ว่าด้วย Banking Agent

22 ก.พ. 2561 | 23:05 น.
TP10-3342-3B เห็นว่าเป็นกระแสครึกโครมเมื่อช่วงปลายสัปดาห์ที่แล้วเกี่ยวกับข่าวที่ร้านสะดวกซื้อชื่อดังได้รับสิทธิเป็น แบงกิ้ง เอเยนต์ (banking agent) จนธนาคารแห่งประเทศไทยต้องออกมาปฏิเสธ และชี้แจงว่ายังไม่ได้ให้สิทธิอะไรก็แล้วแต่ แต่กระนั้นก็เกิดกระแสถึงการ “กินรวบ” ไปแล้วของร้านสะดวกซื้อเลข 7 จะกินรวบ หรือไม่กินรวบ อย่างไร ไม่ขอพูดถึงเรื่องนี้ครับ

เรามาดูกันดีกว่าว่า แบงกิ้ง เอเยนต์นั้น คืออะไร แน่นอนแปลกันตามตัวก็คือ ผู้ที่ทำหน้าที่แทนธนาคารนั่นเอง ซึ่งในต่างประเทศนั้นใช้ระบบนี้กันมานานแล้วครับ แบงกิ้ง เอเยนต์ เป็นได้ทั้งไปรษณีย์ ร้านขายของชำข้างทาง เป็นต้น หรือแม้กระทั่งร้านกาแฟ ก็เป็นได้ ร้านยาก็เป็นได้ ร้านขายลอตเตอรี่ ก็เป็นได้

TP10-3342-1B ในญี่ปุ่น จะเห็นคนเดินเข้าไปในไปรษณีย์แล้วถอนเงินออกมาใช้ ก็มีครับ เหมือนกับในออสเตรเลีย ที่ลูกค้าทุกธนาคารก็สามารถทำธุรกรรมการเงินได้ที่ไปรษณีย์เหมือนกัน ส่วนในฝรั่งเศสในพื้นที่ชนบทนั้น ธนาคารเครดิต อากริโกลด์ ถึงขนาดใช้ร้านขายของชำเล็กๆ เป็นตัวแทนของแบงก์ ในบราซิลก็มีการใช้ร้านขายลอตเตอรี่เล็กๆ ครับ

ถามว่าในเมืองไทยมีหรือไม่ ที่ผ่านมา เราก็ได้สัมผัสระบบแบงกิ้ง เอเยนต์มาแล้วเหมือนกัน ผมเชื่อว่าคนไทย 80% จ่ายค่านํ้าประปา จ่ายค่าโทรศัพท์ จ่ายค่าบัตรเครดิต และอีกสารพัดค่า ผ่านบริการเคาน์เตอร์เซอร์วิส ที่ให้บริการตามร้านสะดวกซื้อและอื่นๆ แม้กระทั่งบัตรโดยสารเครื่องบินสมัยนี้ก็จ่ายที่ร้านสะดวกซื้อได้

คงเหลืออยู่ไม่กี่คนล่ะครับ ที่ยังคงชำระค่าบริการเหล่านี้ที่เคาน์เตอร์ธนาคารโดยตรง

เพียงแต่ว่า ระบบแบงกิ้ง เอเยนต์ แบบเต็มรูปแบบนั้น จะครอบคลุมถึงบริการที่มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการถอนเงิน การฝากเงิน การโอนเงิน และอีกสารพัดบริการของธนาคาร ที่ในปัจจุบันในประเทศไทยเรายังไม่สามารถทำได้ครับ

TP10-3342-2B ถ้าธนาคารแห่งประเทศไทยให้ใบอนุญาตแบงกิ้ง เอเยนต์ จริงไม่ว่าใครจะเป็นผู้คว้าไป ก็น่าจะเป็นผลดีต่อผู้บริโภคโดยเฉพาะในพื้นที่ชนบทห่างไหล ที่จะสามารถเข้าถึงบริการของธนาคารได้สะดวกมากขึ้น ในยุคที่ธนาคารพาณิชย์ กำลังเร่งลดสาขาลง และหันไปใช้ระบบออนไลน์มากขึ้น ซึ่งผมเชื่อว่า คนเฒ่าคนแก่ ในพื้นที่ต่างจังหวัดที่ต้องติดต่อทำธุรกรรมกับธนาคารก็ไม่น่าจะเข้าระบบการทำธุรกรรมผ่านสมาร์ทโฟนนัก

ในขณะที่แบงก์เอง ก็พยายามที่จะลดรายจ่าย และปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัย 4.0 ลดภาระค่าใช้จ่ายการดำเนินการของสาขาลงไปเรื่อยๆ

เพียงแต่ว่า ถ้าระบบแบงกิ้ง เอเยนต์ เกิดขึ้นมาจริงๆ เต็มรูปแบบในประเทศไทย ผมเห็นว่าเราจะได้เห็นการเปลี่ยนมือของ “เงินสด” จำนวนมหาศาล จากที่กระจายอยู่ตามธนาคารต่างๆ ไปรวมศูนย์อยู่กับผู้ได้รับใบอนุญาตนั่นเอง คิดดูครับว่าจะมีปริมาณเงินสดหมุนเวียนมากขึ้นเท่าไหร่ ที่บริษัทนั้นๆจะได้ไปหมุนก่อน แค่นึกภาพเล่นๆ ก็น่าตื่นตาตื่นใจแล้วครับ
รอดูกันต่อไปครับว่าใครจะคว้าสิทธิใบอนุญาตแบงกิ้ง เอเยนต์ กัน ...

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,342 วันที่ 22 - 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว