หยุดกรีดยางดันราคาพุ่ง พ่อค้าพล่านแข่งซื้อตุน-‘กฤษฎา’ ถก3ทูตดึงร่วมวง

04 มี.ค. 2561 | 09:08 น.
พ่อค้าวิ่งพล่าน ผวารัฐเอาจริงหยุดกรีด 2-3 ล้านไร่ เร่งซื้อตุนดันราคายางโงหัว “กฤษฎา” เตรียมถกทูตอินโดฯ- มาเลย์-เวียดนาม เสนอสลับหยุดกรีดยาง 3 เดือน หวังผลดันราคาตลาดโลกขยับ ฉุดในประเทศพุ่ง 70-80 บาท/กก. ลุ้น 2 มี.ค.เอาด้วยหรือไม่

จากแนวคิดของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่จะให้ชาวสวนหยุดกรีดยางพารา 2-3 ล้านไร่ (โดยรัฐจ่ายชดเชยเกษตรกร 1,500 บาท/ไร่) สลับกับอีก 3 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และเวียดนาม โดยไทยจะเริ่มก่อนเป็นประเทศแรกตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-กรกฎาคมนั้น

[caption id="attachment_174063" align="aligncenter" width="503"] วรเทพ วงศาสุทธิกุล วรเทพ วงศาสุทธิกุล[/caption]

นายวรเทพ วงศาสุทธิกุล ประธานและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยรับเบอร์ลาเท็คซ์ คอร์ปอร์เรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด(มหาชน)เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า แนวคิดหยุดกรีดยาง 2-3 ล้านไร่ จะมีผลกับผู้ค้ายางโดยตรงที่เกรงยางจะขาดตลาดและแย่งซื้อ เพื่อส่งมอบให้ลูกค้า หากสามารถทำได้จริงคาดจะมีผลทำให้ราคายางในประเทศขยับขึ้นได้ ส่วนมาตรการการจำกัดการส่งออกยางนั้น จะกระทบกับชาวสวน เนื่องจากผู้ค้ายางจะกดราคาชาวสวน และอ้างได้ว่าที่ไม่รับซื้อนํ้ายางจากชาวสวนก็เพราะไม่สามารถส่งออกได้

“การหยุดกรีดยางหากทำได้จริงโดยร่วมมือกับอีก 3 ประเทศจะมีผลต่อราคายางในตลาดโลกอย่างแน่นอน เนื่องจากแผนนี้กะทันหัน ไม่มีทางที่พ่อค้าจะเก็บตุนสต๊อกได้ทัน เฉพาะอย่างยิ่งช่วงนี้เป็นฤดูยางผลัดใบ ชาวสวนส่วนใหญ่หยุดกรีดกันแล้ว เหลือบางพื้นที่ แต่ก็มีน้อย”

ขณะที่ ดร.ปรีดี ลีลาเศรษฐวงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แกรนด์ รับเบอร์ จำกัด และนายชัยพจน์ เรืองวรุณวัฒนา นายกสมาคมนํ้ายางข้นไทย กล่าวว่า การหยุดกรีดยางเกรงรัฐบาลจะใช้งบประมาณเสียเปล่า มองว่าไม่ได้ผล เนื่องจากยังมีอินเดีย และกัมพูชา ที่สามารถส่งออกแทนได้ และในกรณีหากมีการลักลอบกรีดยางในช่วงกลางคืนจะมีมาตรการควบคุมอย่างไร

[caption id="attachment_262778" align="aligncenter" width="503"] นายกฤษฎา บุญราช นายกฤษฎา บุญราช[/caption]

นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ในวันที่ 2 มีนาคมนี้ จะประชุมหารือความ ร่วมมือด้านยางพารากับเอกอัคร ราชทูตประจำประเทศไทยหลายประเทศ ได้แก่ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม มีวาระสำคัญ อาทิ การติดตามความก้าวหน้าในการดำเนินมาตรการควบคุมการส่งออกยางพารา ครั้งที่ 5 ประจำเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2561

นอกจากนี้จะเสนอแนวคิดความร่วมมือ 4 ประเทศในการสลับหยุดกรีดยาง โดยไทยจะเริ่มก่อนเป็นประเทศแรก 3 เดือนในช่วงเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม 2561 หลังจากนั้นจะให้ประเทศที่เหลือสลับกันหยุด ว่าจะเห็นด้วยกับมาตรการดังกล่าวนี้หรือไม่ ซึ่งต้องรอลุ้นผลสรุปอีกครั้ง มุ่งหวังจะยกระดับราคายางไปที่เป้าหมาย 70-80 บาทต่อกก.

“จากที่ประกาศว่าไทยจะร่วมมือกับ 3 ประเทศผู้ผลิตยางรายใหญ่ เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ส่งผลให้ราคายางแผ่นดิบจากอยู่ที่ 44.10 บาทต่อกก. ยางแผ่นรมควันชั้น 3 46.50 บาทต่อกก. และราคาเอฟโอบียางแผ่นรมควันชั้น 3 52 บาทต่อกก. ณ ปัจจุบัน (26 ก.พ.61) ราคายางแผ่นดิบขึ้นไปที่ 45.99 บาท ปรับขึ้น 1.89 บาทต่อกก. ยางแผ่นรมควันชั้น 3 48.89 บาทต่อกก. ปรับขึ้น 2.89 บาทต่อกก. เช่นเดียวกับราคาเอฟโอบีอยู่ที่ 55.25 บาท ปรับขึ้น 3.25 บาทต่อกก.”

[caption id="attachment_157577" align="aligncenter" width="503"] อุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธานสภาเครือข่ายยางและสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย (สยยท.) อุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธานสภาเครือข่ายยางและสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย (สยยท.)[/caption]

ด้านนายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธานสภาเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย (สยยท.) เผยว่า ได้ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงสภาไตรภาคียางพารา ผ่านทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ สาระสำคัญอาทิ ให้ 4 ประเทศร่วมมือกันทำผลิตภัณฑ์ยางเพื่อให้วัตถุดิบยางหายไปจากตลาดควบคู่กับไทยต้องนำยางไปแลกสินค้าจำเป็นในรูปแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ดังตัวอย่างอินโดนีเซีย ที่ใช้ยางพาราแลกเครื่องบินรบจำนวน 11 ลำ เป็นต้น ส่วนการหยุดกรีดยาง 3 เดือนห่วงพื้นที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์จะทำอย่างไร และเงินชดเชยจะแบ่งคนกรีดยางอย่างไร

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,344 วันที่ 1 - 3 มีนาคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว