ฟ้อง ‘ครบวงจร’ ถึงมือศาลทุจริต ‘รับจำนำข้าว’

18 ม.ค. 2559 | 08:30 น.
การยื่นฟ้องคดีในโครงการรับจำนำข้าว ที่อัยการสูงสุดเป็นโจทก์ ฟ้องกลุ่มบุคคลและนิติบุคคล รวม 7 ราย เป็นจำเลย ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เมื่อสายวันพุธที่ 13 มกราคมที่ผ่านมา เป็นกรณีล่าสุดของคดีที่ข้อเท็จจริงเกี่ยวพันกับโครงการรับจำนำข้าว จากที่ก่อนหน้าได้ยื่นฟ้องนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2558 ที่ศาลประทับรับฟ้องเป็นคดีหมายเลขดำที่ อม. 22/2558 และฟ้องนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ กับพวกรวม 21 คน เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2558 เป็นคดีหมายเลขดำที่ อม.25/2558 ไปก่อนหน้านั้น

[caption id="attachment_26663" align="aligncenter" width="600"] ฟ้องครบวงจรรับจำนำข้าว ฟ้องครบวงจรรับจำนำข้าว[/caption]

โดยคดีล่าสุดแม้จำเลยจะเป็นกลุ่มที่ไม่ได้มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกว้างขวางในวงสังคมนัก นายชุติชัย สาขากร รองอัยการสูงสุด ที่นำคณะทำงานแถลงหลังการยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาฯ ระบุตอนหนึ่งว่า "จะเห็นว่าคดีเราได้ฟ้องครบวงจรการทุจริต ที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐทั้งหมด ตั้งแต่ต้นจนกระทั่งคดีถึงวันนี้"

 ฟ้อง7จำเลย"ร่วมสนับสนุน"ทุจริตจีทูจี

เช้าวันที่ 13 มกราคมที่ผ่านมา อัยการสูงสุด (อสส.) ได้ยื่นฟ้องเอกชน 7 รายเป็นจำเลย ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในคดีหมายเลขดำที่ 1/2559 ในความผิดฐานร่วมสนับสนุนเจ้าหน้าที่รัฐที่ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 ,157 ,83 ,86 และ 91 และตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 4 และมาตรา 123/1 ตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)แจ้งข้อกล่าวหา โดยศาลนัดฟังคำสั่งว่าจะรับหรือไม่รับในวันที่ 25 กุมภาพันธ์นี้

โดยผู้แทนอสส.นำคำฟ้องและสำนวนการไต่สวนของป.ป.ช. และหลักฐานต่าง ๆ จำนวนมากกว่า 300 กล่อง เอกสาร 2.28 พันแฟ้ม หนาเกือบ 8.6 หมื่นหน้า ฟ้องเอกชน 7 รายเป็นจำเลย ได้แก่ 1.หจก.โรงสีกิจทวียโสธร โดยนายทวี อาจสมรรถ หุ้นส่วนผู้จัดการ 2.นายทวี อาจสมรรถ 3.บริษัท กิจทวียโสธรไรซ์ จำกัด โดยนายทวี อาจสมรรถ กรรมการ 4.บริษัท เค.เอ็ม.ซี.อินเตอร์ไรซ์ (2002) จำกัด โดยนายปกรณ์ ลีศิริกุล 5.นายปกรณ์ ลีศิริกุล 6.บริษัท เจียเม้ง จำกัด โดยนางประพิศ มานะธัญญา กรรมการ และ7.นางประพิศ มานะธัญญา

 พิรุธ"เงินคนไทย-ขายในประเทศ"มัด

นายชุติชัย สาขากร รองอัยการสูงสุด นำคณะทำงานคดีนี้เปิดแถลงหลังยื่นฟ้องคดี การยื่นฟ้องเอกชน 7 ราย เพราะมีข้อเท็จจริงเกี่ยวพันกันในความผิดเกี่ยวกับโครงการรับจำนำข้าว ที่อัยการสูงสุดได้ยื่นฟ้องไปก่อนหน้า โดยในคดีนี้เป็นกลุ่มผู้สนับสนุนเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำผิด ในการเข้ามาร่วมทำสัญญา สั่งจ่ายแคชเชียร์เช็ค ลงนามรับมอบข้าว ในการระบายข้าวรัฐต่อรัฐ หรือจีทูจี แต่ข้าวที่ทำสัญญาก็มิได้มีการส่งออก แต่มีการนำมาหมุนเวียนขายในประเทศ โดยได้รับข้าวในราคาถูกจากการเสนอขายแบบจีทูจี แต่นำไปขายในราคาตลาด เป็นวงจรการทุจริต โดยเจ้าหน้าที่รัฐมีส่วนรู้เห็น และมีผู้เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันเป็นวงจร ซึ่งทางอัยการได้ส่งฟ้องครบถ้วนแล้ว

ด้านนายกิตินันท์ ธัชประมุข รองอธิบดีอัยการสำนักงานการสอบสวน ชี้แจงเพิ่มเติมว่า คดีฟ้องเอกชน 7 รายนี้ พยานหลักฐานในคดีกว่า 80 % เป็นพยานชุดเดียวกับคดีฟ้องนายบุญทรง จึงมีคำร้องต่อศาลขอรวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน แต่ต้องรอฟังคำสั่งว่าศาลจะอนุญาตหรือไม่ ทั้งนี้ ค่อนข้างมั่นใจว่าจะชี้ให้ศาลเห็นอย่างชัดเจนถึงการทุจริตได้ เพราะข้าวที่ซื้อเป็นข้าวที่กรมการค้าต่างประเทศทำสัญญาขายให้บริษัทจีน 2 บริษัท แต่กลับนำเงินของนิติบุคคลในประเทศไปชำระราคา โดยเฉพาะนิติบุคคลที่อัยการฟ้องเป็นเจ้าของโกดังที่เก็บข้าว ซึ่งน่าจะรู้อยู่แล้วว่าการซื้อขายข้าวในโครงการรับจำนำและระบายข้าวเป็นสัญญาจีทูจี ไม่ได้ขายในประเทศ การที่นิติบุคคลออกเช็คไปชำระราคาให้กรมการค้าต่างประเทศ เท่ากับสนับสนุนเจ้าพนักงานให้ปฏิบัติหน้าที่มิชอบ

 แยกจิ๊กซอว์บ.จีนให้ป.ป.ช.หาหลักฐานต่อ

ทั้งนี้ ผู้ถูกกล่าวหาที่ป.ป.ช.ส่งสำนวนการไต่สวนมาให้อัยการสูงสุดส่งฟ้อง Guangdong Stationary & Sporting Goods imp.& exp corp. (หรือบริษัท กวางตุ้งฯ จำกัด) มีรวม 14 ราย แต่คณะทำงานฝ่ายอัยการโดยความเห็นชอบของอัยการสูงสุด เห็นว่า พยานหลักฐานยังมีข้อไม่สมบูรณ์ประการเดียว คือ กระบวนการส่งฟ้องกลุ่มบุคคลสัญชาติจีน 7 ราย ที่ยังดำเนินการไม่ครบถ้วน โดยทางจีนแจ้งกลับป.ป.ช.ว่า ให้ส่งคำฟ้องเป็นภาษาจีน และโต้แย้งเรื่องอำนาจการสั่งฟ้องของป.ป.ช.อยู่ จึงตั้งข้อไม่สมบูรณ์ และตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างผู้แทนอสส. และผู้แทนป.ป.ช. เพื่อรวบรวมพยานหลักฐานและข้อยุติเกี่ยวกับการดำเนินคดีกับกลุ่มนี้ต่อไป ส่วนผู้ถูกกล่าวหากลุ่มบุคคลสัญชาติไทยมีพยานสมบูรณ์พอฟ้อง จึงให้ดำเนินคดีกับกลุ่มนี้ไปก่อน

และแม้จำเลยในคดีนี้จะมิใช่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง แต่มีความผิดฐานสนับสนุนเจ้าหน้าที่รัฐที่ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริต เป็นคดีที่เกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กัน จึงยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองดังกล่าว

ส่วนขั้นตอนตามกฎหมายภายหลังฟ้องคดี ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาจะเลือกองค์คณะผู้พิพากษาเพื่อพิจารณาคดีนี้ จำนวน 9 ท่าน โดยเลือกจากผู้ดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลฎีกา หรือผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา ให้แล้วเสร็จภายใน 14 วัน องค์คณะผู้พิพากษาดังกล่าวจะประชุมเพื่อเลือกเจ้าของสำนวนคดี จำนวน 1 ท่าน และพิจารณาคำฟ้องของอัยการสูงสุด ซึ่งศาลนัดฟังคำสั่งว่าจะรับไม่รับในวันที่ 25 กุมภาพันธ์นี้

 ไต่สวนคดีรับจำนำข้าวระอุทั้งปี

นอกจากการส่งฟ้องเอกชน 7 รายที่เป็นชิ้นส่วนสุดท้ายของวงจรทุจริตรับจำนำข้าว เป็นคดีขึ้นสู่ศาลแล้ว 2 คดีแรกที่ศาลมีคำสั่งรับฟ้องไว้แล้วนั้น เข้าสู่ขั้นตอนนัดไต่สวนพยานโจทก์และจำเลยต่อเนื่องตลอดทั้งปี 2559 นี้

โดยในคดีฟ้องนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรนั้น ศาลนัดให้โจทก์นำพยานเข้าไต่สวน 14 ปาก จากเดิมเสนอ 17 ปาก โดยให้ไต่สวนพยานโจทก์ 5 นัด เริ่มตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม 2559 ,17 และวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ,วันที่ 4 และ 23 มีนาคม และไต่สวนพยานจำเลย 42 ปากจากเดิมเสนอ 43 ปาก รวม 16 นัด เริ่มวันที่ 1 และ 22 เมษายน,วันที่ 13 และ18 พฤษภาคม, วันที่ 17 และ 24 มิถุนายน, วันที่ 8 และ 22 กรกฎาคม ,วันที่ 5 และ 19 สิงหาคม ,วันที่ 9 และ 23 กันยายน, วันที่ 7 และ 21 ตุลาคม ,วันที่ 4 และ 18 พฤศจิกายน

การไต่สวนพยานโจทก์นัดแรก เวลา 09.30 น.วันที่ 15 มกราคมนี้ นางสาวยิ่งลักษณ์ต้องมาฟังการไต่สวนพยานด้วยตามคำสั่งศาล ซึ่งคณะทำงานอัยการเตรียมนำดร.นิพนธ์ พัวพงศกร อดีตประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) เบิกความเป็นพยานปากแรก

ส่วนคดีฟ้องนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ กับพวกรวม 21 คน นั้นศาลได้มีคำสั่งให้โจทก์นำพยานเข้าไต่สวน 29 ปากและให้จำเลยนำพยานเข้าไต่สวน 92 ปาก ส่วนพยานโจทก์และจำเลยที่เหลือ ให้รอไต่สวนพยานฝ่ายนั้นเสร็จก่อนศาลจะมีคำสั่งต่อไป โดยกำหนดให้โจทก์และจำเลยนำพยานเข้าไต่สวนให้เสร็จภายใน 20 นัด นัดแรกเริ่มวันที่ 2 และ 16 มีนาคม ,วันที่ 20 และ21 เมษายน,วันที่ 4 และ 11 พฤษภาคม,วันที่ 15 และ 29 มิถุนายน,วันที่ 6 และ 27 กรกฎาคม, วันที่ 3 และ 17 สิงหาคม, วันที่ 7 และ 21 กันยายน, วันที่ 5 และ 19 ตุลาคม,วันที่ 2 และ 16 พฤศจิกายน และวันที่ 7 และ 21 ธันวาคม

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,123 วันที่ 17 - 20 มกราคม พ.ศ. 2559