มะริด-ประจวบคีรีขันธ์ เมืองคู่ขนาน พันธมิตรเพื่อการพัฒนา

28 ก.พ. 2561 | 04:20 น.
TP5-3344-1A เขตตานินตายี (หรือ ตะนาวศรีในภาษาไทย) ประเทศเมียน มา ซึ่งประกอบไปด้วย 3 เมืองหลักได้แก่ เกาะเตว์า (เกาะสอง, Khawthaung, ซึ่ง อยู่ตรงข้ามระนอง) เมย์ก (มะริด, Myeik, ซึ่งอยู่ตรงข้ามประจวบ คีรีขันธ์) และ ทาเวย (ทวาย, Dawei, ตรงข้ามกาญจนบุรี) ถือเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่มีความน่าสนใจในหลากมิติ ผมและคณะวิจัยจากหลากหลายสาขาวิชาซึ่งได้รับเงินทุนสนับสนุนจากศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มีโอกาสเดินทางไปสำรวจเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจที่จะเชื่อมทั้ง 6 จังหวัดนี้เข้าด้วยกัน เพราะนี่คืออีกหนึ่งศักยภาพหลักของไทยและอาเซียนในการเป็นจุดศูนย์กลางที่เชื่อมโยงยุทธศาสตร์ “อินโดฯ-แปซิฟิก” ที่ประเทศมหาอำนาจทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น จีน ญี่ปุ่น เกาหลี สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และอินเดีย กำลังให้ความสนใจในการเชื่อมโยงเส้นทางการค้า และห่วงโซ่อุปทานใน 2 มหาสมุทร นั่นคือ มหาสมุทรอินเดีย และมหาสมุทรแปซิฟิก หรือถ้าจะให้ขีดวงจำกัดเขตกว่านั้น ก็คือ อ่าวเบงกอลกับทะเลจีนใต้ และทะเลอันดามันกับอ่าวไทย

มะริดคือจุดยุทธศาสตร์สำคัญทางการค้าในการเชื่อม 2 มหาสมุทรนี้มาตั้งแต่สมัยโบราณ และสำคัญเรื่อยมาจนกระทั่งถึงทศวรรษ 1960 ที่เมียนมาปิดประเทศ แต่อย่างไรก็ตามเมื่อเมียนมากลับเข้าสู่เวทีการค้าโลกอีกครั้งในปี 2010 มะริดก็กลายเป็นอีกหนึ่งยุทธศาสตร์ที่ทุกคนพูดถึง

ตัวเมืองมะริดอยู่ห่างจาก จุดผ่อนปรนด่านสิงขร ไปทางตะวันตกประมาณ 190 กิโลเมตร และด่านสิงขรเองก็ห่างจากอำเภอเมืองจังหวัดประจวบคีรีขันธ์เพียง 20 กิโลเมตรเท่านั้น และทั้ง 2 จังหวัดนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างความร่วมมือกันให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น เพราะทั้ง 2 เมืองต่างก็จำเป็นที่จะต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน

TP5-3344-A มะริดและตะนาวศรีคือแหล่งวัตถุดิบที่มีความสำคัญทั้ง ปาล์มนํ้ามัน ยางพารา สินค้าเกษตร และที่สำคัญที่สุดเห็นจะเป็นผลิตภัณฑ์ประมง ในขณะที่มะริดก็หวังพึ่งประจวบ ในฐานะเป็นเมืองหน้าด่านในการส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภค เครื่องจักร วัสดุก่อสร้าง เมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย เครื่องจักรและเคมีสำหรับการ เกษตร รวมทั้งยังหวังพึ่งประจวบเพื่อเป็นจุดนำเข้าสินค้าที่ตนผลิตได้เพื่อแปรรูปในขั้นตอนต่อไปของห่วงโซ่อุปทาน

ไทยยังหวังพึ่งมะริดในฐานะแหล่งวัตถุดิบ แหล่งแรงงาน แหล่งท่องเที่ยว รวมทั้งยังเป็นพื้นที่ที่นักลงทุนไทยจำนวนมากให้ความสนใจที่จะเข้าไปลงทุน

แต่ที่น่าสนใจมากไปกว่านั้น นั่นคือ เมื่อจังหวัดประจวบ คีรีขันธ์เกิดการพัฒนาการทางเศรษฐกิจและขยายตัวไปมากกว่านี้ ปัญหาใหญ่ที่จะตามมาคือ ปัญหาการขาดแคลนแหล่งนํ้าที่จะใช้ทั้งเพื่อการเกษตร การผลิตในอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว และการบริโภคของคนในพื้นที่ ทั้งนี้เนื่องจาก แม้ประจวบจะเป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่มีฝนตกชุก หากแต่นํ้าที่ไหลลงมาจากเทือกเขาตะนาวศรีที่สูงชัน จะไหลลงทะเลไปอย่างรวดเร็ว เพราะพื้นที่เชิงเขาของจังหวัดลาดเทลงอย่างมาก และมีพื้นที่ที่จะให้กักเก็บนํ้าแคบมาก ก่อนที่นํ้าทั้งหมดจะไหลลงทะเล อย่าลืมนะครับส่วนที่แคบที่สุดของประเทศไทยอยู่ ที่จังหวัดนี้ และมีระยะทางเพียง 11 กิโลเมตรเท่านั้น ในอนาคตประจวบจะขาดแคลนนํ้า ถ้าไม่เริ่มต้นสร้างพันธมิตรกับตะนาวศรี

เพราะเมื่อข้ามเทือกเขาตะนาวศรีมายังมีพื้นที่ราบอีกเกือบ 200 กิโลเมตรจนถึงเมืองมะริด และในพื้นที่ราบนี้ยังมีแม่นํ้าสายใหญ่ที่แตกแขนงออกไปมากมาย นั่นคือ แม่นํ้าตะนาวศรีที่มีปริมาณนํ้ามาก และมีปาก นํ้าขนาดกว้างมากกว่า 2 กิโล เมตร และนี่คือแหล่งนํ้าดิบที่มีปริมาณมหาศาลอยู่ใกล้จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ของเรามากที่สุด

แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ ปัจจุบันถนนลาดยางจากมะริดถึงด่านสิงขร เหลืออีกเพียงประมาณ 40 กิโลเมตรก็จะสร้างเสร็จ โดยคาดว่าจะ แล้วเสร็จภายในปีนี้ เมื่อถนนที่มีคุณภาพดีขึ้นเชื่อมถึงกันได้ กฎระเบียบและผู้คุมกฎระเบียบคือประเด็นต่อไปที่จะต้องเชื่อมถึงกัน แต่ปัจจุบัน เมื่อถามฝั่งไทยว่าทำไม ด่านสิงขร จึงยังไม่เป็นจุดผ่านแดนถาวรเสียที ทางการไทยจะตอบว่าทางเมียนมาไม่พร้อม แต่เมื่อถาม ทางฝั่งเมียนมา เขากลับบอกว่าฝ่ายไทยยังไม่พร้อม ฝ่ายเขาเป็น จุดผ่านแดนถาวรมาตั้งนานแล้ว นี่คือตัวอย่างของคน 2 คนที่อยู่ห่างกันเพียงไม่กี่ร้อยเมตร และต้องหวังพึ่งซึ่งกันและกันแต่อาจจะยังไม่สามารถสื่อสารเชื่อมโยงถึงกันได้

ดังนั้นการเดินหน้าสร้างพันธมิตรของการพัฒนาร่วมกันของ 2 ฟากเทือกตะนาวศรี 2 ฝั่งของมหาสมุทร เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนของทั้ง 2 ประเทศจึงเป็นความจำเป็นอย่างยิ่ง

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,344 วันที่ 1 - 3 มีนาคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว