เสนอรวบ3กรมภาษี ตั้งองค์กรกึ่งอิสระเก็บภาษี ทำหน้าที่คล้ายแบงก์ชาติ

23 ก.พ. 2561 | 03:46 น.
คลังเตรียมเสนอปฏิรูป 3 กรมจัดเก็บภาษี เสนอตั้งองค์กรกึ่งอิสระ SARA คล้ายแบงก์ชาติ แต่ทำหน้าที่จัดเก็บภาษีโดยเฉพาะ เพิ่มประสิทธิภาพจัดเก็บภาษี หลังพบต้นทุนสูงถึง 2% ขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วมีต้นทุนเฉลี่ยเพียง 1.04% พร้อมนำ Big data วิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก

นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างปฏิรูปโครงสร้างภาษีและระบบการจัดเก็บใหม่ทั้งหมด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีมากขึ้น โดยมีแนวคิดที่จะตั้งหน่วยงานจัดเก็บภาษีกึ่งอิสระ หรือที่เรียกว่า SARA (Semi-autonomous Revenue Agency)ขึ้น ด้วยการโอนย้ายเจ้าหน้าที่ที่มีประสิทธิภาพด้านการกำหนดนโยบายภาษีของทั้ง 3 กรมจัดเก็บภาษี ทั้งกรมสรรพากร กรมศุลกากร และกรมสรรพสามิต มารวมอยู่ในองค์กรเดียวกัน เพื่อตั้งเป็นองค์กรอิสระเหมือนกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีเลขาธิการ ทำหน้าที่บริหาร มีคณะกรรมการกำกับดูแลเองเหมือนอธิบดีที่มีความโปร่งใส เป็นธรรม อิสระในการบริหารงานบุคคล แต่งตั้งโยกย้าย

[caption id="attachment_261863" align="aligncenter" width="335"] สมชัย สัจจพงษ์ สมชัย สัจจพงษ์[/caption]

“การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดเก็บภาษี นอกจากการใช้อิเล็กทรอนิกส์เข้ามาช่วย ไม่ว่าจะเป็น เนชั่นแนล อี-เพย์เมนต์ หรือการเพิ่มภาษีใหม่อย่าง e-business แล้ว การมีหน่วยงานจัดเก็บภาษีแยกส่วนมาเป็นกึ่งอิสระแบบแบงก์ชาติ แต่ทำหน้าที่เก็บภาษีโดยเฉพาะ โดยให้กระทรวงการคลังเป็นคนกำหนดนโยบายภาษี ซึ่งเรื่องนี้ถูกบรรจุในแผนปฏิรูปที่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(คนร.) แล้ว ปัจจุบันอยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็นในแต่ละจังหวัด เมื่อเสร็จแล้วก็จะนำเสนอในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เร็วๆนี้” นายสมชัยกล่าว

ทั้งนี้ หากมีหน่วยงานจัดเก็บภาษีกึ่งอิสระ จะทำให้การจัดเก็บรายได้ภาษีต่อจีดีพีของประเทศที่ไม่สูงมากนักในปัจจุบันจะสูงขึ้น เพราะประสิทธิภาพจัดเก็บดีขึ้น โดยในปี 2504-2527 ไทยมีรายได้ภาษีต่อจีดีพีอยู่ที่ 13.3% และในช่วง ปี 2535-2560 ตัวเลขเพิ่มเป็น 17.9% ซึ่งสูงขึ้น แต่เมื่อเทียบกับทั่วโลก แล้วไทยอยู่ในอันดับที่ 62 จาก 127 ประเทศทั่วโลก แสดงว่า ศักยภาพการจัดเก็บภาษีไม่ดีนัก เมื่อเทียบ 127 ประเทศ

ขณะที่ต้นทุนในการจัดเก็บภาษีของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี) ที่ไปสำรวจมาพบว่า ต้นทุนต่างๆที่ต้องใช้เพื่อเสียภาษีนิติบุคคลต่อรายอยู่ที่ 253,700 บาทต่อราย ที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายภาษีของเอสเอ็มอี โดยแบ่งเป็นต้นทุนบุคลากรด้านภาษี 70,000 บาทคิดเป็น 28% ของต้นทุนทั้งหมด และอีก 26.2% เป็นเรื่องที่ต้องใช้โปรแกรมบัญชี ค่าฝึกอบรมพนักงาน เอกสารต่างๆ ส่วนที่เหลือ 25% เป็นต้นทุนในการจ้างทำบัญชี ค่าตรวจสอบบัญชีและที่ปรึกษาบัญชี

Mp24-3342-A นอกจากนั้นต้นทุนการจัดเก็บภาษีของแต่ละกรมยังพบว่า รายได้การจัดเก็บต่อค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานอยู่ในอัตราที่สูง โดยกรมสรรพากรอยู่ที่ 1% กรมสรรพสามิต 1.4% และกรมศุลกากรอยู่ที่ 3% เมื่อรวมทั้ง 3 กรมจะมีต้นทุนในการจัดเก็บภาษีเฉลี่ยที่ 2% เมื่อเทียบกับต่างประเทศเฉลี่ยที่ 1.04% เท่านั้น สะท้อนว่าต้นทุนเราสูงกว่าเมื่อเทียบกับต่างประเทศ ทั้งต้นทุนการจัดเก็บที่สูง ต้นทุนคนเสียภาษีเองก็สูงด้วย

“จึงเป็นที่มาที่ไปว่า เราน่าจะเป็นหน่วยงานภาษีกึ่งอิสระ โดยหน่วยงานนี้ต้องยืดหยุ่นลดต้นทุนจัดเก็บ เพิ่มการอำนวยความสะดวกการบริการให้กับผู้เสียภาษี ต้องประสบความสำเร็จในการขยายฐานภาษี ต้องเป็นคนเก็บภาษีมืออาชีพ โดยไม่ต้องสนใจในเรื่องรับเงินใต้โต๊ะและจะไม่มีอีกต่อไป เพราะเงินได้ของเขาถูกกำหนดเองโดยอิสระภายใต้ผลงานของเขาเอง เก็บได้มาก ก็จะได้เพิ่มงบประมาณไปด้วย”

อย่างไรก็ตาม สำหรับบุคลากรที่เหลือของ 3 กรมจัดเก็บภาษีจะต้องไปทำเรื่องอื่น จะมีการโอนย้ายไปยังส่วนงานอื่นๆ ภายใต้กระทรวงการคลังไม่ว่าจะเป็นสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กรมบัญชีกลาง ไม่ใช่ว่า เมื่อตั้งหน่วยงานกึ่งอิสระขึ้นมาแล้วจะโอนย้ายเจ้าหน้าที่มาทั้งหมด จะเลือกมาเฉพาะคนที่มีประสิทธิภาพเท่านั้น เพราะการจะให้กรมภาษีออกมาตรการต่างๆ ไม่ว่าจะเพิ่มหรือลดภาษีก็กล้าๆกลัวๆ กลัวภาษีลด ภาษีเพิ่ม ดังนั้นจึงอยากให้หน่วยงานนี้มาทำหน้าที่แทน

แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ ด้านนายนรินทร์ กัลยาณมิตร รองปลัดกระทรวงการคลังกล่าวว่า กระทรวงการคลังเดินหน้าจัดทำ Big Data ตามนโยบายของรัฐบาล ในการจัดเก็บข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูลของ 3 กรมจัดเก็บภาษีมาใช้ประโยชน์ร่วมกัน เพราะเมื่อนำระบบประมวลผลข้อมูลมาใช้งาน และบูรณางานร่วมกันแล้ว จะติดตามการหลีกเลี่ยงภาษีได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การสำแดงนำเข้ามือถือจากต่างประเทศราคา 1,000 บาทต่อเครื่อง แต่พบว่าเมื่อนำมาขายปลีกราคาสูงถึงหมื่นกว่าบาท เมื่อมีระบบติดตาม Tax monitor ระบบเสิร์ชค้นหาข้อมูล มีประสิทธิภาพ จะพบข้อมูลน่าสงสัยหลายด้าน จากนั้นจะส่งให้ส่วนงานปฏิบัติ ส่วนงานในภูมิภาคติดตามดูแล เช่น ด่านชายแดนทำการตรวจสอบแล้วรายงานมายังส่วนกลาง

“Big data จะเป็นนวัตกรรมใหม่ในการใช้ระบบข้อมูล นับแสนนับล้านรายการจากทั้ง 3 กรมจัดเก็บ หากใช้บุคลากรนั่งดูเอกสารเป็นรายแผ่นคงใช้เวลาหลายเดือน แต่ระบบคอมพิวเตอร์เพียงไม่ถึงชั่วโมงสามารถประมวลผลได้ ทั้งการขยายฐานภาษีและจัดเก็บภาษีให้มีประสิทธิภาพโดยไม่ต้องปรับเพิ่มอัตราภาษี”นายนรินทร์กล่าว

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,342 วันที่ 22 - 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว