ทุบเอทัสสะเทือนกรุง ตึกเบียร์ช้าง-ซาโต้ส่อโดนกทม.สั่งเอกซเรย์ทุกซอย

04 มี.ค. 2561 | 02:55 น.
ปิดฉากคดีประวัติศาสตร์ กทม.ทุบทิ้งแน่โรงแรมเอทัส-เซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ เผยมีนาคมนี้ได้ผู้รับเหมาสนง.เขตปทุมวัน ยํ้าชัด ตึกเบียร์ช้าง อาจโดน ด้วย เตรียมเอ็กซเรย์ซอยทั่วกรุง โดยใช้คำสั่งศาลเป็นบรรทัดฐาน

หลังยืดเยื้อมานาน 10 ปีจากกรณีชาวบ้าน 24 ราย ในซอยร่วมฤดี ฟ้องคดีประวัติศาสตร์ให้ดำเนินคดีกับผู้อำนวยการเขตปทุมวัน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเมื่อปี 2551 อนุญาตโดยมิชอบให้ บริษัท ลาภประทาน จำกัด และบริษัท ทับทิมทร จำกัด ก่อสร้างโรงแรมดิเอทัส และเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ ซึ่งเป็นอาคารสูงและอาคารขนาดใหญ่พิเศษ สูงเกิน 23 เมตรและพื้นที่ใช้สอยเกิน 1 หมื่นตารางเมตร ทั้งที่ ขนาดเขตทางกว้างไม่ถึง 10 เมตร ขัดต่อกฎกระทรวงฉบับที่ 33 ที่ออกตามความในพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ควบคุมอาคารพ.ศ. 2522 การต่อสู้ของชาวบ้าน จากปี 2551 กระทั่งถึงวันพิพากษาใช้เวลานาน 6 ปี แต่เอกชนและ กทม. อุทธรณ์คดี แต่แพ้คดีในที่สุด

“ฐานเศรษฐกิจ” สำรวจบรรยากาศภายในซอยร่วมฤดี ซึ่งต้นซอยติดสถานีรถไฟฟ้าเพลินจิต ท้ายซอย ติดถนนวิทยุถือว่าเป็นทำเลที่ดีเวลอปเปอร์ให้ความสนใจ ขณะที่ โรงแรมดิเอทัส บางกอก และเซอร์วิสอพาร์ต เมนต์ ตั้งอยู่บริเวณต้นซอย ล่าสุดยังมีนักท่องเที่ยวติดต่อใช้บริการต่อเนื่อง โดยเฉพาะต่างชาติ เกาหลี ญี่ปุ่น จีน เมื่อสอบถาม พนักงานก็ได้รับคำตอบว่า แม้จะมีประกาศห้ามใช้อาคาร บริษัทยังเปิดให้บริการตามปกติ ไม่ตื่นตกใจกับประกาศห้ามใช้อาคารและการรื้อถอน เช่นเดียวกับนักท่องเที่ยวที่ยังติดต่อขอใช้บริการต่อเนื่อง ส่วนอาคารชาโต้ สร้างติดกับโรงแรมดิเอทัส มีความสูงระดับเดียวกัน

MP29-3344-A ด้านนายสนธยา เพิ่งผล ประธานชุมชนซอยร่วมฤดี และอดีตสมาชิกสภาเขตปทุมวันกล่าวว่าการรื้อถอนอาคารเอทัส จะกระทบอาคารข้างเคียงที่อาจจะต้องรื้อถอนตามไปด้วย เช่นอาคารชาโต้ จากการวัดความสูงของเขตปทุมวันคาดว่า มีการก่อสร้างสูงกว่า 23 เมตร ขัดต่อกฎหมายควบคุมอาคารเช่นกัน ที่ขนาดซอยตํ่ากว่า 10 เมตร ต้องสร้างอาคารสูงไม่เกิน 23 เมตรหรือ 8 ชั้น ขนาดพื้นที่ใช้สอยไม่เกิน 1 หมื่นตารางเมตร รวมทั้งคอนโดมิเนียมในซอยสุขุมวิท 39 ที่พบว่าสร้างสูงเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด อย่างไรก็ดี เมื่อมีการตรวจสอบซอยร่วมฤดี กทม.ควรตรวจสอบอาคารในซอยทั้งหมดด้วย เชื่อว่ามีการลักไก่ก่อสร้างผิดกฎหมายเช่นเดียวกัน

สำหรับซอยร่วมฤดี เกิดจากเจ้าของที่ดิน ซึ่งเป็นราชสกุล อาทิ หม่อมเจ้าหญิงวิภาวดีรังสิต ฯลฯ บริจาค ข้างละ 5 เมตร รวม 10 เมตร เพื่อนำที่ดินเปล่าจัดสรรขาย แต่ต่อมาสถานทูตอังกฤษได้ ขยับแนวรั้วรุกลํ้า ถนน ทำให้เจ้าของที่ดินขยับตามจน ซอยร่วมฤดี มีขนาดความกว้างไม่เท่ากัน หรือตั้งแต่ 7 เมตรเศษๆจนถึง กว่า 9 เมตร แต่ทางสำนักงานเขต กลับยืนยันว่า ถนนกว้าง 10 เมตร ทำให้เกิดการก่อสร้างขึ้น ขณะที่เจ้าของโรงแรมดิเอทัส ได้หาหลักฐานของผู้บริจาคเขตทาง และเตรียมฟ้องศาลแพ่งเรียกค่าเสียหายจากการรื้ออาคารกับกทม.มากกว่า 1,000 ล้านบาท

แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ แหล่งข่าวจาก กรุงเทพ มหานครเปิดเผยว่า ภายในซอยร่วมฤดี ยังพบอาคารของค่ายเบียร์ช้าง อยู่ในข่ายเดียวกับดิเอทัส ที่อาจจะต้องรื้อถอน ซึ่งคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดครั้งนี้ สามารถใช้เป็นบรรทัดฐาน กับ อาคารอื่นทั่วไปได้ และเดือนมีนาคม 2561 สำนักงานเขตปทุมวัน ประกาศหาผู้รับจ้างรื้อถอน โรงแรม ดิเอทัส บางกอก และเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ ดิเอทัสในซอยร่วมฤดีของบริษัท ลาภประทาน จำกัด และบริษัททับทิมทร จำกัด วงเงิน 120 ล้านบาทเป็นเวลา 1 ปีนับจากเซ็นสัญญา หลังเขตปทุมวันปิดประกาศ ห้ามใช้อาคารเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2560 ตามคำสั่งศาล แต่ปัจจุบันยังพบว่าทั้งโรงแรมและส่วนของเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ยังเปิดให้บริการ โดยเจ้าของอาคารยอมจ่ายค่าปรับวันละ 3 หมื่นบาท ขณะที่ค่ารื้อถอนเจ้าของโรงแรมดิเอทัสจะเป็นผู้รับผิดชอบ

ส่วนซีกของกทม.ผู้ที่รับผิดชอบคือ ผู้อำนวยการเขตปทุมวัน และผู้ว่าราชการกรุงเทพ มหานครในสมัยนั้น ปล่อยให้เอกชนสร้างโรงแรมสูงถึง 24 ชั้น ทั้งที่สร้างได้ไม่เกิน 8 ชั้น พื้นที่ใช้สอยมากถึง 2.8 หมื่นตารางเมตร และเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ สูง 18 ชั้น ที่ใช้สอย 2.9 หมื่นตารางเมตร

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,344 วันที่ 1 - 3 มีนาคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว