GEN 3 ‘ใบหยก’ ปักหมุดรร.ใหม่-รุกแบรนด์อาหารญี่ปุ่น

24 ก.พ. 2561 | 15:55 น.
ปัจจุบันกลุ่ม “ใบหยก” มีพอร์ตโรงแรมในมือกว่า 13 แห่งในไทย แต่ก็ยังไม่หยุดที่จะลงทุนใหม่ด้านนี้อย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการหันมาบุกเบิกธุรกิจอาคารสำนักงานเป็นครั้งแรก รวมถึงการขยายธุรกิจ แบรนด์อาหารญี่ปุ่น ในนามพีดีเอส โฮลดิ้ง ที่กำลังปลุกปั้น เพื่อหวังระดมทุนในตลาดหลัก ทรัพย์ฯในอีกไม่กี่ปีนี้ อ่านได้จากสัมภาษณ์นายปิยะเลิศ ใบหยก รองประธานกลุ่มใบหยก และประธานบริษัท พีดีเอส จำกัด

++จ่อเปิด3รร.ใหม่กรุงเทพฯ
ในส่วนของธุรกิจโรงแรมในเครือใบหยก ปัจจุบันเรามุ่งขยายการลงทุนโรงแรมในไทย เป็นหลัก โดยโรงแรมใหม่ที่เพิ่งเปิดให้บริการอย่างไม่เป็นทางการ คือ โรงแรมแบ็งค็อกมิดทาวน์ เป็นโรงแรมระดับ 3 ดาว+ ขนาด 158 ห้อง อยู่ตรงย่านโรงหนังโคลีเซียม (เดิม) ซึ่งคาดว่าจะเปิดตัวโรงแรมอย่างเป็นทางการได้ในช่วงหลังสงกรานต์นี้ โดยเราจะเน้นเจาะกลุ่มลูกค้าของหน่วยราชการและกระทรวงต่างๆ ในย่านนี้ เพื่อเจาะตลาดการประชุมสัมมนา และเน้นตลาดคนไทย ซึ่งจะแตกต่างจากโรงแรมของเรา 3 แห่งในย่านประตูนํ้า อย่างใบหยก สกาย, ใบหยก สวีทและใบหยก บูทีค ที่เน้นกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติ

รวมทั้งยังอยู่ระหว่างการสร้างโรงแรมในลักษณะซิตี โฮเต็ล ขนาดไม่เกิน 80 ห้อง บริเวณศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ซึ่งจะใช้ว่า โรงแรมจัสติซ กรุงเทพ คาดว่าจะเปิดได้ในช่วงไตรมาส 3ของปีนี้ เพื่อรองรับกลุ่มลูกค้าคนไทยจากต่างจังหวัดที่เดินทางมาทำงานหรือทำธุระที่ศาลอาญา

[caption id="attachment_261432" align="aligncenter" width="335"] ปิยะเลิศ ใบหยก ปิยะเลิศ ใบหยก[/caption]

ขณะเดียวกันก็มองถึงการพัฒนาพื้นที่แลนด์แบงก์ บริเวณย่านสี่พระยา ที่ก็มองไว้ว่าอาจจะลงทุนโรงแรมในแบบย้อนยุค ร่วมสมัย ขนาดไม่เกิน 100 ห้อง ออกแนวคลาสสิก คล้ายๆ กับโรงแรมหัวช้าง เฮอริเทจ เพื่อสร้างความแตกต่าง และเป็นจุดขาย ซึ่งคงจะต้องรอให้โครงการก่อสร้างโรงแรมที่บริเวณศาลอาญาแล้วเสร็จเสียก่อน และศึกษาด้านการตลาดก่อน จึงจะเริ่มมองการพัฒนาในพื้นที่นี้

อีกทั้งในขณะนี้ยังมีแผนจะรีโนเวต “ใบหยก ซีโคสต์ รีสอร์ท เกาะสมุย” หลังจากได้เข้าไปซื้อกิจการรีสอร์ตแห่งนี้ เมื่อช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา

++ผุดออฟฟิศบิลดิ้งครั้งแรก
นอกจากนี้ใบหยก กรุ๊ป ได้เช่าที่ดินบริเวณถนนศรีอยุธยา ซึ่งเดิมเป็นเจ้าพระยาอาบอบนวด และเตรียมพัฒนาพื้นที่เพื่อทำ “โครงการไดมอนด์ พาร์ค” ซึ่งจะสร้างเป็นอาคารสูงไม่ตํ่ากว่า 20 ชั้น ทำเป็นอาคารสำนักงาน และพื้นที่รีเทล ในลักษณะร้านอาหาร ร้านกาแฟ บริเวณชั้น 3-4

ครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่เราลงทุนด้านอาคารสำนักงาน และกำลังเริ่มดำเนินการก่อสร้าง เนื่องจากมองว่าพื้นที่ดังกล่าวอยู่ใกล้สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส ประกอบกับเรามีโรงแรมในย่านประตูนํ้าอยู่แล้ว และพื้นที่อยู่ใกล้กัน จึงมองว่าการพัฒนาอาคารสำนักงาน จะตอบโจทย์ได้ดีกว่า

แบนเนอร์รายการฐานยานยนต์ ++รุกขยายแฟรนไชส์อาหาร
ในแง่ของธุรกิจอาหาร ซึ่งดำเนินการภายใต้ “บริษัทพีดีเอส โฮลดิ้ง จำกัด” ก็มีแผนขยายธุรกิจนี้เพิ่มมากขึ้น โดยมีเป้าหมายที่จะนำบริษัทดังกล่าวเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในช่วง 2-3 ปีนี้ เพื่อระดมทุนในการขยายธุรกิจและเปิดให้ผู้สนใจเข้ามาซื้อหุ้นได้ เนื่องจากเขามองว่าธุรกิจอาหาร ที่ทำจะโฟกัสไปที่แบรนด์อาหารญี่ปุ่น ถือว่าเติบโตเร็วมาก ในปี 2559 มีรายได้อยู่ที่ 170 ล้านบาท ปี 2560 มีรายได้อยู่ที่ 270 ล้านบาท และปี 2561 ตั้งเป้าว่าจะมีรายได้ทะลุ 300 ล้านบาท เฉลี่ยมีกำไรที่ราว 50-60 ล้านบาทต่อปี

จากการเติบโตที่ดี ทำให้เรานำแบรนด์ใหม่ๆ เข้ามาเรื่อยๆ จนปัจจุบันมีแบรนด์อาหารญี่ปุ่น 5 แบรนด์ ได้แก่ 1. เซไค โนะ ยามะจัง ร้านอาหารสไตล์ Izakaya 2. อิคโคฉะ ราเมน 3. อุชิดะ ราเมน 4. โมโมทาโร่ ราเมน 5.พาโบล ชีสทาร์ต และกำลังจะเปิดอีก 1 แบรนด์ในเร็วๆ นี้ในไทยเป็นแบรนด์ที่ 6 คือ Gram คาเฟ่แอนด์แพนเค้ก ซึ่งจะเปิดที่สยามเซ็นเตอร์ ทั้งนี้ในแบรนด์อาหารต่างๆ เหล่านี้ มี 2 แบรนด์ที่เราพัฒนาขึ้นมาเอง คือ อุชิดะ ราเมน และโมโมทาโร่ ราเมน ที่เราจะเน้นต่อยอดการขยายแบรนด์ในลักษณะแฟรนไชส์

เป้าหมายในธุรกิจนี้จากนี้ จะเน้นขยายแบรนด์อาหารไปเปิดภายในศูนย์การค้าเพิ่มขึ้น เพิ่มเติมจากที่หลายแบรนด์อาหารของเรา ที่ผ่านมาจะอยู่ในย่านสีลม สุขุมวิท เป็นหลัก เช่น Gram คาเฟ่แอนด์แพนเค้ก ในเร็วๆ นี้ก็จะไปเปิดที่ ส่วนพาโบล ชีสทาร์ต ปัจจุบันเปิดที่สยามพารากอน ก็มองจะขยายไปจุดต่างๆ ที่เป็นย่านช็อปปิ้งเพิ่มขึ้น

ขณะเดียวกันเราก็เริ่มมองการขายแฟรนไชส์ เพื่อขยายแบรนด์ที่เราพัฒนา ไปยังต่างประเทศด้วย โดยมองทั้งการร่วมทุน และขายแฟรนไชส์ เช่น การเปิดร้านที่เมืองฟูกุโอกะ ในช่วงไตร มาส 2 ปีนี้ เป็นสาขาแรก รวมไปถึงมีหลายประเทศสนใจจะซื้อแฟรนไชส์เช่น จีน เมียนมา ลาว เป็นต้น

โปรโมทแทรกอีบุ๊ก ++ดันธุรกิจอาหารโต20%
ความแตกต่างในการบริหารธุรกิจโรงแรมกับธุรกิจแบรนด์อาหารญี่ปุ่น ผมมองว่าก็คล้ายๆ กัน แต่โรงแรมเป็นสิ่งที่คลุกคลีมานาน มันก็เติบโตไปตามการขยายตัวของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ขณะที่อาหารเป็นสิ่งใหม่สำหรับการขยายธุรกิจ และอาจจะบริหารยากกว่านิดหน่อย เพราะเป็นเรื่องของเทรนด์อาหารที่ค่อนข้าง วูบวาบ

เราต้องพัฒนาและก้าวให้ทันกับกระแสความนิยมของอาหาร ที่มักจะเปลี่ยนแปลงได้เร็ว และตอนนี้เราก็เริ่มเห็นกำลังซื้อจากต่างจังหวัด ทำให้ก็มีแผนขยายแบรนด์ร้านอาหารไปยังศูนย์การค้าในต่างจังหวัดด้วย โดยตั้งเป้าการขยายตัวของธุรกิจอาหารอยู่ที่อย่างน้อย 15-20% ต่อปี

ทั้งหมดเป็นทิศทางในการบริหารโรงแรมและธุรกิจอาหาร ภายใต้การดูแลของทายาทรุ่น 3 ใบหยก

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,342 วันที่ 22 - 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว