ลดนาปรัง1.9ล้านไร่วืดเป้า เหตุราคาข้าวพุ่งชาวนาแห่ปลูก - 4 แพ็กเกจรัฐไม่จูงใจ

24 ก.พ. 2561 | 11:38 น.
4 แพ็กเกจกระทรวงเกษตรฯ จูงใจลดพื้นที่ทำนาปรัง 1.9 ล้านไร่ งบกว่า 3 พันล้านส่อเอาไม่อยู่ หลังนํ้าท่าดี ราคาข้าวขยับ ชาวนาแห่ปลูกพรึบ หวั่นราคาตก นายกสมาคมชาวนาฯ ระบุเหตุลดพื้นที่ไม่ได้ผล จากอ่อนประชาสัมพันธ์ ได้เงินช้า

จากราคาข้าวเปลือกที่ชาวนาขายได้เวลานี้ขยับสูงขึ้น เช่นข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลิเฉลี่ยที่ 1.6-1.8 หมื่นบาทต่อตัน ข้าวเปลือกเจ้าเฉลี่ยที่ 8,000-8,500 บาทต่อตันสูงสุดในรอบ 5 ปี ขณะที่รัฐบาลมีโครงการลดพื้นที่ทำนาปรัง เพื่อป้องกันราคาข้าวตกตํ่านั้น

นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าคณะทำงานวางแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจรในฤดูกาลผลิตปี 2560/61 ใช้หลักคิด “ตลาดนำการผลิต” ได้กำหนดเป้าหมายปริมาณความต้องการผลผลิตข้าวในปี 2560/61 จำนวน 30.25 ล้านตันข้าวเปลือก จากที่ผ่านมาเคยผลิตได้เฉลี่ยปีละ 36.1 ล้านตันข้าวเปลือก ดังนั้นจำเป็นต้องลดการผลิตข้าวเปลือกลงโดยมี 4 โครงการ จูงใจชาวนาลดพื้นที่ปลูกข้าวในฤดูนาปรังปี 2561 ลง 1.9 ล้านไร่ทั่วประเทศ ใช้งบประมาณ 3,609 ล้านบาท (ดูกราฟิกประกอบ) ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายปริมาณผลผลิต

TP08-3342-A สำหรับโครงการส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลายซึ่งเป็น หนึ่งในมาตรการสำคัญ จะส่งเสริมปลูกข้าวสลับหรือร่วมกับพืชอื่น เช่น ข้าวโพดหวาน ข้าวโพดฝักอ่อน ถั่วเหลือง ถั่วเหลืองฝักสด ถั่วเขียว ถั่วลิสง และพืชผัก โดยผลผลิตใช้เป็นวัตถุดิบป้อนโรงงานอาหารสัตว์ และแปรรูปอาหาร ซึ่งในแต่ละปีมีความต้องการวัตถุดิบจำนวนมาก แต่ที่ผ่านมาชาวนาทำนาเป็นพืชเชิงเดี่ยว กล่าวคือ ปลูกข้าวมากกว่า 2 รอบต่อปี ไม่ทำการเพาะปลูกพืชอื่นสลับหลังการเก็บเกี่ยวข้าว ส่งผลให้โรงงานขาดแคลนวัตถุดิบ และต้องนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศมากขึ้นทุกปี เช่น ถั่วเหลือง นำเข้าปีละ 2.2 ล้านตัน ถั่วลิสง นำเข้าปีละ 9.5 หมื่นตัน ถั่วเขียวนำเข้าปีละ 3 หมื่นตัน เป็นต้น

“เมื่อเทียบกับ 2 ปีที่ผ่านมา ปีนี้จะเห็นว่ามาตรการต่างๆ ชาวนาไม่ค่อยตอบสนอง เนื่องจาก ปริมาณนํ้าท่าดี ราคาข้าวจูงใจ จึงไม่เชื่อคำแนะนำในการลดการปลูกข้าว แต่กลับปลูกกันมากขึ้น ที่ผ่านมากรมได้ทำการประชาสัมพันธ์มาโดยตลอดเพราะเป็นห่วงว่าผลผลิต ข้าว จะเพิ่มขึ้น และจะส่งผลให้ราคาตกตํ่า แต่ก็ไม่ค่อยได้ผล”

ทั้งนี้เห็นได้จากโครงการต่างๆ อาทิ โครงการส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลาย ที่รัฐบาลจะมีการจูงใจด้วยการจ่ายเงินให้เกษตรกรที่งดทำนาปรัง ในอัตราไร่ละ 2,000 บาทไม่เกิน 15 ไร่ โดยมีเป้าหมายลดการปลูกข้าวลง 4.5 แสนไร่ ผลการดำเนินงาน รายงาน ณ วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2561 มีเกษตรกรสมัครเข้าร่วมโครงการ 4.1 หมื่นราย พื้นที่ 3.44 แสนไร่ คิดเป็น 76.6% ของเป้าหมาย มีเกษตรกรแจ้งยืนยันการปลูกพืชหลากหลายแล้ว จำนวน 2.04 หมื่นราย พื้นที่ 1.84 แสนไร่ คิดเป็น 53.5% ของพื้นที่สมัครเข้าร่วมโครงการ คณะทำงานตรวจสอบพื้นที่ ระดับตำบล ได้ตรวจสอบแปลงปลูกพืชหลากหลายของเกษตรกรแล้ว จำนวน 323 ราย พื้นที่ 2,629 ไร่ คิดเป็น 1.4% ของพื้นที่ยืนยันการปลูก

ส่วนโครงการขยายการปลูกพืชปุ๋ยสด มีเป้าหมาย 4 แสนไร่ รับสมัคร จำนวน 4.1 หมื่นราย พื้นที่ 3.44 แสนไร่ (76.6% จากเป้าหมาย) เกษตรกรยืนยันการปลูก 2.49 หมื่นราย พื้นที่ 2.19 แสนไร่ (คิดเป็น 63.83%) ปัจจุบัน ผ่านการตรวจสอบ แล้ว 1,502 ราย พื้นที่ 1.25 หมื่นไร่ คิดเป็น 5.7% จากพื้นที่ยืนยันการปลูก เป็นต้น

[caption id="attachment_203124" align="aligncenter" width="503"] สุเทพ คงมาก นายกสมาคมชาวนาไทย สุเทพ คงมาก นายกสมาคมชาวนาไทย[/caption]

ด้านนายสุเทพ คงมาก นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย คณะทำงานวางแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร เผยว่า จากการลงพื้นที่ไปพบชาวนาในภาคต่างๆ พบว่าชาวนาไม่เข้าใจ เจ้าหน้าที่ไม่ลงไปประชาสัมพันธ์ ส่งผลให้การลดพื้นที่ทำนาไม่ได้ผล ประกอบกับได้เงินช่วยเหลือล่าช้า หลายพื้นที่ชาวนายังไม่ได้เงินเลย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,342 วันที่ 22 - 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว