ธุรกิจแอลพีจีแข่งเดือด รายใหม่WP-มิตซูบิชิแห่นำเข้าชิงแชร์ตลาด

04 มี.ค. 2561 | 04:04 น.
ดับบลิวพี-มิตซูบิชิ เตรียมลงสนาม แข่งดุนำเข้าแอลพีจีภายในกลางปีนี้ เล็งฮุบส่วนแบ่งทางการตลาดค้าส่ง-ค้าปลีกในประเทศ ขณะที่ “สยามแก๊ส” ยังนำเข้าเบอร์ 1 ส่งแผนนำเข้าไตรมาส 1 ปีนี้เฉลี่ย 3.6 หมื่นตันต่อเดือน ขณะที่ ปตท. เฉลี่ย 1.4 หมื่นตันต่อเดือน

นายวิฑูรย์ กุลเจริญวิรัตน์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า หลังกระทรวงพลังงานเปิดเสรีนำเข้าก๊าซปิโตรเลียมเหลว (แอลพีจี) ส่งผลให้มีผู้ประกอบการรายใหม่ยื่นขออนุญาตนำเข้าแอลพีจีมากขึ้น โดยในปีนี้มีทางบริษัท ดับบลิวพี เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) ภายใต้เครื่องหมายการค้า “เวิลด์แก๊ส” และบริษัท มิตซูบิชิ (ประเทศไทย) จำกัด จากประเทศญี่ปุ่น แจ้งว่ามีแผนจะนำเข้าแอลพีจี แต่ยังไม่ได้แจ้งตัวเลขมายังกรมฯ คาดว่าน่าจะประมาณกลางปีนี้จะเห็นผู้เล่นรายใหม่นำเข้าแอลพีจี จากปัจจุบันมี 3 ราย ได้แก่ บริษัท สยามแก๊ส แอนด์ ปิโตรเคมีคัลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ เอสจีพี, บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) นำเข้าเพื่อขายในประเทศ ส่วนทางบริษัท ยูนิคแก๊สแอนด์ ปิโตรเคมิคัลส์ จำกัด (มหาชน) นำเข้าแอลพีจีเพื่อส่งออก

tp9-3344-a ทั้งนี้ การที่มีผู้ประกอบการรายใหม่เพิ่มเข้ามา เชื่อว่าจะส่งผลดีต่อราคาขายปลีกแอลพีจีในประเทศ เนื่องจากเกิดการแข่งขันเข้มข้นมากขึ้น เบื้องต้นทางดับบลิวพี เตรียมนำเข้าเพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าต่างๆ ส่วนมิตซูบิชิ เตรียมนำเข้าร่วมกับทาง ปตท. คนละครึ่ง ซึ่งขณะนี้คงอยู่ระหว่างเจรจากับลูกค้าเพื่อค้าส่งให้กับกลุ่มลูกค้าภาคอุตสาหกรรม ดังนั้นหากมีความชัดเจนคาดว่าจะเห็นผู้ประกอบการรายใหม่เข้าในตลาดแอลพีจีกลางปีนี้

สำหรับตัวเลขการนำเข้าแอลพีจี ล่าสุดทางสยามแก๊ส ขออนุญาตนำเข้าช่วงไตรมาส 1/2561 เฉลี่ย 3.67 หมื่นตันต่อเดือน และไตรมาส 2/2561 อยู่ที่ 4.4 หมื่นตันต่อเดือน ขณะที่ทาง ปตท. ขออนุญาตนำเข้าแอลพีจีไตรมาส 1/2561 เฉลี่ยอยู่ที่ 1.47 หมื่นตันต่อเดือน ส่วนไตรมาส 2/2561 ยังไม่ได้แจ้งเข้ามา และบริษัท ยูนิคแก๊ส ขออนุญาตนำเข้าเพื่อส่งออก ไตรมาส 1/2561 เฉลี่ยอยู่ที่ 4.8 พันตันต่อเดือน และไตรมาส 2/2561 เฉลี่ยอยู่ที่ 4.2 พันตันต่อเดือน

“ผู้ค้าแอลพีจีมาตรา 7 นำเข้าแอลพีจี ปีนี้น่าจะเห็นรายใหม่เพิ่มเข้ามาในระบบ โดยที่ผ่านมาทางดับบลิวพี และมิตซูบิชิ แจ้งว่าเตรียมนำเข้าแอลพีจี ซึ่งทางดับบลิวพี คงต้องดูสัญญาซื้อขายแอลพีจีกับคู่ค้าปัจจุบันก่อน เพราะหากไม่ซื้อกับทางคู่ค้าก็จะนำเข้าเอง อย่างไรก็ตามยิ่งมีผู้เล่นมากรายจะยิ่งส่งผลดีกับราคาแอลพีจีในประเทศ ประชาชนย่อมได้ประโยชน์” นายวิฑูรย์ กล่าว

แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ นายวิฑูรย์ กล่าวอีกว่า ภาพรวมการใช้นํ้ามันเชื้อเพลิงปี 2560 เติบโตขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2559 โดยกลุ่มนํ้ามันเบนซิน เพิ่มขึ้น 3.7% และดีเซลหมุนเร็ว (บี7) เพิ่มขึ้น 2.7% ขณะที่แอลพีจี เพิ่มขึ้น 3.4% และเอ็นจีวี ลดลง 12.1% โดยการใช้นํ้ามันกลุ่มเบนซินเฉลี่ย อยู่ที่ 30.1 ล้านลิตรต่อวัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนคิดเป็น 3.7% ส่วนการใช้นํ้ามัน ดีเซลหมุนเร็ว (บี7) เฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 62.2 ล้านลิตรต่อวัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนคิดเป็น 2.7% ถึงแม้ว่าราคาขายปลีกจะปรับตัวสูงขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2559 แต่ปริมาณการใช้ยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตามการเติบโตทางเศรษฐกิจและปริมาณรถยนต์ที่ใช้นํ้ามันดีเซลเป็นเชื้อเพลิงมีปริมาณเพิ่มขึ้น

ส่วนการใช้แอลพีจีเฉลี่ยต่อวันของปี 2560 อยู่ที่ 17.0 ล้านกิโลกรัมต่อวัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนคิดเป็น 3.4% ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นของการใช้ทุกภาคยกเว้นภาคขนส่ง ที่มีปริมาณการใช้เฉลี่ยอยู่ที่ 3.6 ล้านกิโลกรัมต่อวัน คิดเป็นอัตราลดลง 10% สำหรับการใช้ในภาคอื่นๆ มีอัตราการใช้เพิ่มขึ้น โดยภาคปิโตรเคมีอัตราการใช้เพิ่มขึ้นสูงที่สุดอยู่ที่ 5.7 ล้านกิโลกรัมต่อวัน คิดเป็นอัตราเพิ่มขึ้น 14.7% รองลงมาเป็นภาคอุตสาหกรรมมีปริมาณการใช้เฉลี่ยอยู่ที่ 1.8 ล้านกิโลกรัมต่อวัน คิดเป็นอัตราเพิ่มขึ้น 6.6% และภาคครัวเรือนเฉลี่ยอยู่ที่ 5.9 ล้านกิโลกรัมต่อวัน คิดเป็นอัตราเพิ่มขึ้น 2.1%

ขณะที่การใช้เอ็นจีวีของปี 2560 เฉลี่ยอยู่ที่ 6.8 ล้านกิโลกรัมต่อวัน ลดลงจากปีก่อน คิดเป็น 12.1% โดยการใช้เอ็นจีวีลดลงเป็นผลต่อเนื่องจาก ราคานํ้ามันเชื้อเพลิงปรับตัวลดลงตั้งแต่ต้นปี 2559

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,344 วันที่ 1 - 3 มีนาคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว