เร่งอปท.ใช้ยางพาราโครงการรัฐ

02 มี.ค. 2561 | 10:30 น.
รัฐบาลแก้ระเบียบเปิดทางใช้ยางพาราทำโครงการรัฐ “บิ๊กตู่” ฉุนหลังพบอปท.ไม่ร่วมมือ สั่งกรมส่งเสริมปกครองท้องถิ่นดูแล

พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 27 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี รายงานความคืบหน้าในการหารือกับสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และกรมบัญชีกลาง ในเรื่องให้หน่วยงานราชการสามารถซื้อยางพาราในการนำไปจัดทำโครงการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือชาวสวนยาง ซึ่งนายกรัฐมนตรีเคยปรารภหลายครั้ง แต่ติดปัญหาเรื่องระเบียบหลักเกณฑ์

[caption id="attachment_258299" align="aligncenter" width="503"] พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด[/caption]

พล.ท.สรรเสริญ กล่าวว่า นายวิษณุได้รายงานว่าได้เชิญทั้ง 2 หน่วยงานและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องมาหารือแล้ว ได้ข้อสรุปว่าต่อไปนี้หน่วยงานของรัฐสามารถกำหนดรายละเอียดเพิ่มเติมของโครงการในทีโออาร์ได้ว่า ถ้ามีบริษัทใดที่รับงานประมูลโครงการของหน่วยงานของรัฐ ให้สามารถซื้อยางพาราจากการยางแห่งประเทศไทยได้ ซึ่งการยางฯก็จะไปซื้อยางพาราใหม่จากชาวสวนยาง นอกจากนี้ในข้อสรุปยังอนุญาตให้ซื้อยางพาราจากองค์กร บริษัทอะไรก็ได้ที่ไปซื้อยางใหม่มาจากชาวสวนยาง หากปฏิบัติตามนี้จะไม่ถือว่าเป็นการล็อกสเปกการจัดซื้อจัดจ้าง

พล.ท.สรรเสริญ กล่าวอีกว่า นายกรัฐมนตรีมีข้อสังเกตว่าหน่วยงานของรัฐทั้งหมด 20 กระทรวง พบว่ามีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใช้ยางพาราในการทำโครงการในปริมาณที่น้อยมาก ทั้งที่ก่อนหน้านี้มีการรวมยอดจนได้ตัวเลขความต้องการการใช้ยางพาราแล้ว พบว่ามีความต้อง การการใช้ยางพาราประมาณหมื่นตันต่อเดือน แต่กลับได้เพียงหลักพันเท่านั้น

“นายกรัฐมนตรีจึงสั่งการให้กรมส่งเสริมปกครองท้องถิ่น คณะกรรมการกระจายอำนาจ จะต้องไปคุยกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ว่าต้องขานรับนโยบายของรัฐในการที่จะจัดซื้อจัดหายางพาราของชาวสวน ไม่ว่าท่านจะประมูลงานอะไรของรัฐ ควรจะต้องเพิ่มยางพาราในทีโออาร์ด้วย” พล.ท.สรรเสริญ กล่าว

เมื่อถามว่าหากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่สนองนโยบายอีกจะมีมาตรการลงโทษอย่างไรหรือไม่ พล.ท.สรรเสริญ กล่าวว่า ไม่ต้องมีมาตรการอะไร เพราะเพียง พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย สั่งการลงไป เดี๋ยวก็จะมีการปฏิบัติเอง

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ก่อนหน้านี้มียางพาราในสต๊อกประมาณ 3 แสนตัน แต่จากการที่รัฐบาลบริหารจัดการขณะนี้มียางเหลืออีก 1.4 แสนตันในสต๊อก แต่ยังไม่มีการพิจารณาให้นำยางเก่าในสต๊อกมาขายออกสู่ตลาดหรือใช้ในโครงการต่างๆ ของภาครัฐ ส่วนจะนำออกมาใช้เมื่อไรจะดูความเหมาะสม เพื่อไม่ให้มีผลกระทบกับราคายางที่เป็นยางใหม่

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,344 วันที่ 1 - 3 มีนาคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว