อนาคตยางพาราไทย

14 ม.ค. 2559 | 02:00 น.
หากอยู่ภายใต้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง วันนี้ม็อบยางพาราคงปิดถนน หรือขึ้นมาชุมนุมหน้าทำเนียบรัฐบาลเพื่อสร้างแรงกดดันในการเจรจาเรียกร้องให้แก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำเหลือแค่กิโลกรัมละ 25 บาท แต่เพราะเป็นรัฐบาลจากการรัฐประหารที่มีอำนาจพิเศษ ที่ยังมีคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)หนุนหลัง แกนนำชาวสวนยางและผู้นำการเมืองท้องถิ่นจึงต้องเจรจากันบนโต๊ะด้วยท่าทีที่ไม่อาจหักหาญกับฝ่ายบริหารบ้านเมืองอย่างที่ผ่านมา

ความคิดของรัฐบาลที่ให้องค์การคลังสินค้า(อคส.) ออกมาเป็นทัพหน้ารับซื้อยางพาราจำนวน 1 แสนตันในราคานำตลาด พร้อมเร่งรัดการจ่ายเงินช่วยเหลือชาวสวนยางไร่ละ 1,500 บาทนั้น แน่นอนว่ายังไม่เป็นที่ถูกใจชาวสวนยางที่เรียกร้องมาก่อนหน้านี้ว่าต้องการให้รับซื้อในราคากิโลกรัมละ 60 บาท แต่ก็ยังดีกว่าไม่ได้อะไรเลย เพราะฝ่ายรัฐบาลโดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พูดชัดเจนว่าไม่สามารถเอาเงินมาอุ้มเกษตรกรชาวสวนยางได้อย่างที่เรียกร้อง เพราะงบประมาณไม่พอและยังมีเกษตรกรอีกหลายกลุ่มที่ต้องช่วย มีโครงการอีกหลายเรื่องที่ต้องทำ

มาตรการให้อคส.ซื้อยางในราคานำ เอาไปให้ 8 กระทรวงของรัฐบาลเอายางพาราไปใช้ในภารกิจของแต่ละกระทรวง ถือเป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าในระยะสั้น เพราะภายในไตรมาสแรกของปีนี้คาดหมายว่าจะมีผลผลิตยางออกสู่ตลาดประมาณ 8 แสน - 1 ล้านตัน การรับซื้อของอคส. การเรียกร้องให้บริษัทเอกชนช่วยเพิ่มราคารับซื้อ จึงเป็นเพียงการส่งน้ำเลี้ยงต่อชีวิตชาวสวนยางได้เพียงชั่วคราว ทั้งนี้โดยยังไม่พิจารณาถึงปัจจัยภายนอกว่าราคาน้ำมันในตลาดโลกจะลดลงอีกหรือไม่ ความต้องการยางพาราคาในตลาดโลกจะเพิ่มหรือลดลงอย่างไร โดยเฉพาะตลาดจีนซึ่งเป็นผู้นำเข้าอันดับ 1 ของโลกมีแนวโน้มถดถอยตามสภาพเศรษฐกิจที่อ่อนแอลง

ว่าไปแล้วรัฐบาล คสช.ใช่มีแต่แผนเฉพาะหน้า เพราะตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2557 คสช. ประกาศแผน 10 ปีพัฒนายางทั้งระบบนับจากปี 2557-2567 ด้วยงบประมาณ 5,938 ล้านบาท ผ่านคณะกรรมการนโยบายยางพาราแห่งชาติที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน โดยบอกว่าจะลดอุปทานส่วนเกินในประเทศ จะพัฒนาคุณภาพยาง จะเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ในประเทศ จะมีการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ จะพัฒนาระบบตลาด ฯลฯ แต่ผ่านมาปีครึ่งอุตสาหกรรมยางพาราของไทยก็ยังไปได้แค่นับหนึ่งโครงการเมืองยาง(Rubber City) ยังคุยกันเรื่องเดิมๆและแก้ปัญหาเฉพาะหน้าแบบเดิมๆ

การเอานายพลเกษียณอายุที่เป็นเพื่อนร่วมรุ่นมานั่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นเรื่องเร่งด่วนที่นายกรัฐมนตรีต้องทบทวนวางคนให้เหมาะสมกับงาน เพราะแทนที่จะแอ่นอกรับผิดชอบ ความผิดพลาด รัฐมนตรีเกษตรฯกลับไปคาดโทษข้าราชการประจำและขู่จะใช้ ม.44 โยกย้ายภายใน 24 ชั่วโมง ซึ่งคงจะสร้างขวัญกำลังใจแก่คนทำงานและคงจะแก้ปัญหายางพาราคาได้อย่างรวดเร็ว

ถ้ารัฐมนตรีเกษตรฯคนปัจจุบันเป็นผู้มีวิสัยทัศน์กว้างไกล นอกจากจะนั่งชี้นิ้วในกระทรวงแล้ว ก็ควรรีบออกไปจับมือกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย และอินโดนีเซีย ใช้กลไกความร่วมมือที่มีอยู่คือ “สภาไตรภาคียางพารา” (Tripartite Rubber Council : TRC) ที่มีการร่วมจัดตั้ง สภาความร่วมมือด้านยางพาราระหว่างประเทศ (International Tripartite Rubber Council : ITRC) และ บริษัท ร่วมทุนยางพาราระหว่างประเทศ จำกัด ( International Rubber Consortium Limited : IRCo) เร่งรัดการลดพื้นที่ปลูกและผลผลิตของแต่ละประเทศ เพื่อส่งผลต่อการร่วมกันผลักดันราคายางพาราในตลาดโลก

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,122 วันที่ 14 - 16 มกราคม พ.ศ. 2559