ปั้นโมเดลเศษไม้ขึ้นห้าง แบรนด์Art-Deeชูจุดขายเอกลักษณ์ไทย

04 มี.ค. 2561 | 09:27 น.
บ.ไทยเปเปอร์โมเดล เล็งยกผลิตภัณฑ์เข้าห้างคิงเพาเวอร์ และร้านในเครือสยามพิวรรธน์ พร้อมเพิ่มรูปแบบโมเดลขยายกลุ่มลูกค้า เชื่อสร้างรายได้ปีนี้ 1.2 ล้านบาท ชูจุดเด่นเอกลักษณ์ความเป็นไทย

นายชลาธิป ทรัพย์มณี เจ้าของบริษัท ไทยเปเปอร์โมเดล จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายโมเดลจากเศษไม้ภายใต้แบรนด์ “Art-Dee” เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ในปี 2561 บริษัทมีแผนที่จะขยายฐานลูกค้าให้เพิ่มมากขึ้น โดยเตรียมนำผลิตภัณฑ์เข้าไปวางจำหน่ายที่ห้างสรรพสินค้าแบบโมเดิร์นเทรดอย่างคิงเพาเวอร์ (King Power) และร้านในเครือกลุ่มสยามพิวรรธน์ เช่น โครงการไอคอนสยาม และห้างสยามเซ็น เตอร์ หลังจากที่ได้มีโอกาสเข้าร่วมโครงการจีเนียส อะคาเดมี่ (Genius Academy) ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ทำให้ได้พบเจ้าของธุรกิจดังกล่าวและให้ความสนใจผลิตภัณฑ์ โดยปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการทำสัญญาเพื่อนำผลิตภัณฑ์ไปจำหน่ายจากเดิมที่จะจำหน่ายผ่านช่องทางเฟซบุ๊ก (Facebook) เป็นหลัก

TP13-3344-1B อย่างไรก็ตาม บริษัทยังเตรียมเพิ่มรูปแบบของโมเดลไปสู่รูปแบบของบ้านเรือนไทย 4 ภาคในลักษณะเรือนคู่ เพื่อต่อยอดโมเดลเดิมในชุดวิถีทาง วิถีไทย ซึ่งมีโมเดลบ้านเรือนไทย 4 ภาคในลักษณะเรือนเดี่ยว อีกทั้งยังเตรียมขยายฐานลูกค้าไปสู่กลุ่มของผู้ที่ชื่นชอบรถไฟจำลอง ซึ่งจะเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง ภายใต้รูปแบบของโมเดลชุดสถานีรถไฟไทย โดยใช้สัดส่วน 1:87 หรือที่เรียกว่า “โฮสเกล” (Ho.Scale) นอกจากนี้ บริษัทยังนำเศษไม้ที่เหลือจากการทำเป็นโมเดลแล้วประมาณ 10-15 เซนติเมตร ส่วนเศษไม้ที่เหลือจากการทำโมเดลขนาดประมาณ 10-15 เซนติเมตร มาทำเป็นโมเดลขนาดเล็ก เช่น พวงกุญแจ, โซฟาขนาดเล็ก และม้านั่งสนาม เป็นต้น ภายใต้แบรนด์ “Kid-Dai” อีกด้วย

“จากการเพิ่มช่องทางในการทำตลาดเข้าสู่โมเดิร์นเทรด และการเพิ่มชุดโมเดลในการจำหน่ายเชื่อว่าจะทำให้มีรายได้อยู่ที่ประมาณ 100,000 บาทต่อเดือน หรือประมาณ 1.2 ล้านบาทในปี 2561 และจะเพิ่มเป็น 200,000 บาทต่อเดือน หรือประมาณ 2.4 ล้านบาทในปี 2562”

สำหรับจุดเด่นของผลิต ภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ “Art-Dee” นั้น ด้วยความที่ตนเองเป็นคนที่ชื่นชอบ และสนใจในประวัติศาสตร์ไทย ดังนั้น งานที่ออกมาจึงมีความเป็นไทยที่โดดเด่น โดยเชื่อว่าจะช่วยทำให้คนรุ่นใหม่ได้เข้าใจเอกลักษณ์ความเป็นไทยมากขึ้น รวมถึงยังช่วยสร้างความสัมพันธ์ภายในครอบครัว จากการที่ต่างคนต่างก็มาช่วยประกอบ และผู้ใหญ่ก็จะมีเรื่องเล่าของโมเดลที่ประกอบให้เด็กได้ฟัง ทำให้ทุกคนได้มีโอกาสคุยกัน

บาร์ไลน์ฐาน นายชลาธิป กล่าวต่อไปอีกว่า ในช่วงเริ่มต้นของการทำผลิตภัณฑ์ออกมาจำหน่าย กลุ่มลูกค้าเป้าหมายในลำดับแรกที่วางเอาไว้คือกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมายังประเทศไทย โดยสโลแกนของผลิตภัณฑ์ก็คือ “ความทรงจำจากอดีตสู่ปัจจุบัน” ยกตัวอย่างเช่น นักท่องเที่ยวมาเที่ยวที่พระที่นั่งวิมานเมฆ ก็จะกลับไปเพียงแค่ภาพถ่าย หรือหากจะทำเป็นโมเดลสำเร็จรูปเลยก็จะนำกลับไปลำบาก เราเลยทำให้ออกมาเป็นรูปทรงแบน สามารถพกพากลับประเทศได้อย่างสะดวกสบายเพื่อนำไปประกอบ โดยที่วิธีการประกอบจะถูกอธิบายเป็นรูปภาพ หรือคำง่ายๆ

อย่างไรก็ดี กลุ่มลูกค้าที่คาดไม่ถึงก็คือ กลุ่มเด็กนักเรียนจากโรงเรียนต่างๆ ซึ่งมาหาซื้อโมเดลเพื่อนำกลับไปทำรายงานค่อนข้างมาก ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งคือกลุ่มของผู้ที่เกษียณอายุจากการทำงาน เพราะได้รำลึกนึกย้อนไปถึงความหลังแห่งความทรงจำในอดีตที่เคยผ่านมา ที่สำคัญยังได้ประกอบโมเดลด้วยตนเอง ล่าสุดโมเดลไม้ภายใต้แบรนด์ “Art-Dee” ประกอบด้วย ชุดวิถีทาง วิถีไทย เช่น รถม้าลำปาง เกวียนไทยโบราณภาคกลาง และเหนือ และรถม้าทรงยุโรปสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้น, ชุด พระราชวังพระที่นั่ง เช่น พระที่นั่งวิมานเมฆ และพระราชวังบ้านปืน เป็นต้น, ชุดบ้านเรือนไทย 4 ภาค และชุดซุ้มสถาปัตยกรรม

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,344 วันที่ 1 - 3 มีนาคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว