บีโอไอเชือดลงทุนหาย2แสนล. ตีกลับโครงการไม่พร้อม/ปี 59 ตั้งเป้ายื่นส่งเสริม 4.5 แสนล.

15 ม.ค. 2559 | 00:00 น.
บีโอไอ เผย 2 ปี เงินลงทุนหาย 2 แสนล้านบาท ตีกลับคำขอยื่นส่งเสริมลงทุนโครงการที่ไม่มีความพร้อม แต่มั่นใจปี 59 จะเร่งอนุมัติส่งเสริมโครงการค้างท่อเงินลงทุน 6 แสนล้านบาท หลังพลาดเป้าจากปีก่อน พร้อมตั้งเป้ายื่นขอส่งเสริมเพิ่มเป็น 2 เท่าที่ 4.5 แสนล้านบาท มั่นใจทำได้แน่ จากมาตรการกระตุ้นการลงทุน และสิทธิประโยชน์ที่ให้ซูเปร์คลัสเตอร์ และ10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย จี้นักลงทุน 1.6 พันราย เงินลงทุนกว่า 6 แสนล้านบาท ลงทุนจริงในปี 59-60

นางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอ เปิดเผยถึงแผนการดำเนินงานส่งเสริมการลงทุนในปี 2559 ว่า นับตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมาได้มีการขอยื่นรับส่งเสริมการลงทุน คิดเป็นมูลค่าเงินลงทุนรวม 2.2 ล้านล้านบาท และในปี 2558 มีผู้ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนประมาณ 2.18 แสนล้านบาท หรือรวมมูลค่าเงินลงทุนที่ยื่นขอส่งเสริมจำนวน 2.4 ล้านล้านบาท รวมกว่า 3 พันโครงการ แต่เนื่องจากมีหลาย 10 โครงการที่ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งยังไม่มีความพร้อมหรือตอบข้อชี้แจ้งบีโอไอไม่ได้ ทำให้บอร์ดบีโอไอไม่สามารถพิจารณาอนุมัติหรือต้องยกเลิกโครงการดังกล่าวคิดเป็นจำนวนเงินลงทุนราว 2 แสนล้านบาท

โดยในช่วงปีที่ผ่านมาบีโอไอได้ตั้งเป้าการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนไว้ 1.4 ล้านล้านบาท แต่ปรากฏว่าอนุมัติได้จริงราว 8 แสนล้านบาท ซึ่งยังเหลือโครงการที่ค้างท่ออยู่อีกราว 6 แสนล้านบาท ดังนั้น ในปีนี้บีโอไอจะเร่งอนุมัติให้การส่งเสริมได้ทั้งหมด พร้อมตั้งเป้าหมายที่คาดว่าจะมีผู้ขอรับส่งเสริมอยู่ที่ประมาณ 4.5 แสนล้าบาท ถือเป็นการเพิ่มขึ้น 2 เท่าจากปีก่อน ที่ไม่สามารถดำเนินงานได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ 3.5 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ การตั้งเป้าหมายดังกล่าวบีโอไอมีความเชื่อมั่นว่าจะเดินไปตามที่วางไว้ หลังจากที่ภาครัฐมีมาตรการกระตุ้นการลงทุนออกมา ไม่ว่าจะเป็นนโยบายการเร่งรัดการลงทุนโดยเปิดให้ภาคเอกชนที่สนใจยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ทั่วไปจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้เพิ่มเติม 1-4 ปี และลดหย่อน 50 % เพิ่มเติมอีก 5 ปี และการลงทุนใน 6 กิจการเป้าหมายที่นำมาให้การส่งเสริมเป็นพิเศษในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้สูงสุด 8 ปี แต่จะต้องยื่นขอรับส่งเสริมภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2559 รวมถึงนโยบายการส่งเสริมการลงทุนในรูปแบบคลัสเตอร์ จะได้รับสิทธิประโยชน์สูงสุด แต่ต้องยื่นขอรับส่งเสริมภายในสิ้นปี 2559 อีกทั้ง การจัดทำแผนชักจูงนักลงทุนหรือโรดโชว์ในประเทศเป้าหมายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น จีน ออสเตรเลีย เกาหลีใต้และไต้หวัน เป็นต้น

นางหิรัญญา กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ในอีกระยะ 2-3 เดือนข้างหน้า ทางรัฐบาลจะมีมาตรการกระตุ้นการลงทุนใหม่ๆ ออกมาอีก เพื่อเป็นมาตรการต่อยอดจากสิทธิประโยชน์ที่มีอยู่ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำรายละเอียดลงลึกในประเภทกิจการ ที่จะมาพิจารณาดูว่ามีกิจการประเภทใดบ้างที่จะลดวงเงินในการลงทุน สามารถที่จะมายื่นขอรับการส่งเสริมได้ หรือยกเว้นภาษีเงินได้เพิ่มเติม โดยเฉพาะกิจการที่สนับสนุนการท่องเที่ยว เพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในท้องถิ่น เป็นต้น รวมถึงการ ที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้มีการจัดตั้งกองทุนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน วงเงิน 1 หมื่นล้านบาท ก็กำลังพิจารณาในรายละเอียดว่าจะสามารถมาสนับสนุนประเภทกิจการไหนบ้าง และลักษณะเงื่อนไขในการให้เงินสนับสนุน ที่จะช่วยกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในซูเปอร์คลัสเตอร์และใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่แห่งอนาคตอีกทั้ง เพื่อให้กลุ่มผู้ประกอบการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนไปแล้วตั้งแต่ปี 2557-2558 แต่ยังไม่เกิดการลงทุนจริง ทางบีโอไออยู่ระหว่างการจัดทำผลการสำรวจความพร้อมของนักลงทุนเกี่ยวกับมาตรการเร่งรัดการลงทุน ที่จะแล้วเสร็จในอีก 1 สัปดาห์ข้างหน้า ซึ่งจะทำให้ทราบว่านักลงทุนที่ได้รับการอนุมัติส่งเสริมไปแล้ว มีความสนใจหรือมความพร้อมที่จะลงทุนในช่วงปี 2559-2560 ตามมาตรการกระตุ้นการลงทุนมากน้อยแค่ไหน โดยเบื้องต้นคาดว่าจะมีโครงการลงทุนที่อยู่ในกลุ่มที่สามารถแจ้งความพร้อมได้ประมาณ 1.6 พันโครงการ คิดเป็นเม็ดเงินลงทุนราว 6 แสนล้านบาท

ส่วนการลงทุนจริงที่เกิดขึ้นในปี 2558 นั้น คาดว่าจะอยู่ราว 4.5-5 แสนล้านบาท โดยการลงทุนจากต่างประเทศ อันดับ 1 ยังเป็นญี่ปุ่น รองลงมาเป็นสิงคโปร์ อินโดนีเซีย จีน และสหรัฐอเมริกา เป็นต้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,122 วันที่ 14 - 16 มกราคม พ.ศ. 2559