เปิด4ร่างกฎหมายท้องถิ่น ติดดาบ‘ผู้ว่าฯ’ฟันอบจ.-อบต.พ้นเก้าอี้

23 ก.พ. 2561 | 07:26 น.
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ถือเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลกลาง เพื่อลงไปสู่การ ปฏิบัติกับประชาชนอย่างทั่วถึง แต่ทว่ากลไกนี้ถูกครหาว่าเป็นกลไกที่มีปัญหา “ทุจริต” อย่างกว้างขวาง

จึงมีการแก้ไขกฎหมายของอปท.พร้อมกันทั้ง 4 ฉบับ ที่บังคับใช้มาอย่างยาวนาน คือ พระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) พ.ศ. 2540 พระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) พ.ศ. 2537 พระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2546 และพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น พ.ศ.2545

“บทบัญญัติบางประการไม่มีความสอดคล้องกับสภาวการณ์ในปัจจุบันและเกิดปัญหาการบังคับใช้กฎหมายในทางปฏิบัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของสมาชิกและผู้บริหารองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) รวมทั้งกระบวนการสอบสวนและวินิจฉัย กรณีที่มีข้อสงสัยเกี่ยวกับสมาชิกสภาอบจ. หรือผู้บริหาร อบจ. ซึ่งมีความล่าช้า ไม่สามารถป้องกันไม่ให้บุคคลที่ขาดคุณสมบัติกลับเข้ามาดำรงตำแหน่งอีกครั้งหนึ่งได้”

นี่คือข้อความที่ระบุ “เหตุผล” ในการแก้ไข พ.ร.บ. อบจ. ที่บังคับใช้มานานกว่า 20 ปี ซึ่งเป็นเหตุผลเดียวกันกับการขอแก้ไขพ.ร.บ.ฉบับเก่าของท้องถิ่นฉบับอื่น

“ผู้ว่าราชการจังหวัด” จะมีอำนาจสอบสวนและวินิจฉัยนักการเมืองท้องถิ่นใน อบจ. อบต. และเทศบาล

++ผู้ว่าฯสั่งพ้นจากตำแหน่งได้
มาตรา 3 ของร่างพ.ร.บ. อบจ. ร่างพ.ร.บ. อบต. และร่าง พ.ร.บ.เทศบาล ระบุตรงกันว่า

“เมื่อมีข้อสงสัยเกี่ยวกับความเป็นสมาชิกภาพสิ้นสุดลง ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดดำเนินการสอบสวนและวินิจฉัยโดยเร็ว แม้ ว่าผู้นั้นจะได้พ้นจากตำแหน่งไปแล้วไม่ว่าด้วยเหตุใด เว้นแต่เพราะเหตุตาย”

ส่วนในกรณีที่ผลการสอบสวนปรากฏว่ามีเหตุ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งให้สมาชิกสภาอบจ.นั้นพ้นจากตำแหน่ง โดย ให้ระบุเหตุผลที่ทำให้พ้นจากตำแหน่งไว้ด้วย...”

แต่ในร่าง พ.ร.บ.อบจ. จะระบุไว้ต่างจากฉบับอื่น คือ “หากผลการสอบสวนปรากฏว่าไม่มีมูล ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งยุติเรื่อง ถ้าเห็นว่าผู้ถูกสอบมีพฤติการณ์ตามที่ถูกสอบสวน ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเสนอผลการสอบสวนพร้อมความเห็นต่อรัฐมนตรีภายใน 15 วัน นับแต่ วันที่สอบสวนเสร็จ และให้รัฐมนตรีสั่งให้ผู้ถูกสอบสวนพ้นจากตำแหน่ง โดยให้ระบุเหตุผลที่ทำให้พ้นจากตำแหน่งไว้ด้วย”

แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ01-3-1 ++4ข้อห้ามอบจ.-อบต.-เทศบาล
และอีกบทบัญญัติที่ตรงกัน คือ “สิ่งต้องห้าม 4 เรื่อง” สำหรับนักการเมืองท้องถิ่น ไล่ตั้งแต่ นายก อบจ. รองนายก อบจ. เลขานุการนายก อบจ. ที่ปรึกษานายก อบจ. นายกเทศมนตรี รองนายกเทศมนตรี ที่ปรึกษานายกเทศมนตรี เลขานุการนายกเทศมนตรี นายก อบต. รองนายก อบต. และเลขานุการ อบต.

“ไม่ควรกระทำอย่างใดอย่างหนึ่ง” ถูกบัญญัติเอาไว้ว่า

1. เป็นผู้มีส่วนได้เสียไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมในสัญญา หรือกิจกรรมที่กระทำ หรือจะกระทำกับ หรือให้แก่อบจ. อบต. เทศบาลนั้น หรือมีส่วนได้เสียไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมในสัญญาหรือกิจการที่กระทำกับ หรือให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น โดยมีพฤติการณ์แสดงให้เห็นว่าเป็นการต่างตอบแทน หรือเอื้อประโยชน์ส่วนตนระหว่างกัน

2. ทอดทิ้งหรือละเลยไม่ปฏิบัติการตามอำนาจหน้าที่หรือปฏิบัติการไม่ชอบด้วยอำนาจหน้าที่ หรือประพฤติตนฝ่าฝืนความสงบเรียบร้อยหรือสวัสดิภาพของประชาชน หรือมีความประพฤติในทางที่จะนำมาซึ่งความเสื่อมเสียแก่ศักดิ์ตำแหน่ง หรือแก่ อบจ. อบต. เทศบาล หรือแก่ส่วนราชการ

3. การกระทำอันเป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ที่กระทำโดยสุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน กฎหมายว่าด้วยยาเสพติดในฐานเป็นผู้ผลิต นำเข้า ส่งออก หรือผู้ค้า กฎหมายว่าด้วยการพนันในฐานความผิดเป็นเจ้ามือหรือเจ้าสำนัก กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ หรือกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินในความผิดฐานฟอกเงิน หรือตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ในความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่หรือถือว่าทุจริตต่อหน้าที่

และ 4. จงใจไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย กฎ ระเบียบของทางราชการ หรือมติคณะรัฐมนตรี อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง

TP14-3342-A ++คดีติดตัวห้ามลงสมัคร
แต่ด่านแรกที่จะคัดกรองนักการเมืองท้องถิ่นเข้ามาสู่ตำแหน่งได้ คือ พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น ฉบับใหม่

ที่มีการกำหนดคุณสมบัติและคุณลักษณะต้องห้ามของสมาชิกและคณะผู้บริหารท้องถิ่นไว้อย่างชัดเจนมากขึ้น “ปิด ประตู” ห้ามเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้ง หากเป็นบุคคลที่...

“อยู่ระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไม่ว่าคดีนั้นจะถึง ที่สุดแล้วหรือไม่”

“เป็นบุคคลล้มละลายหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต”

“อยู่ระหว่างถูกระงับการใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นการชั่วคราว หรือถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง”

“เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำการอันเป็นการทุจริตในการเลือกตั้ง”

“เป็นตุลาการศาลรัฐ ธรรมนูญหรือผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ”

นอกจากนี้ร่างกฎหมายฉบับนี้ยังบัญญัติครอบคลุมถึง อดีตนักการเมืองท้องถิ่นและอดีตข้าราชการประจำ ที่มีประวัติไม่ดีในการปฏิบัติหน้าที่ โดยระบุห้ามบุคคลที่...

บาร์ไลน์ฐาน “เคยถูกคำสั่งให้พ้นจากตำแหน่งใดๆ ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ตนสมัครรับเลือกตั้ง เพราะเหตุมีส่วนได้เสียไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม...”

“เคยถูกสั่งให้พ้นจากตำแหน่งใดๆ ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพราะทอดทิ้งหรือละเลยไม่ปฏิบัติการตามอำนาจหน้าที่ หรือปฏิบัติการไม่ชอบ ด้วยอำนาจหน้าที่...”

“เคยถูกสั่งให้พ้นจากราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพราะทุจริตต่อ หน้าที่หรือถือว่ากระทำการทุจริตต่อหน้าที่หรือประพฤติมิชอบในวงราชการ”

“เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม หรือกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ...”

และแม้ว่าจะเขียนบัญญัติไว้แน่นหนาขนาดนี้แล้ว ยังมีผู้ที่ฝ่าฝืนกฎหมาย ร่างกฎหมายฉบับนี้ก็ระบุโทษเอาไว้ว่า

“ผู้ใดลงสมัครรับเลือกตั้งโดยรู้อยู่แล้วว่าตนเป็นผู้ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามในการรับสมัครรับเลือกตั้ง ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นถึงสองแสนบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดสิบปี”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,342 วันที่ 22 - 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว