แห่หนีตลาดบอนด์สหรัฐฯ ซบตลาดเกิดใหม่ เหตุดอกเบี้ยยังขาลง

02 มี.ค. 2561 | 02:49 น.
จับตาบอนด์ยีลด์ทะลุ 3% กดดันหุ้นผันผวน แนะจับจังหวะหุ้นย่อตัวเก็บหุ้นเข้าพอร์ตเพิ่ม กองทุนย้ายจากตลาดพันธบัตรไปลงทุนหุ้นมากขึ้น แนะตลาดเกิดใหม่ยังให้ผลตอบแทนที่ดี

โกลด์แมนซากกรุ๊ปได้ออกมาเตือนว่า หากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯอายุ 10 ปีเพิ่มขึ้นแตะระดับ 4.5% ในปีนี้ มูลค่าสินทรัพย์ตามราคาตลาดหรือมาร์เก็ตแค็บของตลาดหุ้นสหรัฐฯ อาจลดลง 20-25% ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อภาวะการลงทุนในตลาดหุ้นทั่วโลก จึงเป็นปัจจัยที่นักลงทุนจะต้องให้ความสำคัญและติดตามอย่างใกล้ชิด

[caption id="attachment_36415" align="aligncenter" width="349"] วิน พรหมแพทย์ ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล จำกัด วิน พรหมแพทย์
ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน
บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล จำกัด[/caption]

นายวิน พรหมแพทย์ ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ซีไอเอ็มบีพรินซิเพิลฯเปิดเผยว่า ขณะนี้กองทุนตราสารหนี้ที่ไปลงทุนในพันธบัตรสหรัฐฯเริ่มขาดทุนแล้ว เพราะช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา อัตราดอกเบี้ยพันธบัตร 10 ปีของสหรัฐฯเพิ่มขึ้น 0.5% ดังนั้นเมื่อบันทึกเป็นราคาตลาดก็จะติดลบ ซึ่งกองทุนตราสารหนี้จะลงทุนพันธบัตรเฉลี่ย 6-7 ปี หากดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 1% จะขาดทุนทันที 6-7% จึงแนะนำให้หลีกเลี่ยงการลงทุนในตลาดที่พัฒนาแล้วหันไปลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลประเทศเกิดใหม่แทน โดยเฉพาะในประเทศ อาร์เจนตินา บราซิล อินเดีย และอินโดนีเซีย

ทั้งนี้ 4 ประเทศดังกล่าว เพิ่งผ่านการปฏิรูปประเทศมา ทำให้เศรษฐกิจมีเสถียรภาพ เงินเฟ้อลดลง และอัตราดอกเบี้ยจะอยู่ในขาลง โดยปัจจุบันดอกเบี้ยสูงที่ 6-8%แต่ถ้าดอกเบี้ยลง กำไรก็จะเพิ่มขึ้น ไม่เหมือนกับสหรัฐฯ ที่อัตราดอกเบี้ย2-3% และอยู่ในขาขึ้นขณะเดียวกันประเทศที่เศรษฐกิจดี อัตราแลกเปลี่ยนจะแข็งค่าด้วย จะทำให้ได้กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนอีกทางด้วย

MP19-3344-A “ปีที่ผ่านมาเราเพิ่งออกกองทุนเปิดซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล โกลบอล โทเทิล รีเทิร์น เพื่อตอบโจทย์ดอกเบี้ยสหรัฐฯขาขึ้น เพราะที่ผ่านมายังไม่เคยมีการพูดถึงว่าอัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นจากค่าจ้างแต่เทมเพิลตัน ซึ่งเป็นกองทุนที่บริหารให้เราได้ประมาณการล่วงหน้าและเห็นชัดในตอนนี้ว่า เมื่ออัตราว่างงานตํ่า ค่าจ้างจะปรับขึ้น จึงทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ซึ่งหากลงทุนในพันธบัตรปกติจะขาดทุน จึงเลือกลงทุนในตราสารหนี้ที่มีอายุติดลบ 0.5-1 ปี ขณะเดียวกันกองทุนเทมเพิลตันเองก็ออกไปลงทุนในตลาดเกิดใหม่ด้วย” นายวินกล่าว

นายวนา พูลผล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.ยูโอบี (ประเทศไทย)ฯ กล่าวว่า บริษัทมีมุมมองบวกต่อภาพรวมเศรษฐกิจโลก แต่ยังคงมีปัจจัยสำคัญอื่นๆ ที่ต้องติดตาม เช่น นโยบายการเงินของธนาคารกลางประเทศต่างๆ อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรสหรัฐฯ อัตราเงินเฟ้อ เป็นต้น จากภาวะตลาดดังกล่าว บลจ.ยูโอบีฯ ยังคงให้นํ้าหนักการลงทุนไปยังตลาดหุ้น และแนะนำให้กระจายการลงทุนไปในสินทรัพย์ทั่วโลกโดยเฉพาะตราสารทุนและสามารถเพิ่มนํ้าหนักการลงทุนในกลุ่มประเทศเกิดใหม่

ด้านนายคมศร ประกอบผล หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ กล่าวว่า อัตราผลตอบแทนตราสารหนี้(Bond Yield) อายุ10ปีของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยสัปดาห์ที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นมาอยู่เหนือระดับ 2.9% สูงสุดในรอบ4 ปี ตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจและเงินเฟ้อที่ฟื้นตัวขึ้น ซึ่งทิสโก้มองว่า Bond Yield จะขึ้นไปทดสอบที่ระดับ 3%ส่งผลให้ช่วงนี้ตลาดหุ้นทั่วโลกจะผันผวน และหาก Bond Yield เพิ่มขึ้นเกินกว่า3%นักลงทุนควรพิจารณาขายหุ้นออกมาเพื่อดูสถานการณ์ก่อน แต่กรณีที่ไม่ทะลุระดับดังกล่าว ตลาดหุ้นน่าจะยืนและเริ่มฟื้นตัวขึ้นได้

“ตลาดที่ปรับฐาน จึงถือเป็นโอกาสในการลงทุน โดยเน้นในหุ้น3กลุ่มหลัก ที่จะได้ผล กระทบน้อย หรือได้ประโยชน์จากการเพิ่มขึ้นของ Bond Yield คือ หุ้นกลุ่มการเงินของสหรัฐฯ จะได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยขาขึ้นตลาดหุ้นญี่ปุ่น ซึ่งยังซื้อขายที่ P/E ตํ่ากว่าค่าเฉลี่ยระยะยาว และตลาดหุ้นเกิดใหม่ เช่น จีนและอินเดีย มีแนวโน้มกำไรเติบโตสูงในระยะยาว ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบจากการลดลงของค่า P/E ได้”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,344 วันที่ 1 - 3 มีนาคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว