'ดีแทค' ดิ้นซอยคลื่น! ฮึดสู้ 'ทรู-เอไอเอส'

23 ก.พ. 2561 | 12:05 น.
1821

ย้อนเส้นทางก่อนเสนอแก้หลักเกณฑ์ประมูลคลื่น 1800 ‘ซิคเว่ เบรคเก้’ เคยเข้าทำเนียบพบนายกฯ ระบุ หนุนนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ลือกระฉ่อนชง ‘ซอยคลื่นล้มกฎ N-1’ อ้างประโยชน์สูงสุด ใช้ทรัพยากรได้เต็มศักยภาพ ด้าน ‘ทรู-เอไอเอส’ ฮึ่มฟ้อง กสทช. ชี้! ซอยใบเล็กเท่ากับลดต้นทุนให้คู่แข่ง

สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) อยู่ระหว่างส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาว่า กรรมการ กสทช. ในช่วงรักษาการ มีอำนาจเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ประมูลคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ จากเดิม 15 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 3 ใบ มาเป็น 5 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 9 ใบ ได้หรือไม่ หากภายใน 1-2 เดือน ยังไร้คำตอบ กสทช. จะทบทวนการเปิดประมูลอีกครั้ง

ร่องรอยการเสนอปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์ครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังจากที่ภายหลัง นายซิคเว่ เบรคเก้ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เทเลนอร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ผู้ถือหุ้นใหญ่ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) เจ้าของโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ดีแทค เข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อสนับสนุนนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล

 

[caption id="attachment_262024" align="aligncenter" width="401"] ซิคเว่ เบรคเก้ ซิคเว่ เบรคเก้[/caption]

มีเสียงเล็ดลอดตามมาว่า มีการพูดถึงการปรับหลักเกณฑ์ประมูลคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ ที่ดีแทคจะสิ้นสุดสัญญาสัมปทานกับ บริษัท กสท. โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ในวันที่ 30 ก.ย. 2561 และ กสทช. จะเปิดประมูลหาตัวผู้รับใบอนุญาตก่อน โดยให้แบ่งซอยแถบคลื่นเล็กลงและยกเลิกเงื่อนไขการประมูล กรณีที่มีผู้เข้าร่วมประมูลน้อยรายจะไม่นำคลื่นความถี่ออกประมูล (ที่เรียกว่า กฎ N-1)

โดยอ้างเหตุผลว่า จะทำให้ได้เงินจากการประมูลน้อยลง เนื่องจากมีคลื่นความถี่ที่จะไม่สามารถประมูลหาผู้รับใบอนุญาตได้ ทำให้ตลาดไม่มีประสิทธิภาพ ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ต้องแบกรับภาระต้นทุนทางการเงิน ส่งผลลดแรงจูงใจการลงทุนและการแข่งขันให้บริการข้อมูลผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่ในยุคต่อไป

ต่อมาอนุกรรมการกลั่นกรองงานทางด้านโทรคมนาคมของ กสทช. มีมติเสนอคณะกรรมการ กสทช. เสนอเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการประมูลคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ดังกล่าว โดยกรรมการ กสทช. บรรจุเข้าวาระเตรียมพิจารณา แต่มีเสียงทักท้วงว่า สถานะของกรรมการ กสทช. ที่เป็นเพียงรักษาการ มีอำนาจพิจารณาเรื่องนี้หรือไม่ ท้ายสุดจึงส่งเรื่องขอความเห็นไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาดังกล่าว

แต่แวดวงประเมินว่า หากมีการเปลี่ยนหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นครั้งนี้ ดีแทคจะได้ประโยชน์มากสุด เนื่องจากบนคลื่นนี้มีผู้ใช้บริการอยู่เพียงประมาณ 5 แสนกว่าราย แถบคลื่นเพียง 5-10 เมกะเฮิรตซ์ มากพอรองรับได้อยู่แล้ว และดีแทคไม่จำเป็นต้องทุ่มลงทุนเพื่อให้ได้แถบคลื่นความถี่มากถึง 15 เมกะเฮิรตซ์ เนื่องจากบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ได้เลือกดีแทคเป็นพันธมิตรทางธุรกิจ คลื่นความถี่ 2300 เมกะเฮิรตซ์ เสนอผลประโยชน์ตอบแทนต่อปี 4,510 ล้านบาท

แม้ดีแทคได้เซ็นเอ็มโอยูกับทีโอทีไปแล้วก็ตาม หากแต่คณะกรรมการบอร์ดยังไม่อนุมัติให้ทีโอทีลงนามสัญญาอย่างเป็นทางการ ต่างกับเอไอเอสที่ได้เซ็นสัญญากับทีโอที โรมมิ่งคลื่นความถี่ 2100 เมกะเฮิรตซ์ ไปถึงปี 2568


โปรโมทแทรกอีบุ๊ก-6

“ดีแทคเหมือนคนที่กำลังจมน้ำ มีอะไรคว้าได้ก็ต้องคว้าให้หมด คลื่นความถี่ 2300 เมกะเฮิรตซ์ จะต้องเซ็นสัญญาก่อนที่คลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ จะหมดสัญญาสัมปทาน เพราะถ้าทำได้เร็ว ดีแทคจะย้ายลูกค้า 4 จี ไปคลื่น 2300 เมกะเฮิรตซ์ แต่ถ้าคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ ยังถูกยื้อออกไป สถานการณ์ยิ่งบีบหัวใจ เพราะลูกค้าอยู่ในระบบมี 20 ล้านราย แต่คลื่นที่ถือครองอยู่ในมือ คือ คลื่น 2100 เมกะเฮิรตซ์ มาให้บริการเพียงคลื่นเดียวเท่านั้น” แหล่งข่าว กล่าว

“ปัญหาของดีแทคที่เกิดขึ้นในห้วงเวลานี้ คือ เทเลนอร์ ผู้ถือหุ้นใหญ่ที่กุมอำนาจเบ็ดเสร็จ ถ้าไม่ลงทุนในไทย ก็ไปลงทุนในต่างประเทศที่มีใบอนุญาตถูกกว่า ต่างกับเอไอเอสและทรู ที่มีผู้ถือหุ้นใหญ่เป็นคนไทย เป้าหมาย คือ ลงทุนในประเทศไทยเท่านั้น”

ถ้ามีบทสรุปจากคณะกรรมการกฤษฎีกาให้เปลี่ยนหลักเกณฑ์การประมูลใหม่ ผู้ประกอบการมือถือทั้ง 2 ราย คือ เอไอเอส หรือ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) และบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) อาจจะมีการฟ้องร้องกับ กสทช.

“เพราะจะเท่ากับว่า ทั้งเอไอเอสและทรู ถูก กสทช. บังคับให้ประมูลคลื่น 1800 จำนวนคลื่นความถี่ 15 เมกะเฮิรตซ์ ในรอบก่อน ขณะที่ รอบนี้ดีแทคเข้าประมูลคลื่นเพียงใบละ 5 เมกะเฮิรตซ์เท่านั้น”


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,342 วันที่ 22-24 ก.พ. 2561 หน้า 01-15

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว