เปิดแผน ‘ไอโคร่า’ พี่เลี้ยง ICO ระดมทุน 1 พันล้านดอลลาร์

27 ก.พ. 2561 | 06:14 น.
ร้อนแรงกว่าดัชนีตลาดหุ้นในช่วงนี้ คงหนีไม่พ้นสกุลเงินดิจิตอล หรือ คริปโตเคอร์เรนซี โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังบริษัท เจ เวนเจอร์สฯ ในเครือบริษัท เจมาร์ท ออก “เจฟิน คอยน์” เงินดิจิตอลตัวแรกของไทยขายให้กับนักลงทุนรายย่อย ดูเหมือนว่า คลิปโตเคอร์เรนซี่ จะถูกหยิบยกมาพูดถึงในอีกหลายแง่มุม

“นางสาวการดี เลียวไพโรจน์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้ง บริษัท ไอโคร่า จำกัด ที่นำร่องด้วยการเป็นที่ปรึกษาในการระดมทุนด้วยสกุลเงินดิจิตอล หรือไอซีโอ (ICO; Initial Coin Offering)ให้ “เจมาร์ท” มาบอกเล่าถึงทิศทางไอซีโอกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สิ่งที่ทำให้ไอซีโอได้รับความสนใจมากในช่วง1 ปีที่ผ่านมา เป็นเพราะมีการใช้คริปโตเคอร์เรนซีที่แพร่หลายมากขึ้น ในลักษณะเป็นการระดมทุนจากมวลชนหรือ Crowdfunding ที่สามารถระดมทุนได้ทั่วโลก ไม่จำกัดพื้นที่ ตอบสนองกับวิถีของธุรกิจและถือเป็นการสร้างการลงทุนจากต่างประเทศในรูปแบบใหม่ โดยไม่ต้องผ่านคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ)

[caption id="attachment_262907" align="aligncenter" width="335"] การดี เลียวไพโรจน์ การดี เลียวไพโรจน์[/caption]

บริษัทในฐานะที่ปรึกษาให้กับธุรกิจที่ต้องการระดมทุนไอซีโอจัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2560 เพราะมองเห็นโอกาสที่จะช่วยให้สตาร์ต อัพและเอสเอ็มอี เข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยไม่เสียความเป็นเจ้าของในธุรกิจ โดยปัจจุบันมีลูกค้าในพอร์ตประมาณ 20 ราย ทั้งต่างประเทศและในประเทศ ถือเป็นผู้นำที่เริ่มในตลาดนี้เพราะธุรกิจที่ปรึกษาในลักษณะเดียวกันยังมีน้อย ส่วนใหญ่จะทำโดยบุคคลที่มีประสบการณ์ และให้คำปรึกษาโดยตรงเป็นรายบุคคลมากกว่า

ส่วนใหญ่บริษัทที่ระดมทุนไอซีโอ มีเป้าหมายต้องการสร้างระบบแพลตฟอร์มสร้างตลาดกลุ่มใหม่ ซึ่งไอโคร่าวางเป้าหมายเป็นที่ปรึกษาระดมทุนไอซีโอปีนี้ในมูลค่ารวมประมาณ 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรืออย่างตํ่ารายละ 10-80 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯขึ้นไป เพราะหากไซซ์เล็กกว่านี้จะไม่คุ้มค่าใช้จ่าย ซึ่งหลังจากที่ “เจมาร์ท” เปิดพรีเซล “Jfin Coin” วงเงิน 660 ล้านบาท ก็หมดเกลี้ยงภายใน 3 วัน และภายในเดือนมีนาคมที่อยู่ในกระบวนมี 2 รายคือ

บริษัท โอจิบุฯ (Oojibo) ฟินเทคด้านการโอนออนไลน์ มีฐานในสิงคโปร์ มาเลเซีย และไทยในชื่อ “Oojibo Thailand” จะออกไอซีโอราว 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อช่วยลดต้นทุนค่าธรรมเนียมในการโอนเงินให้กับผู้ใช้บริการ โดย Oojibo จะใช้ฐานในประเทศไทยเชื่อมการโอนเงินยังกลุ่มประเทศ CLMV และอาเซียน ปัจจุบันเปิดดำเนินการแล้วที่เมียนมา

แบนเนอร์รายการฐานยานยนต์ บริษัท Kalm มีฐานธุรกิจในสิงคโปร์ และเป็นเจ้าของร้านขายของขวัญโฮมมาร์ทที่มีชื่อเสียงในอดีตและได้ต่อยอดธุรกิจยุคที่ 2 พัฒนาธุรกิจรูปแบบใหม่สู่การขายสินค้าปลีกผ่านตู้อัตโนมัติที่เป็น “VENDING MACHINE” โดยนำเทคโนโลยีแบบ “IoT” มาปรับใช้ มีแผนจะออกไอซีโอ 60-80 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป้าหมายเพื่อขยายสินค้า VENDING MACHINE สู่ตลาดในอาเซียน อาทิ สิงคโปร์ มาเลเซียและประเทศไทย

“จะเห็นว่า ลูกค้าที่เราให้คำปรึกษาเป็นบริษัทที่มี business plan และ business model ชัดเจน สามารถเติบโตได้ดี ซึ่งเราจะเริ่มตั้งแต่เข้าไปตรวจสอบ (Duediligence) เพื่อกลั่นกรองคัดธุรกิจที่ดีออกไอซีโอ โดยคิดค่าธรรมเนียมเป็นเปอร์เซ็นต์ของวงเงินที่ระดมทุนได้”

ส่วนการที่คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลัก ทรัพย์ (ก.ล.ต.) เตรียมจะออกเกณฑ์กำกับในเร็วๆนี้ นางสาวการดีบอกว่า คริปโตเคอร์เรนซีและไอซีโอถือเป็นเรื่องใหม่ จึงเห็นด้วยที่ทางการจะเข้ามากำกับ และเป็นเรื่องที่ต้องศึกษาร่วมกัน เพื่อให้การระดมทุนประเภทนี้เติบโตต่อไปได้ในอนาคต แต่การกำกับที่ดี น่าจะมาจากกลไกของตลาด ที่จะทำให้บริษัทที่ปลอมเข้ามาถูกกำจัดไปเอง แต่ระยะเริ่มต้น จำเป็นต้องมีหน่วยงานกำกับเข้ามาประคับประคอง เพื่อป้องกันความเสี่ยงในลักษณะฉ้อโกงหรือหลอกลวง

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,343 วันที่ 25 - 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว