รื้อ80แท่นผลิตปิโตรเลียม เริ่มปี62จี้ภาคประชาชนร่วมตัดสินใจใช้3แนวทาง

24 ก.พ. 2561 | 11:40 น.
ภาครัฐเดินหน้ารื้อถอนแท่นผลิตปิโตรเลียมกลางอ่าวไทย ปี 62-65 ประเดิม 80 แท่น จาก 452 แท่น ด้านนักวิชาการ จี้ภาคประชาชนควรให้ความสนใจ มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ 3 รูปแบบ

นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากที่กฎหมายได้กำหนดให้ผู้รับสัมปทานปิโตรเลียมมีหน้าที่ในการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง ให้แก่รัฐบาลโดยไม่คิดมูลค่า เมื่อสิ้นระยะเวลาการผลิตปิโตรเลียม พร้อมต้องกำหนดแผนงาน ประมาณค่าใช้จ่าย และหลักประกันในการรื้อถอน มายังกรมเชื้อเพลิงธรรมชาตินั้น

ล่าสุดทางผู้รับสัมปทาน เช่น บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (ปตท.สผ.) ได้ส่งแผนการดำเนินงานในเบื้องต้นแล้ว ซึ่งจะต้องมาดูว่าแผนการดำเนินงานของทั้ง 2 บริษัท ครบถ้วนหรือไม่ ก่อนที่จะส่งให้คณะอนุกรรมการพิจารณาแผนดำเนินการรื้อถอนพิจารณา และประเมินค่ารื้อถอนในการจ่ายหลักประกันในการรื้อถอนให้กับภาครัฐ ก่อนจะส่งให้คณะกรรมการปิโตรเลียมพิจารณาเห็นชอบภายในปีนี้

TP09-3342-1A ส่วนแนวทางการรื้อถอนนั้นทางผู้รับสัมปทานจะเป็นผู้กำหนดอยู่ในแผนว่าจะใช้วิธีใด และจะต้องได้รับความเห็นชอบจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเข้ามารับผิดชอบในการรื้อถอนด้วย เพื่อเป็นหลักประกันในการดูแลด้านสิ่งแวดล้อม
นายเผดิมศักดิ์ จารยะพันธุ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่ใช้ในกิจการปิโตรเลียมทางทะเล ในช่วงปี 2562-2565 จะเริ่มมีการรื้อถอนแท่นขุดเจาะปิโตรเลียม 80 แท่น จากทั้งหมด 452 แท่น หลังจากแหล่งผลิตปิโตรเลียมเหล่านี้หมดอายุสัมปทานลง ซึ่งการรื้อถอน อยากให้สังคมให้ความสนใจเพราะเป็นเรื่องที่กำลังเกิดขึ้น และผู้ที่มีส่วนร่วมทุกภาคส่วนโดยเฉพาะภาคประชาชนควรมีโอกาสได้รับรู้ ในข้อมูล ข้อเท็จจริงต่างๆ เปิดเผยให้เข้าถึงได้ เนื่องจากยังไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทย สังคมยังรู้เรื่องนี้น้อยมาก จึงต้องบอกกับประชาชนให้รับรู้ว่าจะมีการรื้อถอนแท่น เพื่อแสวงหาทางออกร่วมกัน

สำหรับการดำเนินการรื้อถอนแท่นดังกล่าว มี 3 แนวทาง โดยแนวทางแรก เป็นการรื้อถอนทั้งหมด โดยนำสิ่งติดตั้งทุกประเภทเหนือนํ้า และส่วนใต้นํ้าทะเลขึ้นบนฝั่ง เพื่อเข้าสู่กระบวนการทำลาย หรือนำกลับมาใช้ใหม่

โปรโมทแทรกอีบุ๊ก ส่วนแนวทางที่ 2 ไม่รื้อถอน เพื่อนำมาเป็นสถานีกลางทะเล เช่น สถานีวิจัย โรงแรมกลางทะเล สถานีสังเกตการณ์ สถานีจอดเรือรบ เป็นต้น และ แนวทางที่ 3 แท่นส่วนบนนำไปกำจัด แท่นส่วนล่างวางในทะเลเป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตใต้นํ้า

ส่วนจะเป็นแนวทางใดนั้น จะต้องร่วมกันหากระบวนการที่เหมาะสม หรือทางออกในการกำจัดสิ่งของเหลือใช้เหล่านั้นให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศ

นายธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีฝ่ายกิจการพิเศษและประชาสัมพันธ์ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า การรื้อถอนแท่นขุดเจาะและผลิต จะถูกนำไปกำจัดที่บริเวณท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งมีหน่วยงานราชการที่กำกับดูแลด้านสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว

นายมงคล สุขเจริญคณา นายกสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย กล่าวว่า แนวทางการรื้อถอนแท่นขุดเจาะปิโตรเลียมนั้น ไม่ควรรื้อแท่นด้านล่างใต้ทะเลออกไป เพราะสามารถใช้ประโยชน์จากการทำปะการังเทียม และเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์สิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเลได้

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,342 วันที่ 22 - 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว