FSMART ยึดรากหญ้าแบงก์เอเยนต์

24 ก.พ. 2561 | 11:40 น.
FSMART ยึดกลุ่มรากหญ้าลุยแบงก์เอเยนต์ ชูค่าธรรมเนียมถูก แข่งร้านสะดวกซื้อ จับมือเพิ่มอีก 3 แบงก์ใหญ่ในกลางปีนี้ขยายบริการโอนเงิน ดันธุรกรรมต่อเดือนสูงสุด 650 ล้านบาท

ราคาหุ้นบริษัทฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) (FSMART) เจ้าของตู้เติมเงิน “บุญเติม” วันที่ 20 กุมภาพันธ์ กระ เตื้องขึ้น หลังถูกนักลงทุนเทขายอย่างหนักตั้งแต่วันที่ 15 กุมภา พันธ์ 2561 ด้วยความกังวลว่า FSMART จะได้รับผลกระทบจากกรณีธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เตรียมอนุมัติให้ร้านค้าสะดวกซื้อ ร้านโชวห่วย เป็นตัวแทนธนาคาร หรือ Banking Agent ได้เพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้ผู้ใช้บริการของ FSMART ลดลง

FSMART เป็นผู้ให้บริการเติมเงินโทรศัพท์มือถือประเภทเติมเงินล่วงหน้า (Pre-paid) และบริการชำระเงินออนไลน์ ผ่านเครื่องรับชำระเงินอัตโนมัติหรือ “ตู้เติมเงินออนไลน์บุญเติม” ปัจจุบันมีจำนวนตู้ให้บริการถึง 124,653 ตู้ ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วไทย โดยเฉพาะในเขตชนบท

[caption id="attachment_113172" align="aligncenter" width="463"] นายสมชัย สูงสว่าง นายสมชัย สูงสว่าง[/caption]

“แบงก์ใหญ่ๆ มองว่า FSMART มี terminal โดยเฉพาะในต่างจังหวัดมาก จึงมาหาเรา ถือเป็นความได้เปรียบ เมื่อเทียบกับ 7-11 ที่ส่วนใหญ่อยู่ในเมืองและอยู่ในพื้นทีเดียวกับสาขาแบงก์อยู่แล้ว ถ้าแบงก์จะตั้งให้ 7-11 เป็นตัวแทนธนาคาร ก็คงเกิดคำถามว่าแล้วพนักงานแบงก์จะให้ไปทำอะไร” นายสมชัยสูงสว่าง กรรมการผู้จัดการ FSMART กล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ”

ภายในครึ่งปีแรก FSMART จะขยายบริการโอนเงินเพิ่มอีก 3 ธนาคารคือ ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงเทพ และธนาคารกรุงศรีอยุธยา จากปัจจุบันที่เป็นตัวแทนให้กับ ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารกรุงไทย และขยายตู้เติมเงินบุญเติมเพิ่มอีก 20,000 ตู้เป็น 144,653 ตู้ภายในสิ้นปี ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มวงเงินธุรกรรมเข้ามาสูงสุดเดือนละ 650 ล้านบาท จากปี 2560 ที่สูงสุดเดือนละ 500 ล้านบาท

แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ ปี 2560 FSMART มียอดการโอนรวม 4,052 ล้านบาท จำนวนโอน 5.8 ล้านรายการ คิดเป็นการโอนเฉลี่ยต่อวัน 23,353 รายการ และเป็นอัตราเติบโตของธุรกรรมการโอนถึง 864% จากปี 2559 ที่มีรายการโอนเพียง 6 แสนรายการ

นายณรงค์ศักดิ์ เลิศทรัพย์ทวี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ FSMART กล่าวเสริมว่า จากการที่ธนาคารไทยพาณิชย์ควบรวมสาขาจำนวนมากตามแผน 3 ปี และยังมีธนาคารอื่นที่จะลดสาขา ทำให้ปริมาณธุรกรรมจะมาใช้บริการผ่านแบงก์เอเยนต์มากขึ้น เป็นประโยชน์สำหรับทุกฝ่าย

ขณะที่กลุ่มลูกค้าเป้าหมายของ FSMART จะเป็นรายย่อยที่อยู่ตามชนบทถึง 70% มีเพียง 30% ที่อยู่ตัวเมืองที่อาจทับซ้อนกับ 7-11 และวงเงินการโอนต่อครั้งเฉลี่ยจะอยู่ที่ 700 บาท เป็นระดับรากหญ้า จึงเป็นลูกค้าคนละกลุ่ม และเราเชื่อว่าค่าธรรมเนียมที่ FSMART คิดกับลูกค้าน่าจะถูกกว่า 7-11 ที่มีต้นทุนด้านพนักงาน

โดย FSMART จะคิดต่อรายการที่ 30 บาท สูงสุดที่ 70 บาท โอนตํ่ากว่า 2,000 บาทคิดที่ 30 บาทและสูงสุดโอนได้ไม่เกิน 5,000 บาท”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,342 วันที่ 22 - 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว