‘จีน-ญี่ปุ่น’ในอาเซียน

02 มี.ค. 2561 | 23:05 น.
TP10-3344-4C เป็นที่รู้กันดีว่า ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของเรานั้น กำลังเนื้อหอม เพราะเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญของนโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง หรือ One Belt One Road ของจีน ที่จะเชื่อมเส้นทางสายไหมทางทะเลและทางบกพาดผ่านภูมิภาคนี้

และในขณะเดียวกัน อาเซียนก็เป็นยุทธศาสตร์สำคัญของกลุ่มอินโด-แปซิฟิก ที่นำโดยสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และอินเดีย เพื่อสกัดกั้นนโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีน ถ้าท่านผู้อ่านลองหลับตานึกภาพ ก็จะยิ่งเห็นความสำคัญของภูมิภาคอาเซียนอย่างมาก ในฐานะที่เป็นจุด ศูนย์กลางของยุทธศาสตร์เอเชีย ที่มหาอำนาจทั้งฝั่งจีน และสหรัฐฯ กำลังพยายามแสดงจุดยืนอย่างเต็มที่

ดังนั้น การแข่งขันกันในการขยายอิทธิพลจึงแสดงออกมาในรูปของการสนับสนุนโครงการก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียนและอินเดียครับ ที่ทั้งฝั่งจีนและฝั่งญี่ปุ่น (รวมถึงสหรัฐฯ) พยายามที่จะขยายอิทธิพลลงมาในภูมิภาคนี้ เอาที่เราเห็นกันชัดๆ ก็คือโครงการก่อสร้างระบบรางทั้งหลายในภูมิภาคนี้ ที่แสดงให้เห็นถึงการแข่งขันกันอย่างดุเดือด

[caption id="attachment_263585" align="aligncenter" width="503"] ผู้นำอินเดีย-ญี่ปุ่นจับมือร่วมเดินหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงในอินเดีย ผู้นำอินเดีย-ญี่ปุ่นจับมือร่วมเดินหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงในอินเดีย[/caption]

แน่นอนว่า ในภาพรวมของการลงทุนนั้นต้องบอกว่า ญี่ปุ่นได้สร้างรากฐานของการลงทุนในภูมิภาคอาเซียนมาก่อนจีน โดยเฉพาะที่หลายประเทศอาเซียนเป็นซัพพลายเชน หรือห่วงโซ่การผลิตของญี่ปุ่นมานมนาน อย่างเช่น ไทย และอินโดนีเซีย ก็ถือว่าเป็นซัพพลายเชนในด้านการผลิตยานยนต์ของญี่ปุ่นที่สำคัญแห่งหนึ่งในโลกทีเดียว

วกกลับเข้ามาที่การก่อสร้างระบบรางครับ ในหลายประเทศอาเซียนขณะนี้ กำลังมีโปรเจ็กต์การก่อสร้างรถไฟฟ้าทั้งหลาย ซึ่งทั้งจีน และญี่ปุ่น ก็กระโดดเข้าไปมีส่วนร่วมกันอย่างดุเดือด

ในประเทศไทยนั้น แน่นอนว่า ไทยน่าจะเป็นหัวใจหลักของเส้นทางรถไฟความเร็วสูงของจีน ที่จะเป็นจุดเชื่อมต่อเส้นทางจากจีนตอนใต้ ลงสู่ภูมิภาคอาเซียน ซึ่งในประเทศไทยนั้น ระบบรางที่กำลังเตรียมการก่อสร้างถือเป็นสัญลักษณ์ที่จับต้องได้มากที่สุดของนโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีนที่ขยายอิทธิพลลงสู่อาเซียน

[caption id="attachment_263582" align="aligncenter" width="503"] การก่อสร้างอุโมงค์รถไฟความเร็วสูงในลาว โครงการนี้เป็นความร่วมมือจีน-ลาว การก่อสร้างอุโมงค์รถไฟความเร็วสูงในลาว โครงการนี้เป็นความร่วมมือจีน-ลาว[/caption]

แต่ในทางกลับกัน โครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงระหว่างไทย และญี่ปุ่น ในเส้นทางกรุงเทพฯ- เชียงใหม่นั้นกลับไม่ราบรื่นนักตามที่เป็นข่าว ดังนั้นในประเทศไทยจึงถือว่า จีนมีภาษีที่ดีกว่า

และที่มาเลเซีย ถือว่าประเทศนี้เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่สำคัญของจีน โดยเฉพาะโครงการใหญ่ East Coast Rail Link ที่เป็นเส้นทางรถไฟความเร็วสูงเชื่อมระหว่างเมืองทัมพัต ในรัฐกลันตัน ซึ่งอยู่ชายฝั่งด้านตะวันออก เชื่อมไปยังพอร์ต คลัง ในรัฐเซลังงอร์ ซึ่งเป็นท่าเรือขนาดใหญ่ โดยธนาคารเอ็กซิมแบงก์จีน ประกาศลั่นที่จะให้เงินกู้สูงถึง 1.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯครับ

มาดูที่ฝั่งญี่ปุ่นกันบ้าง ญี่ปุ่นเพิ่งจะผนึกข้อตกลงกับรัฐบาลกรุงมะนิลา ในโครงการก่อสร้างระบบรถไฟฟ้าเชื่อม 5 เมืองใหญ่ในพื้นที่ “เมโทร มะนิลา” ด้วยเงินกู้ดอกเบี้ยตํ่า 0.10% มูลค่า 7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ระยะ 40 ปี

และเมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว ญี่ปุ่น และอินเดีย ก็เพิ่งร่วมวางศิลาฤกษ์ในโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง เชื่อมระหว่างนครมุมไบ ศูนย์กลางทางการเงินสำคัญของอินเดีย กับ เมืองอาห์เมดาบัด เมืองอุตสาหกรรมสำคัญของประเทศด้วย โครงการนี้มีมูลค่าสูงถึง 1.7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

บาร์ไลน์ฐาน ญี่ปุ่นยังได้ประกาศชัด ที่จะต้องชนะประมูล ในโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อมระหว่างสิงคโปร์ และกรุงกัวลาลัม เปอร์ของมาเลเซียอีกด้วย

การแข่งขันกันระหว่างญี่ปุ่น และจีน น่าจะดุเดือดมากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่จีนพยายามที่จะขยายอิทธิพลผ่านนโยบาย One Belt One Road ส่วนญี่ปุ่น ก็พยายามที่จะรักษาสถานะนักลงทุนใหญ่ในภูมิภาคนี้เอาไว้ให้ได้ โดยการแข่งขันกันของ 2 มหาอำนาจนี้จะสะท้อนออกมาให้เห็นถึงการขยายอิทธิพลด้านเศรษฐกิจที่จะผ่านลงมาในอาเซียนในรูปของเงินกู้ และความร่วมมือในการลงทุนโครงสร้างสาธารณูปโภค ในด้านต่างๆ โดยจีนก็มีธนาคารเอไอไอบี หรือธนาคารเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชียเป็นเครื่องมือสำคัญ ส่วนญี่ปุ่นก็มีธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย หรือเอดีบี ที่ใช้มานานแล้ว

จะมองว่าอาเซียนได้ประโยชน์ ก็ถือว่าได้ครับ แต่ก็ต้องเลือกบาลานซ์ให้ดี เพราะขณะนี้ก็ต้องยอมรับว่าสมาชิกอาเซียนเริ่มชัดเจนมากขึ้น ว่าประเทศไหนโปรจีน ประเทศไหนโปรญี่ปุ่นและสหรัฐฯ สุดท้ายความเป็นหนึ่งของอาเซียนเองที่จะสั่นคลอนครับ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,344 วันที่ 1 - 3 มีนาคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว