พัฒนาองค์ความรู้ใหม่ๆ เติมเต็มประสิทธิภาพ งานวิศวกรรม

02 มี.ค. 2561 | 23:25 น.
สภาวิศวกร ถือเป็นองค์กรที่มีบทบาทอย่างมากในหลายๆเรื่องที่เกี่ยวกับอาคาร ไม่ว่าจะเป็นแผ่นดินไหว รถตกตึกจากลานจอดรถ และอื่นๆ เพราะท้ายสุดแล้ว ก็ต้องมาดูกันว่าวิศวกรออกแบบอาคารมาอย่างไร การออกแบบนั้นเป็นสาเหตุให้เกิดปัญหาได้หรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้ “ศ.ดร.อมร พิมานมาศ” เลขาธิการสภาวิศวกร สมัยที่ 6 คือผู้ถูกเลือกให้ออกมาตอบคำถามหลายๆ ครั้ง ในฐานะตัวแทนสภาวิศวกรผู้กำกับดูแลวิศวกร

[caption id="attachment_263323" align="aligncenter" width="335"] ศ.ดร.อมร พิมานมาศ ศ.ดร.อมร พิมานมาศ[/caption]

“อมร” จบปริญญาตรีในสาขาวิศวกรรมโยธา จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปริญญาโทและเอก Civil Engineering, University of Tokyo, Japan เขามีประสบการณ์เป็นอาจารย์ ที่สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยเป็นกรรมการอำนวยการ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย 2 สมัย และยังเป็นกรรมการบริหาร คณะกรรมการบริหารการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการราคากลางและขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการและปีนี้ถือเป็นปีสุดท้ายของการนั่งอยู่ในตำแหน่งเลขาธิการสภาวิศวกร

การเข้ามานั่งทำหน้าที่ผู้บริหารในองค์กรเล็กๆ อย่างสภาวิศวกร แต่เป็นองค์กรเล็กที่มีพลังแบบ Powerfull เพราะทำหน้าที่ออกใบอนุญาตได้ทุกวิศวกรรม ออกใบรับรองได้ทุกอย่างที่เกี่ยวกับวิศวกรรม ทั้งรับรองบุคคล รับรองบริษัท รับรองมหาวิทยาลัยว่าจัดหลักสูตรได้มาตรฐานหรือไม่ รับรองมาตรฐานการประกอบวิชาชีพ และขณะเดียวกัน สภาวิศวกร ยังเป็นผู้ทำหน้าที่ออกใบอนุญาตให้กับวิศวกรต่างชาติ ที่เข้ามาทำงานในไทย อย่างวิศวกรจีนที่เข้ามาทำโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน 300 คน

การเป็นองค์กรที่มีพาวเวอร์มากๆ ในการกำกับดูแลหลายๆ เรื่องเช่นนี้ จะทำอย่างไรให้องค์กรมีความโปร่งใส เป็นที่ยอมรับทั้งในประเทศและระดับสากล ตามวิสัยทัศน์ของสภาวิศวกร เรื่องนี้“อมร” บอกว่า สภาฯ มีหลายฝ่ายที่ช่วยกันบริหารจัดการ มีคณะกรรมการสภาวิศวกร ทำหน้าที่กำกับนโยบายและบริหาร ซึ่งเป็นรูปแบบตามระบบของสภาวิชาชีพ และคนที่เข้ามาจะผ่านการเลือกตั้งจากสมาชิกที่ถือใบอนุญาต ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิก 2.6 แสนคน ที่ยังไม่ขาดอายุ 1.6 แสนคน รวมทั้งต้องทำหน้าที่ส่งเสริมพัฒนาวิศวกรให้มีประสิทธิภาพ

[caption id="attachment_263321" align="aligncenter" width="335"] ศ.ดร.อมร พิมานมาศ เลขาธิการสภาวิศวกร ศ.ดร.อมร พิมานมาศ เลขาธิการสภาวิศวกร[/caption]

“ส่งเสริมคือ การพัฒนาคนให้มีคุณภาพ และมีประสิทธิภาพการส่งเสริมเป็นหน้าที่ที่เราจะต้องพัฒนาคน ให้มีประสิทธิภาพและคุณภาพ เราเป็นองค์กรที่มีเพาเวอร์เยอะมาก มันเป็นเรื่องสำคัญมากที่ผมจะรับรองว่าใครมีความรู้หรือไม่มีความรู้ เขาทำงานได้หรือไม่ได้ วิชาชีพนี้เป็นวิชาชีพที่ต้องใช้ความรู้ และลงมือทำต้องมีประสบการณ์ และต้องมีจรรยาบรรณ ผิดก็ต้องมีการลงโทษ”

ในบทบาทของการเป็นผู้ส่งเสริม เรื่องนี้ “อมร” บอกว่ากำลังผลักดันหลายๆ เรื่อง เพื่อพัฒนาวิศวกรไทยให้รองรับกับมาตรฐานความต้องการของตลาดแรงงาน อาทิ การต่ออายุใบอนุญาต ซึ่งปัจจุบันสามารถต่อใบอนุญาตได้เลย แต่ในอนาคตอันใกล้นี้ สภาวิศวกรกำลังปรับปรุงให้ผู้ขอต่อใบอนุญาตต้องเข้ามาผ่านการอบรมเสียก่อน เพื่ออัพเดตความรู้ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง

และอีกส่วนที่กำลังเร่งผลักดัน คือ การเปิดให้มีการสอบขอใบอนุญาตระหว่างปีการศึกษาที่ 2 และ 4 เพื่อเพิ่มปริมาณคนได้รับใบอนุญาตแบบอัตโนมัติในทันที และยังมีการพัฒนาหลักสูตรแผน ซึ่งเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้ฝึกงานจริง ได้อาจารย์ผู้สอนที่มีประสบการณ์จริง เข้ามาสอน ทำให้เด็กจบใหม่มีทักษะและศักยภาพตรงตามที่บริษัทเอกชนต้องการ
ในฐานะที่เป็นทั้งเลขาธิการสภาฯ และเป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เขาพบว่า หนึ่งในปัญหาใหญ่การพัฒนาวิศวกรไทยคือ อาจารย์ผู้สอน ที่ไม่มีประสบการณ์จริง และอาจารย์บางคนไม่อัพเดตความรู้ใหม่ๆ ในขณะที่โลกของเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา อีกจุดหนึ่งคือ ห้องแล็ปที่ล้าสมัย ไม่กระตุ้นให้เด็กเกิดการอยากเรียนรู้

บาร์ไลน์ฐาน “อมร” บอกว่า สภาฯ มีเป้าหมายในการสร้างคนที่มีความเชี่ยวชาญด้านต่างๆ พร้อมทั้งจัดทำเป็นฐานข้อมูล (Data Base) ใครมีความรู้ด้านไหนมีความเชี่ยวชาญด้านไหน บรรจุไว้ในระบบให้หมด และอีกสิ่งหนึ่งที่สภาฯมีหน้าที่ต้องเร่งดำเนินการคือ การแนะนำวิทยาการใหม่ๆ ที่สร้างความสะดวกเสริมศักยภาพวิศวกรไทย

การที่เลขาธิการสภาวิศวกรคนนี้ นั่งทำหน้าที่ในสภาวิศวกรหลายสมัยและยังได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่เป็นบอร์ดในองค์กรอื่นๆ ไปพร้อมๆ กับการเป็นอาจาร์ย์ผู้ให้ความรู้กับเด็กๆ ทำให้เขาต้องพยายามเติมเต็มความรู้ใหม่ๆด้านวิศวกรรมอยู่ตลอดเวลา เพราะผู้ที่ทำงานด้านนี้ ต้องรู้จริงและเข้าใจ จึงจะสามารถถ่ายทอดความรู้ที่มีให้กับคนอื่นได้อย่างถูกต้อง
นอกจากการเรียนรู้แล้ว “อมร” ยังยึดแนวทางในการทำงาน ด้วยหลักคิดที่ว่า...”อย่าพยายามมองว่าตัวเองเก่ง ไม่เช่นนั้น เราจะไม่ฟังใคร ถ้ามัวแต่คิดเช่นนั้น เราจะไม่มีโอกาสได้ก้าวข้าม ไปสู่ทางเดินใหม่ๆ ทางที่มีโอกาสใหม่ๆมีเพื่อนฝูงมีเพื่อนร่วมงานใหม่ๆ เข้ามาทำงานร่วมกับเราโดยการทำงานทุกอย่างต้องอาศัยการร่วมมือร่วมใจจากทีมงาน จึงจะทำให้งานสัมฤทธิ์ผลที่ดี”

เรื่อง : พัฐกานต์ เชียงน้อย
ภาพ : ประเสริฐ ขวัญมา
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,344 วันที่ 1 - 3 มีนาคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว