อีไอซีคาดมูลค่าการส่งออกปี 2561 จะขยายตัวที่ 5.0%

21 ก.พ. 2561 | 11:03 น.
ส่งออกไทยพุ่งรับศักราชใหม่ เดือน ม.ค. โต 17.6% สูงสุดในรอบ 62 เดือน

Key point

·มูลค่าการส่งออกไทยเดือนม.ค. ขยายตัวสูงกว่า 17.6%YOY โดยเติบโตดีในเกือบ
ทุกตลาดส่งออกสำคัญและหมวดสินค้า นำโดยการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน อาทิ เคมีภัณฑ์และพลาสติก น้ำมันสำเร็จรูป ที่เติบโต 28%YOY และ 26%YOY ตามลำดับ ด้านการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมหลักยังคงเติบโตสอดคล้องกับภาคการผลิตของโลก เช่น คอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์, รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ที่ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องที่ 26%YOY และ 18%YOY ตามลำดับ ในขณะเดียวกัน ราคาส่งออกสินค้าเกษตร ได้แก่ ข้าว และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังที่ฟื้นตัว ส่งผลให้การส่งออกสินค้าดังกล่าวเติบโตที่ 37%YOY และ 42%YOY ตามลำดับ

·มูลค่าการนำเข้าเติบโตต่อเนื่องที่ 24.3%YOY จากการนำเข้าสินค้าในกลุ่มสินค้าเชื้อเพลิง
ที่เติบโตกว่า 48%YOY ตามราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น ด้านการนำเข้าเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ยังขยายตัวกว่า 31%YOY ตามแนวโน้มการส่งออกที่เพิ่มขึ้นในสินค้ากลุ่มดังกล่าว ขณะที่สินค้าทุนเติบโตกว่า 34%YOY สะท้อนการลงทุนในประเทศที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

e-book Implication

·อีไอซีคาดมูลค่าการส่งออกทั้งปี 2018 จะขยายตัวที่ 5.0% ตามแนวโน้มการเติบโตของภาคการผลิตโลก ประกอบกับราคาน้ำมันและสินค้าเกษตรบางรายการที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ดี เงินบาทที่ยังมีแนวโน้มแข็งค่าอยู่ที่ราว 31-31.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงนี้ อาจกระทบต่อรายได้ในรูปเงินบาทของผู้ส่งออกไทย ในขณะเดียวกัน ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ในเดือนมกราคมที่แข็งค่าขึ้นกว่า 5.4%YOY ก็สะท้อนถึงความสามารถในการแข่งขันด้านอัตราแลกเปลี่ยนของไทยที่ลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศคู่ค้า นอกจากนี้ นโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ก็กลับมาเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการส่งออกไทยอีกครั้ง โดยเมื่อวันที่ 22 มกราคมที่ผ่านมา ประธานาธิบดีทรัมป์ได้อนุมัติมาตรการ safeguard เก็บภาษีการนำเข้าเครื่องซักผ้าและแผงโซล่าร์ ซึ่งอีไอซีประเมินว่ามาตรการดังกล่าวจะกระทบต่อส่งออกไทยเป็นสัดส่วนราว 0.2% ของการส่งออกทั้งหมด

·นโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ อาจเพิ่มความเสี่ยงให้กับส่งออกไทยในระยะต่อไป นโยบายกีดกันทางการค้าที่ต้องจับตามองในระยะต่อไป ประกอบด้วย (1) มาตรการกีดกันการนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียม (2) การต่ออายุสิทธิ GSP ของไทย ซึ่งอาจกระทบสินค้าบางกลุ่มเป็นพิเศษ เช่น อิเล็กทรอนิกส์ เลนส์ และเครื่องซักผ้าบางชนิด (3) การตรวจสอบสินค้าที่อาจมีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งอาจมีสินค้าทั้งในกลุ่มผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมและสินค้าอุปโภคบริโภคที่เข้าข่าย และ (4) การเจรจา NAFTA ที่อาจกระทบการส่งออกรถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ทั้งนี้ อีไอซีประเมินว่าหากมีประเด็นที่กล่าวข้างต้นเกิดขึ้นจริงอาจกระทบการส่งออกไทยเป็นสัดส่วนรวมกว่า 2.7% ของการส่งออกทั้งหมด

·อีไอซีคาดว่ามูลค่าการนำเข้าทั้งปี 2018 จะขยายตัวที่ 7.5% โดยเติบโตตามความต้องการสินค้าวัตถุดิบและสินค้าทุน ซึ่งมีแนวโน้มขยายตัวตามการลงทุนในประเทศที่คาดว่าจะฟื้นตัวดีขึ้น ประกอบกับการนำเข้าสินค้าเชื้อเพลิงที่มีแนวโน้มดีขึ้นตามราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น EIC_trade jan_20180221 (1)

ที่มา : Economic Intelligence Center (EIC)

ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)