา 1 ฉบับ และตกไป 7 ฉบับ อยู่ระหว่างการดำเนินการพิจารณาวาระที่ 2 จำนวน 21 ฉบับ และให้ความเห็นชอบวาระที่ 3 จำนวน 110 ฉบับ โดยประกาศเป็นราชกิจจานุเบกษาแล้ว 84 ฉบับ มีการพิจารณาญัตติ 46 เรื่อง ประกอบด้วยญัตติตั้ง กมธ.วิสามัญ 10 เรื่อง และญัตติเพื่อกำหนดประเด็นซักถามกรณีถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่ง 36 เรื่อง มีการตั้งกระทู้ถามทั่วไปจำนวน 18 กระทู้ โดยตอบในที่ประชุม สนช.16 กระทู้

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,123 วันที่ 17 - 20 มกราคม พ.ศ. 2559