เปิดประสบการณ์ 2 นักธุรกิจ หาจุดแข็งสร้างจุดต่างตลาดSMEs

17 มี.ค. 2561 | 15:09 น.
การเริ่มต้นทำธุรกิจไม่ใช่เรื่องยาก แต่สิ่งสำคัญที่ยากกว่าคือ จะดำเนินกลยุทธ์อย่างไรให้ธุรกิจสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง และอยู่ได้อย่างยั่งยืนด้วยปัจจัยดังกล่าวนี้กระทรวงพาณิชย์จึงมีการจัดงานสัมมนาขึ้นภายใต้หัวข้อ “อนาคตเศรษฐกิจไทย...ก้าวไกลด้วยนวัตกรรม” เพื่อเผยแพร่ความรู้ให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย โดยเชิญวิทยากรซึ่งเป็นเอสเอ็มอีที่ประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจมาร่วมถ่ายทอดประสบการณ์

วิลาสินี โฆษิตชัยวัฒน์ เจ้าของผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางจากข้าวภายใต้แบรนด์ “VOWDA” กล่าวถึงจุดเริ่มต้นว่า ในกลุ่มเครื่องสำอางที่ทำอยู่มาจากงานวิจัยของตนเองทั้งหมด โดยมีบริษัทโป๋วเหวี่ยนฯ ซึ่งเป็นบริษัทอีกบริษัทหนึ่งที่รับจ้างผลิตเครื่องสำอางให้กับแบรนด์อื่นไปทำตลาด (OEM) ส่วนตนเองก็เป็นนักวิจัย จบการศึกษาทางด้านวิศวกรรมเคมี และมีโอกาสได้ไปทำงานในโรงงานเครื่องสำอางประมาณ 4 ปี แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งก็ต้องการที่จะมีธุรกิจเป็นของตนเอง มีประสบ การณ์อยู่ในสายของการผลิต ต้องทำงานเกี่ยวกับการออกแบบเครื่องจักรเพื่อรองรับสูตรจากการวิจัยและพัฒนา (R&D) ทำให้มีความได้เปรียบในเรื่องของการผลิตในขั้นตอนสุดท้าย โดยเป็นส่วนสำคัญที่ได้นำมาต่อยอดในการทำธุรกิจ

[caption id="attachment_263598" align="aligncenter" width="503"] วิลาสินี โฆษิตชัยวัฒน์ วิลาสินี โฆษิตชัยวัฒน์[/caption]

ทั้งนี้ส่วนตัวเองก็มีความสนใจเรื่องการวิจัยพืชผลทางการเกษตร ดังนั้นจึงมองว่าจะทำอย่างไรให้งานวิจัยดังกล่าวเหล่านั้นออกมาสู่รูปแบบเชิงพาณิชย์ได้ โดยได้โอกาสจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติผ่านโครงการแปลงเทคโนโลยีเป็นทุน ซึ่งถือว่าเป็นก้าวสำคัญของธุรกิจเพราะผลิตภัณฑ์จะอยู่ได้ในตลาดจะต้องมีจุดแข็ง โดยเราได้รับความช่วยเหลือในเรื่องของการดำเนินการเรื่องการขอการรับรองผลิต ภัณฑ์ เพื่อเป็นการการันตีคุณภาพของผลิตภัณฑ์ เช่น ลิปสติกที่ทำมาจากข้าวทั้งหมด แม้กระทั่งสีซึ่งจะใช้วิธีการหมักข้าว ดังนั้นจึงต้องมีการทดสอบกับอาสาสมัครว่าเกิดอาการแพ้หรือไม่อย่างไร หากเป็นเอสเอ็มอีขนาดเล็กคงไม่สามารถส่งงานวิจัยเพื่อทดสอบค่าต่างๆเหล่านี้ เพื่อการันตีกับตลาดทั้งในและต่างประเทศได้ว่าสินค้ามีคุณภาพอย่างแท้จริง เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ข้อได้เปรียบอีกอย่างหนึ่งของแบรนด์ “VOWDA” คือการที่ได้ร่วมประกวดของมูลนิธิข้าวไทยและได้รางวัลที่ 3 ทำให้เอสเอ็มอีขนาดเล็กกลายเป็นที่รู้จักมากขึ้น โดยช่วยเติมเต็มสิ่งที่ขาดในเรื่องของการตลาดจากการที่สื่อมวลชนให้ความสนใจ ส่งผลให้มีการกระจายข่าวสารไปยังผู้บริโภค และเราก็เริ่มรู้แนวทางมากขึ้นในการต่อยอดผลิตภัณฑ์เป็นแป้งอัดแข็งจากข้าว โดยเลือกใช้พรีเซนเตอร์ใส่ชุดไทยแต่ให้แต่งหน้าแนวโมเดิร์น เพื่อแสดงให้เห็นว่านอกจากกลุ่มลูกค้าคนไทยแล้ว ชาวต่างชาติก็สามารถใช้ได้ ซึ่งถือเป็นจุดแข็ง หรือจุดเด่นในการทำตลาดที่ประสบความสำเร็จ

TP13-3344-3A “แบรนด์เรามีจุดแข็งอยู่ที่งานวิจัย ดังนั้น ทุกอย่างจึงต้องมีการจดสิทธิบัตร ทำให้เป็นเจ้าแรกในเอเชียที่นำวัตถุดิบจากธรรมชาติมาแปรรูปให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ในเชิงพาณิชย์ ซึ่งหลักเกณฑ์ในการเลือกวัตถุดิบของเราก็คือ ใกล้มือ และสามารถรองรับการผลิตของเราไปได้ตลอด ไม่ว่าจะเป็นข้าว หรือถั่ว เป็นต้น เพราะฉะนั้น ผู้ประกอบการที่จะเลือกวัตถุดิบจากธรรมชาติมาทำเป็นผลิตภัณฑ์จะต้องเลือกให้ดีว่าวัตถุดิบเหล่านั้นสามารถอยู่กับเราไปได้ตลอดหรือไม่”

++หาจุดแข็งสร้างความต่าง
นอกจากนี้ การทำตลาดจะต้องทำทั้งในรูปแบบออนไลน์ และออฟไลน์ เพราะการทำตลาดออฟไลน์จะเป็นช่องทางที่สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคว่าสินค้าของเราจับต้องได้ และเป็นการเพิ่มมูลค่า

“เคล็ดลับในการทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จของตนก็คือการคิดให้แตกต่างจากคนอื่น ซึ่งหมายถึงคิดในสิ่งที่คนอื่นไม่ทำ เราจะฉีกแนวออกมาเพื่อความเป็นอันดับ 1 ในตลาด ซึ่งต้องบอกว่าไม่ใช่การแข่งขันแต่เป็นการแข่งกับตัวเราเอง ส่วนกลยุทธ์ในการทำตลาดที่อยากแนะนำก็คือ จะต้องรู้ว่าจุดแข็งของเราคืออะไร และดึงจุดแข็งดังกล่าวมาโปรโมตให้ถูกช่องทาง เพราะสื่อในปัจจุบันมีหลากหลายช่องทาง ต้องจับจุดให้ได้ว่ากลุ่มลูกค้าของเราอยู่ที่ใด และที่สำคัญจะต้องใช้ช่องทางออนไลน์ให้เป็นประโยชน์มากที่สุด”

[caption id="attachment_263600" align="aligncenter" width="503"] วิริยา พรทวีวัฒน์ วิริยา พรทวีวัฒน์[/caption]

++แนะออกงานไทยเฟล็กซ์
วิริยา พรทวีวัฒน์ เจ้าของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารประเภทผักอัดเม็ดภายใต้แบรนด์ “BioVeggie” กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของธุรกิจมาจากความร่วมมือกับโครงการหลวง เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระสินค้าในภาคการเกษตรของโครงการที่มีปัญหาล้นตลาด โดยนำมาแปรรูปให้เป็นผลิตภัณฑ์ ดังนั้น วัตถุดิบจึงมาจากโครงการหลวง 100% ซึ่งมีพื้นฐานมาจากการที่เคยพัฒนาเครื่องจักรในการถนอมอาหารด้วยการอบแห้ง ซึ่งจะมีการใส่นวัตกรรมเข้าไปในกระบวนการผลิตมาก่อนหน้านี้ แต่เป็นการแปรรูปผลไม้ เช่น ลำไย เป็นต้น โดยวัตถุดิบทุกชนิดที่ถูกใส่เข้าไปในระบบการผลิตของเราจะมีสารอาหารใกล้เคียงของสดประมาณ 80-90% จากการนำไปวิเคราะห์ในห้องแล็บ เลยนำมาต่อยอดเป็นผักอัดเม็ด

ด้านการทำตลาดมีการเริ่มต้นจากงานแสดงสินค้า หรืองานแฟร์ภายในประเทศอย่างงานไทยเฟล็กซ์ ซึ่งระหว่างงานก็มีผู้ผลิต (Supplier) จากในประเทศให้ความสนใจ แต่เป้าหมายที่แท้จริงของเราคือตลาดต่างประเทศ โดยข้อแนะนำที่สำคัญในการออกงานก็คือตัวเจ้าของธุรกิจควรที่จะไปที่งานด้วยตนเองมากกว่าการจ้างพนักงานขาย เพราะจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าได้อย่างมาก นอกจากนี้ ยังแนะนำให้ผู้ประกอบการเข้าร่วมงานการจับคู่ธุรกิจ (Matching) โดยจะต้องพยายามปรับกระบวนยุทธ์ของบริษัท ไม่ว่าจะเป็นความพร้อมเรื่องภาษา รวมถึงความพร้อมในการนำเสนอผลิตภัณฑ์, ตัวผลิตภัณฑ์ และกฎระเบียบ หรือมาตรการต่างๆของแต่ละประเทศ

แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ “การไปออกงานไทยเฟล็กซ์แม้ว่าบางธุรกิจอาจจะมียอด ขายไม่คุ้มค่าต่อการลงทุนเข้าไปเช่าพื้นที่ แต่ต้องเรียกว่าเป็นการสร้างโอกาสมากกว่า เพราะเป็นเวทีที่เปิดประตูให้ชาวต่างชาติได้รู้จักผลิตภัณฑ์ของเรา ”

วิริยา บอกอีกว่า เราทำตลาดผ่านทั้งช่องทางออนไลน์ และออฟไลน์ โดยมีการปรับตัวทางด้านออนไลน์ด้วยการหาผู้เชี่ยวชาญมาช่วยในการปรับปรุงระบบให้เสถียรมากขึ้น จากเดิมที่ทำตลาดด้วยตนเอง เพราะตลาดออนไลน์ถือว่าเป็นตลาดที่น่าสนใจมากในยุคนี้

นอกจากนี้ เชื่อว่าหากทำสิ่งที่ดีให้กับผู้บริโภคแล้วแม้จะต้องใช้ระยะเวลา แต่สิ่งเหล่านั้นจะกลับคืนมาหาอย่างแน่นอน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,344 วันที่ 1 - 3 มีนาคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว