พลังงานชงทีโออาร์เอราวัณ-บงกชเข้ากพช.มี.ค.นี้

23 ก.พ. 2561 | 10:08 น.
พลังงานชงทีโออาร์เอราวัณ-บงกชเข้ากพช.มี.ค.นี้

นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผย ในงาน Meet the press ว่า ความคืบหน้าการเปิดประมูลสัมปทานเอราวัณและบงกช ซึ่งจะหมดอายุสัญญาในปี 2565-2566 ปัจจุบันมีกำลังการผลิตรวม 2.1พันล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน หากหยุดแล้วไม่ผลิตต่อก็จะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ ดังนั้นการเปิดประมูลผู้รับสัมปทานรายใหม่จำเป็นต้องมีความชัดเจนภายในปีนี้

siri

ปัจจุบันกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติอยู่ระหว่างจัดทำทีโออาร์ โดยมุมมองของความมั่นคงของประเทศ จะต้องมีก๊าซเพียงพอเพื่อป้อนโรงแยกก๊าซธรรมชาติ ดังนั้นเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาลูกโซ่ตามมา จึงกำหนดในเงื่อนไขว่าผู้ประกอบการที่ชนะการประมูลดังกล่าว จะต้องรักษาระดับกำลังการผลิตไว้ที่ 1.5 พันล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน รวมทั้งราคารับซื้อจะต้องไม่เกินราคารับซื้อในปัจจุบัน

โดยคาดว่าจะสามารถเสนอกรอบแรกเข้าสู่ ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช. ) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ภายในเดือนมีนาคมนี้ หลังจากนั้นจะนำกรอบที่ได้รับอนุมัติไปหารือกับเชฟรอน และ ปตท.สผ. หลังจากนั้นต้องนำเสนอ กพช.อีกครั้งเดือน เมษายนนี้ คาดว่าสามารถเลือกผู้ชนะการประมูลได้ภายในเดือนพฤศจิกายน ถึงต้นเดือนธันวาคมนี้ จากนั้นคาดว่าจะลงนามได้ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2562

โปรโมทแทรกอีบุ๊ก-6

สำหรับระบบไฟฟ้าภาคใต้ ล่าสุด กระทรวงพลังงานลงนามในหนังสือบันทึกข้อตกลงกับทางเครือข่ายปกป้องสองฝั่งทะเล กระบี่-เทพา ยุติโรงไฟฟ้าถ่านหิน เพื่อให้ กฟผ. ถอน EHIA โรงไฟฟ้ากระบี่และเทพา ออกจาก สผ. และให้ไปศึกษารายงานผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์(SEA) เพื่อดูความเหมาะสมของพื้นที่ที่สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จำเป็นต้องมีบุคคลที่เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายเข้ามาร่วมศึกษาด้วย ให้แล้วเสร็จภายใน 9 เดือน ซึ่งพื้นที่กระบี่และเทพา ก็อยู่ในการศึกษาเช่นกัน

ส่วนการแก้ไขปัญหาความมั่นคงไฟฟ้าภาคใต้ ปัจจุบันภาคใต้มีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าจะนะและขนอม รวม 2.4 พันเมกะวัตต์ เทียบกับความต้องการใช้สูงสุด 2.6-2.7 พันเมกะวัตต์ ดังนั้นแผนขยายสายส่ง 2 เส้น ซึ่งจะสามารถส่งไฟได้มากถึง 1 พันเมกะวัตต์ ,โรงไฟฟ้าชีวมวล 300 เมกะวัตต์ เมื่อรวมกับโรงไฟฟ้าหลักในพื้นที่ จะมีกำลังการผลิตมากถึง 3.6 พันเมกะวัตต์ ซึ่งสามารถรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าภาคใต้ที่เติบโต 5% ต่อปี ดังนั้นในช่วง 5 ปีข้างหน้า ยังไม่มีความจำเป็นต้องรีบตัดสินใจให้มีโรงไฟฟ้าหลักในพื้นที่ภาคใต้
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว