กกต.ชงร่างก.ม.ท้องถิ่นเข้าครม. 28 ก.พ.คาดเลือกตั้งกลางส.ค.นี้

21 ก.พ. 2561 | 11:02 น.
กกต.ชงร่างก.ม.ท้องถิ่นเข้าครม. 28 ก.พ.คาดเลือกตั้งกลางเดือน ส.ค.นี้

21 ก.พ. 61 - นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดเผยว่า การประชุม กกต. เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สำนักงาน กกต.ได้นำเสนอร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)เลือกตั้งท้องถิ่นที่ผ่านการรับฟังความคิดเห็นจาก ผู้มีส่วนได้เสียที่ส่วนใหญ่เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวข้องกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 3,847 คน และนำมาปรับปรุงเป็นร่างล่าสุดเพื่อเสนอขอความเห็นชอบต่อ กกต. โดยได้พิจารณาร่างดังกล่าวอย่างรอบคอบและให้มีการแก้ไขในรายละเอียดบางประการเพื่อให้กฎหมายที่จะนำมาใช้เกิดผลดีที่สุด และสอดคล้องเป็นแนวทางเดียวกันกับร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ซึ่งคาดว่าจะนำส่งคณะรัฐมนตรี(ครม.)ได้ภายในวันที่ 28 กุมภาพันธ์นี้

kkt1

สำหรับสาระสำคัญของกฎหมายฉบับดังกล่าว คือ กำหนดให้วาระการดำรงตำแหน่งของผู้บริหารและสภาท้องท้องถิ่นเริ่มต้นและสิ้นสุดพร้อมกัน ดังนั้น การเลือกผู้บริหารและสภาท้องถิ่นจะกระทำในวันเดียวกันไม่เกิดภาวะเหลื่อมล้ำ ประชาชนสามารถมาใช้สิทธิ์พร้อมกันได้ในคราวเดียว และการกำหนดให้กรณีมีการลาออกก่อนครบวาระ

ห้ามทำกิจกรรมที่นำไปสู่การหาเสียง ใช้งบประมาณของท้องถิ่น สร้างความได้เปรียบต่อคู่แข่งย้อนหลังไป 90 วันก่อนการลาออก ยกเว้นกรณีเป็นการบรรเทาทุกข์จากภัยธรรมชาติ ดังนั้น ลูกเล่นลาออกก่อนครบวาระและพาหัวคะแนนไปเที่ยว พากลุ่มแม่บ้านไปทัศนศึกษา เที่ยวฟรีมีตังค์ทอนจะไม่สามารถกระทำได้ นายสมชัย กล่าว

นอกจากนี้ได้กำหนดรูปแบบการหาเสียงซึ่งคล้ายคลึงกับการเลือกตั้ง ส.ส. คือ ต้องจัดทำป้ายในขนาดและจำนวน ติดไว้ในสถานที่ที่ กกต.กำหนดเท่านั้น โปสเตอร์ขาจร คัทเอาท์ขนาดใหญ่ที่ติดตั้งเกะกะกีดขวางทัศนวิสัยจะไม่มีให้เห็นอีก และกำหนดจำนวนผู้ช่วยหาเสียงในสัดส่วนที่เหมาะสม ป้องกันการซื้อเสียงที่อ้างว่าจ้างผู้ช่วย ดังนั้น ค่าแรง 200 บาทให้ผู้มีสิทธิ์แค่เดินชูป้ายรอบหมู่บ้านรอบเดียวจะทำไม่ได้อีก และห้ามใช้มหรสพในการหาเสียง

A Thai woman reaches up to place her vote in a ballot box during the country

อย่างไรก็ดี สำหรับประเด็นหนึ่งที่สำนักงานเสนอมา คือ การตัดสิทธิ์หมู่บ้านที่มีผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งน้อยกว่า 10 คนให้ไม่มีสิทธิเลือกสมาชิกสภาท้องถิ่น แต่มีสิทธิเลือกเฉพาะผู้บริหารท้องถิ่น ด้วยเหตุผลที่ว่า บางหมู่บ้านมีคนไม่ถึง 10 คน พอจะเลือกสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลจะจำกัดอยู่เพียงในคนไม่กี่คนและเป็นภาระต่อการจัดหน่วยเลือกตั้งนั้น ที่ประชุม กกต.ไม่เห็นด้วยกับการตัดสิทธิ์และมองว่าเป็นปัญหาของกระทรวงมหาดไทย ที่แบ่งย่อยหมู่บ้านมากไปเอง จึงเสนอให้มหาดไทยเป็นฝ่ายคิดการยุบรวมหมู่บ้านเพื่อให้มีประชากรเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ เมื่อเสนอร่างกฎหมายดังกล่าว ครม.คงใช้เวลาอีกประมาณ 1 เดือนในการตรวจสอบความถูกต้องสอดคล้องกับร่างของคณะกรรมการกฤษฎีกา และของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และน่าจะเสนอเข้าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ปลายเดือนมีนาคมนี้ จากนั้น สนช.จะใช้เวลาพิจารณาอีกประมาณ 60 วัน ขั้นตอนการทูลเกล้าฯประมาณ 30 วัน ดังนั้น เร็วที่สุดที่กฎหมายประกาศใช้ได้ คือ ปลายเดือนมิถุนายนนี้ หลังจากนั้นหากรัฐบาลเห็นชอบว่า พื้นที่ใดควรมีการเลือกตั้ง กกต.จะใช้เวลาประมาณ 45 วันในการดำเนินการซึ่งเป็นไปได้ว่า การเลือกตั้งท้องถิ่นชุดแรกจะเกิดขึ้นประมาณกลางเดือนสิงหาคม ซึ่งจะเป็นการทดสอบฝีมือ กกต.ชุดใหม่ที่จะเข้ามารับงานดังกล่าวเป็นงานแรกด้วย

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว