ปตท. ผนึก 'ซีพี' ทุ่ม 2 แสนล้าน! บิ๊กดีลตั้งบริษัทร่วมทุนลุยไฮสปีดเทรน-ปักธงยึดมักกะสัน

28 ก.พ. 2561 | 10:50 น.
1618

‘ซีพี’ จับมือ ปตท. ตั้งบริษัทร่วมทุนประมูลไฮสปีดเทรน กรุงเทพฯ-อู่ตะเภา 2 แสนล้านบาท คาดได้ข้อสรุป 1-2 เดือน ก่อนเสนอบอร์ดไฟเขียว เล็งส่งโมเดลเมืองอัจฉริยะ มิกซ์ยูส พัฒนามักกะสัน-ฉะเชิงเทรา-พัทยา-ระยอง

หลังจากคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กนศ.) มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้กำหนดกรอบการออกประกาศเชิญชวน (ทีโออาร์) ประมูลโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา มูลค่าการลงทุนประมาณ 2 แสนล้านบาท ในรูปแบบร่วมลงทุนกับเอกชน หรือ พีพีพี ล่าสุด มีเอกชนทั้งไทยและต่างประเทศหลายรายสนใจร่วมประมูล แต่ที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ คือ การจับมือกันของ 2 บริษัทยักษ์ใหญ่ อย่าง กลุ่มเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) กับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)


ซีพี-ปตท. จับมือลุยประมูล
แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า กลุ่มซีพี กับ ปตท. อยู่ระหว่างการเจรจาเป็นพันธมิตรจัดตั้งบริษัทร่วมทุนมาประมูลโครงการนี้ โดย ปตท. จะถือหุ้นในบริษัทร่วมทุน 49% ส่วนที่เหลืออีก 51% จะถือหุ้นโดยเครือซีพีและพันธมิตรจากประเทศจีน ที่เชี่ยวชาญรถไฟความเร็วสูง โดยการเจรจาครั้งนี้ ปตท. มอบหมายให้ส่วนงานพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในสายงานเทคโนโลยีและวิศวกรรมเป็นผู้เจรจาตามโครงสร้างสายงาน ที่ ปตท. ได้จัดตั้งส่วนธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์มาวางแผนธุรกิจและพัฒนาตลาดอสังหาริมทรัพย์โดยตรง


บาร์ไลน์ฐาน

“ในอนาคตรายได้จากการผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจะน้อยลง ปตท. จึงจำเป็นต้องแสวงหาโอกาสจากการลงทุนในด้านอื่น ๆ เพิ่มขึ้น ซึ่งการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ก็เป็นหนึ่งในแผนของ ปตท. และก่อนหน้านี้ ส่วนธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ก็เคยเสนอเรื่องให้บอร์ด ปตท. ลงทุนในโครงการมอเตอร์เวย์หลายสาย แต่บอร์ดไม่เห็นชอบ เพราะผลตอบแทนต่ำ ขณะที่ โครงการรถไฟความเร็วสูงก็เป็นหนึ่งในโครงการเป้าหมายที่ ปตท. จะเข้าไปลงทุนเพื่อต่อยอดธุรกิจ แต่รัฐบาลกำหนดให้โครงการนี้เป็นการลงทุนแบบพีพีพี หาก ปตท. ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจเข้าไปลงทุน 100% ก็จะขัดกับระเบียบ ปตท. จึงจำเป็นต้องเจรจากับกลุ่มซีพี เพื่อร่วมลงทุนในโครงการนี้” แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม กล่าว


P1-3344-A



ปตท. ยัน 1-2 เดือน ได้ข้อสรุป
นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยีและวิศวกรรม บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ปตท. อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการอยู่ ซึ่งน่าจะสรุปผลได้ภายในเดือน มี.ค. หรือ เม.ย. นี้ เป็นอย่างช้า หลังจากนั้นจะนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการบริหาร ปตท. ให้ความเห็นชอบ ส่วนแบบการร่วมทุนยังไม่ได้ข้อสรุปว่า จะต้องจับมือกับรายใด เพราะจะต้องศึกษาบริษัทนั้น ๆ ที่จะมาร่วมทุนกันด้วยว่า มีความเหมาะสมแค่ไหน เนื่องจากโครงการนี้ไม่อยู่ในกลยุทธ์การดำเนินงาน และ ปตท. เองก็ไม่มีความถนัด ดังนั้น การศึกษาโครงการและหาพันธมิตรจะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ

สำหรับสาเหตุที่ ปตท. ให้ความสนใจในการลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูง เนื่องจากเห็นว่า เป็นโครงการของรัฐบาลที่ ปตท. จะเข้าไปร่วมสนับสนุนให้เกิดได้ อีกทั้งเส้นทางการวิ่งของรถไฟความเร็วสูงสามารถตอบโจทย์ด้านโลจิสติกส์ของกลุ่มบริษัทที่เข้าไปลงทุนเป็นจำนวนมาก ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) และยังเป็นโอกาสในการแสวงหารายได้ส่วนหนึ่งให้กับ ปตท. แต่ขึ้นอยู่กับว่า ทางบอร์ด ปตท. จะเห็นชอบด้วยหรือไม่ หากบอร์ดเห็นว่า ไม่คุ้มค่ากับการลงทุน ก็ต้องยุติการเข้าร่วมประมูล


เล็งพัฒนา 3 เมืองอัจฉริยะ
ด้านแหล่งข่าวจากกลุ่มซีพี เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ยอมรับว่า กลุ่มซีพีมีแผนจะเข้าร่วมประมูลโครงการรถไฟความเร็วสูงครั้งนี้ด้วย โดยในส่วนของการพัฒนาที่ดินมักกะสัน มีเป้าหมายพัฒนาเป็น ‘มิกซ์ยูส’ ด้วยการนำเทคโนโลยีการพัฒนาที่ดินที่เคยประสบความสำเร็จจากโครงการอสังหาริมทรัพย์ของกลุ่มแมกโนเลียมาปรับให้เข้ากับพื้นที่มักกะสัน เพื่อเชื่อมโครงการเมืองอัจฉริยะที่ จ.ฉะเชิงเทรา


TP12-3299-C

สำหรับรูปแบบโครงการจะเน้นการพัฒนาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงต้องให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ก่อนแล้วในพื้นที่นั้น ๆ ไม่ได้รับผลกระทบ แต่ในทางกลับกันจะเป็นการสร้างโอกาสการพัฒนาให้ประชาชนในพื้นที่เพิ่มขึ้น ส่วนเทคโนโลยีที่จะนำเข้ามาใช้ นอกจากการพัฒนาตามสภาพพื้นที่ที่เหมาะสมแล้ว ยังจะนำเทคโนโลยีจากต่างประเทศมาปรับใช้ ซึ่งพบว่า ประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ หลังการใช้ร่วมกับโครงการฟอเรสเฮียของแมกโนเลีย ส่วนเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูง ซึ่งเป็นส่วนหลักของการพัฒนาที่ดินมักกะสันนั้น ซีพีมีความสนใจเทคโนโลยีจากประเทศจีน ซึ่งมีความทันสมัยติด 1 ใน 3 ของโลก

แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ

รองรับพัฒนานิคมฯ 3 พันไร่
ส่วนความสะดวกการเดินทางของผู้คน ที่จะใช้เป็นจุดขายดึงให้คนเก่ง ๆ จากทั่วโลกอยากมาใช้ชีวิตที่เมืองไทยและลงทุนในอีอีซี คือ การสร้างเมืองอัจฉริยะใน 3 จุด คือ พัทยา แปดริ้ว (ฉะเชิงเทรา) และระยอง เพราะมีข้อดีที่มีความน่าอยู่ ติดทะเลและแม่น้ำอยู่แล้ว เพียงแต่เพิ่มเรื่องสิ่งแวดล้อมให้เป็นเมืองสีเขียว และเชื่อมต่อกับกรุงเทพฯ ด้วยระบบขนส่งที่ทันสมัย และสร้างระบบโรงพยาบาลที่ทันสมัยที่สุด

นอกจากนี้ ยังเป็นเมืองรองรับการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมซีพี ที่ อ.บ้านค่าย จ.ระยอง ซึ่งได้รับประกาศเป็นเขตส่งเสริมเพื่อกิจการอุตสาหกรรมในพื้นที่ 3,068 ไร่ เพื่อรองรับนักลงทุนจีนที่จะเข้ามาลงทุนในอีอีซี นอกจากนี้ ทางกลุ่มซีพีและ ปตท. ยังมีที่ดินที่ อ.วังจันทาร์ จ.ระยอง อีกหลายพันไร่ เชื่อว่า หากซีพีและ ปตท. ร่วมมือกันก็จะเป็นประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย” แหล่งข่าว กล่าว

อย่างไรก็ตาม นอกจาก ปตท. และกลุ่มซีพีแล้ว ยังมีเอกชนไทยและต่างประเทศหลายรายสนใจเข้าร่วมประมูลโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เช่น บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอส, บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,344 วันที่ 1-3 มี.ค. 2561 หน้า 01-02

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว