ทุ่ม100 ล.ผุด‘ดิจิตอลไอดี’ รัฐผนึกเอกชนสร้างแพลตฟอร์มยืนยันตัวออนไลน์

24 ก.พ. 2561 | 14:37 น.
เอ็ตด้า ลงขัน 100 ล้าน ร่วม 7 หน่วยงานรัฐ-เอกชนพัฒนาแพลตฟอร์มเนชั่นแนลดิจิตอลไอดี รองรับการยืนยันตัวตนธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เริ่มเปิดบริการ มิ.ย.นี้ ตั้งเป้าสิ้นปีผู้ใช้ระดับแสนราย ด้าน “โอมิเซะ” นำร่องใช้งานระบบ สร้างประสบการณ์ใหม่ให้ลูกค้า

นางสุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) สพอ. หรือ ETDA (เอ็ตด้า) เปิดเผย ว่าเอ็ตด้า ร่วมลงทุนกับหน่วยงานรัฐ และเอกชน 7 ราย ประกอบ กระทรวงการคลัง บริษัทศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ ธนาคารพาณิชย์ บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทประกัน กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษาหรือ กยศ. และเครดิตบูโร เพื่อพัฒนาโครงการเนชั่นแนลดิจิตอลไอดี หรือ ระบบการพิสูจน์ และยืนยันตัวตนทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยโครงการดังกล่าวมีมูลค่าการลงทุน 100 ล้านบาท ซึ่งเบื้องต้นจะใช้เม็ดเงินลงทุนพัฒนาระบบราว 10 ล้านบาท

[caption id="attachment_261817" align="aligncenter" width="378"] สุรางคณา วายุภาพ สุรางคณา วายุภาพ[/caption]

ทั้งนี้เอ็ตด้าจะเป็นผู้ทำหน้าที่กำหนดมาตรฐานกลางสำหรับระบบพิสูจน์ และยืนยันตัวตนทางอิเล็กทรอนิกส์ตามหลักมาตรฐานสากล โดยมีบริษัท โอมิเซะ จำกัด ผู้ออกแบบและพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ และผู้ใช้บริการระบบชำระเงินออนไลน์ ร่วมพัฒนาระบบดังกล่าว ซึ่งล่าสุดได้มีการลงนามความร่วมมือพัฒนาแล้ว คาดว่าจะเริ่มต้นเปิดให้บริการระบบดังกล่าวได้ราวเดือนมิถุนายนนี้ และคาดว่าจะสามารถใช้งานเต็มรูปแบบได้ประมาณสิ้นปี 2561 นอกจากนี้ยังเปิดให้ผู้บริการเอกชนรายอื่นเชื่อมโยงระบบดังกล่าวด้วย โดยคาดว่าปีนี้จะมีเพิ่มอีก 1 ราย

“เอ็ตด้าจะเป็นผู้สร้างอินฟราสตรักเจอร์กลางให้ทุกหน่วยงานเข้ามาเชื่อมต่อ และเป็นผู้กำหนดโปรโตคอลทำให้ไอดีของหน่วยงานรัฐ ผู้ให้บริการไอดี ผู้ใช้บริการสามารถคุยกันได้รู้เรื่อง เปรียบเสมือนกับการสร้างถนนเข้าไปในพื้นที่ต่างๆ โดยในการพิสูจน์หรือการยืนยันตัวตนนั้นมีทั้งการตรวจสอบบัตรประชาชน หนังสือรับรองนิติบุคคล เทคโนโลยีชีวภาพ การตรวจสอบด้วยเสียง และการสนทนากับหุ่นยนต์อัตโนมัติ”

บาร์ไลน์ฐาน นางสุรางคณา กล่าวต่อไปว่าสถิติที่ผ่านมามีเรื่องร้องเรียนศูนย์รับเรื่องร้องเรียนปัญหาออนไลน์ 1212 OCC ประมาณ 20,000 เรื่อง เป็นกรณีที่เกี่ยวกับการล่อลวงซื้อขายสินค้าประมาณ 10,000 เรื่อง ซึ่งภายหลังจากมีระบบดังกล่าวเชื่อว่าจะช่วยให้ปัญหาดังกล่าวลดลง และผู้บริโภคมีการกล้าจับจ่ายใช้ซื้อสินค้ามากขึ้น โดยการสำรวจปีที่ผ่านมาผู้บริโภคกล้าที่จะซื้อสินค้าระดับราคา 10,000 บาท จากร้านค้าบนออนไลน์ และเชื่อว่าจะเป็นส่วนสำคัญที่ผลักดันให้อี-คอมเมิร์ซของไทยเติบโตขึ้น

ด้านนายอิศราพร หะรินสุต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท โอมิเซะ จำกัด กล่าวว่าในการยืนยันตัวตนร้านค้าที่มีช่องทางออนไลน์นั้น มีอุปสรรคแม้จะมีการตรวจสอบเอกสารทั้งหมดแล้ว แต่ก็มีช่องโหว่ให้ร้านค้าทุจริต ซึ่งขณะนี้แม้ตัวเลขการทุจริตร้านค้าจะไม่สูง โดยมีตัวเลข 1% แต่ก็สร้างความเสียหายให้กับบริษัท ซึ่งความร่วมมือกับเอ็ตด้าครั้งนี้จะเป็นผู้ให้บริการยืนยันตัวตนรายแรกที่มีเชื่อมต่อตรงกับเอ็ตด้า ผ่าน Federated Proxy ซึ่งเชื่อมโยงข้อมูลการยืนยันตัวตนมาจากหลายแหล่งข้อมูล

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,342 วันที่ 22 - 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว