ตลาดรถบรรทุกฟื้น มาตรการภาษีหมดฤทธิ์-วอลโว่ส่งยูดีรุ่นใหม่

01 มี.ค. 2561 | 03:01 น.
ยอดขายรถบรรทุกปี 2561 ส่งสัญญาณฟื้นตัว “วอลโว่ กรุ๊ป”เล็งส่งรถใหม่แบรนด์ยูดี และชูเทคโนโลยีสร้างความคุ้มค่า พร้อมศึกษารถบรรทุก พลังไฟฟ้า ขณะที่เจ้าตลาด “อีซูซุ” ชู คิง ออฟ ทรัคส์ ฟีดแบ็กดี ดันยอดขายพุ่ง

ตลาดรถบรรทุกในปี 2560 ปิดตัวเลขยอดจดทะเบียนที่ 23,600 คัน ลดลงเมื่อเทียบกับปี 2559 ที่ขายได้ 25,178 คัน เมื่อแบ่งยอดขายออกมาจะพบว่ารถบรรทุกขนาดใหญ่ลดลงประมาณ 5.1% จาก 17,172 คันในปี 2559 มาเป็น 16,293 คันเมื่อปีที่แล้ว ในขณะที่รถบรรทุกขนาดกลางลดลงมากถึง 8.7% จาก 8,006 คันในปี 2559 มาเป็น 7,307 คัน เมื่อปีที่แล้ว

ปัจจัยที่มีผลต่อยอดจดทะเบียนที่ลดลง เนื่องจากปี 2559 มีมาตรการลดหย่อนภาษี 2 เท่าสำหรับลูกค้าที่ซื้อรถบรรทุก ส่งผลให้มีคำสั่งซื้อก่อนหน้านั้น และแม้ว่าในปี 2560 มาตรการด้านภาษีจะยังคงลดลดหย่อน 1.5 เท่า แต่ก็ไม่สามารถที่จะทำตัวเลขจดทะเบียนให้เทียบเท่ากับปีก่อนหน้านั้นได้ ประกอบกับปัจจัยอื่นๆ อาทิ การใช้จ่ายจากภาคเอกชนที่ลดน้อยลง การใช้จ่ายของภาครัฐในโครงการก่อสร้างขยายตัวเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย

แม้ภาพรวมตลาดจะหดตัวลง แต่ในช่วงปลายปีแต่ละแบรนด์ต่างงัดแคมเปญ ชูบริการหลังการขาย เปิดตัวรถรุ่นใหม่ ทำให้ยอดขายโดยเฉพาะของแบรนด์ใหญ่ๆมีการเติบโต

MP32-3343-AA “ปีที่ผ่านมาเราทำยอดขายได้ 1,251 คัน โดยแบ่งเป็นวอลโว่ ทรัคส์ 365 คัน และยูดี ทรัคส์ 895 คัน ซึ่งผลการดำเนินงานดังกล่าวถือว่าดีกว่าตลาดรวมที่ลดลงกว่า 6.3% ส่วนรถมือ 2 ที่เราได้เริ่มทดลองทำทั้งแบรนด์ วอลโว่ และยูดี ฟีดแบ็กถือว่าดีขายได้กว่า 100 คัน ซึ่งเรากำลังเตรียมเซตอัพ ทีมงานยูสด์ ทรัคส์ ขึ้นมาเพื่อศึกษาและดูแลตลาดตรงนี้” นายกําลาภ ศิริกิตติวัฒน์ประธานกรรมการ บริษัท วอลโว่ กรุ๊ป (ประเทศ ไทย) จํากัด ซึ่งเป็นผู้ผลิต และจัดจําหน่ายรถบรรทุกวอลโว่ ทรัคส์ และยูดี ทรัคส์ กล่าวและว่า

ขณะที่ตลาดรวมรถบรรทุกในปีนี้ คาดว่าจะเติบโตประมาณ 5% เช่นเดียวกับเป้าหมายการขายของวอลโว่ กรุ๊ป ที่จะเติบโตมากกว่า 5% เนื่องจากแนวโน้มตลาดเริ่มส่งสัญญาณทางบวก ดังจะเห็นจากโครง การก่อสร้างสาธารณูปโภคต่างๆ ที่ภาครัฐมีการเร่งมือให้เกิดขึ้น รวมไปถึงการจัดทำผังพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซี ที่คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนกรกฎาคม 2561 ซึ่งนโยบายดังกล่าวได้รับความสนใจจากนักลงทุนจากต่างประเทศ

นายกำลาภ เปิดเผยว่า กลยุทธ์และแผนงานที่จะทำให้วอลโว่ไปสู่เป้าหมายที่วางไว้นั้น ประกอบไปด้วย แผนงานด้านผลิตภัณฑ์ใหม่จะมีการเปิดตัวรถบรรทุกใหญ่แบรนด์ยูดี ส่วนวอลโว่นั้นยังไม่มีรุ่นใหม่ แต่จะเป็นการใส่แพ็กเกจเทคโนโลยีเข้าไป นอกจากนั้นแล้วจะมอบโซลูชันในการขนส่งที่คุ้มค่าและสร้างกำไรสูงสุดให้กับลูกค้า ยกตัวอย่าง เลือกรถที่ถูกประเภทการใช้งานของลูกค้า, มีไดรเวอร์ เทรนเนอร์ แบบตัวต่อตัว ให้กับลูกค้าที่มาทดลองขับขี่ ,มีบริการนัดหมายตรวจเช็กเพื่อให้ลูกค้านำรถเข้ามารับบริการหลังการขาย ซึ่งในระหว่างนี้ได้ทดลองวางระบบ คาดว่าจะได้ใช้ภายในไตรมาสแรก

แบนเนอร์รายการฐานยานยนต์-5-503x69 ส่วนการทำตลาดรถบรรทุกไฟฟ้า 100 % ที่บริษัทแม่ประกาศออกมาก่อนหน้านั้น ตอนนี้ได้นำมาทดลองวิ่งในประเทศสวีเดน พร้อมขายในปี 2562 และตลาดที่จะได้ใช้รถประเภทนี้ก่อนคือยุโรป ด้านตลาดประเทศไทย นายกำลาภ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในเบื้องต้นต้องศึกษาถึงความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน หลังจากนั้นจะคำนวณต้นทุนทั้งหมดว่าคุ้มค่าหรือเหมาะสมหรือไม่ มีความน่าสนใจมากน้อยเพียงใด

นางสาววิลาวัลย์ วิศปาแพ้ว รองประธานกรรมการฝ่ายการตลาดและงานสนับสนุนการขายบริษัท วอลโว่ กรุ๊ป (ประเทศไทย) จํากัด กล่าวเสริมว่า ปัจจุบันธุรกิจรถบรรทุกกําลังเผชิญกับความท้าทายการเปลี่ยน แปลงทางด้านเทคโนโลยี เช่นเดียวกับธุรกิจมากมาย โดยเฉพาะยานยนต์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งวอลโว่ กรุ๊ป ได้ให้ความสําคัญ ต่อเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ดังจะเห็นจากการเปิดตัวรถบรรทุกที่ใช้พลังงานไฟฟ้า 100% ที่สวีเดน

“รถบรรทุกพลังงานไฟฟ้า 100% จะได้เห็นในยุโรปก่อน ซึ่งถือเป็นการเตรียมพร้อมที่จะรับมือกับโลก เทคโนโลยียานยนต์ แน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้ย่อมจะมีผลต่อการพิจารณาการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ สําหรับตลาดประเทศไทยด้วย ส่วนคู่แข่งในกลุ่มรถบรรทุกด้วยกัน ก็เริ่มมีการศึกษาและพัฒนารถประเภทดังกล่าวออกมาเช่นเดียวกัน”

นายกำลาภ กล่าวเพิ่มเติมว่า แม้จะยังไม่มีรถบรรทุกไฟฟ้าเข้ามาทำตลาดในไทย แต่วอลโว่ให้ความสำคัญเกี่ยวกับการพัฒนาเทคโนโลยีต่อเนื่อง เช่นการนำเทเลเมติกส์เข้ามาช่วยบอกข้อมูลการขับขี่และตัวรถ และเร็วๆนี้จะเปิดตัวเชฟตี้ แพ็กเกจติดตั้งจีพีเอส,เอบีเอส และเทคโนโลยีต่างๆเข้าไปในรถบรรทุก

ส่วนผู้นำตลาดอย่างอีซูซุ ในปีที่ผ่านมียอดขายเติบโตเช่นเดียวกัน โดย นาย โทชิอากิ มาเอคาวะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ตรีเพชรอีซูซุเซลส์ จำกัด เปิดเผยว่า ยอดขายรถบรรทุกของอีซูซุในปี 2560 ทำได้ 14,385 คัน เพิ่มขึ้น 0.6% เมื่อเทียบกับปี 2559 ที่ทำได้ 14,306 คัน ซึ่งยอดขายที่เติบโตเป็นผลมาจากการเปิดตัวรถใหม่ อีซูซุ คิง ออฟ ทรัคส์

ขณะที่ทิศทางตลาดรถบรรทุกในปี 2561 คาดว่าจะเติบโตไม่ถึง 10% เมื่อเทียบกับปีก่อน เพราะไม่มีมาตรการเรื่องภาษีมาจูงใจ และแม้จะมีโครงการเมกะโปรเจ็กต์ต่างๆของรัฐที่เริ่มเดินหน้า ส่วนเป้าหมายของอีซูซุในปีนี้ยังคงเติบโต และเป็นไปในทิศทางเดียวกับตลาด

“มาตรการภาษีมีผลกับการซื้อรถของลูกค้ามาก โดยตัวเลขตลาดรวมของรถบรรทุกที่เรามีพบว่าปี 2559 เทียบกับปี 2560 ยอดขายหายไป 4.4% แต่สำหรับอีซูซุ เนื่องจากเรามีรถรุ่นใหม่ ทำให้ยอดขายยังคงเติบโต” นายมาเอคาวะ กล่าว

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,343 วันที่ 25 - 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว