คิดการใหญ่แบบ Google

23 ก.พ. 2561 | 23:27 น.
เป้าหมายใหญ่ในการเลือกงานของหลายๆ คน คือ รายได้ แต่การที่เลือกงานในลักษณะนั้น เราลืมคิดไปว่า “เงิน” หรือ “รายได้” คือกับดัก ที่ทำให้สุดท้ายแล้ว อิสรภาพในการเลือกงานที่ชอบและการหางานที่ใช่ มีความหมายและสร้างความสุขให้กับเราจะหายไป เพราะเป้าหมายรายได้ที่เป็นตัวเงิน มันมักขยับเพิ่มขึ้นเสมอ ซึ่งนั่นไม่ใช่แนวทางของ “ไมเคิล จิตติวาณิชย์” ผู้จัดการฝ่ายการตลาดด้านธุรกิจ Google ประเทศไทย

“ไมเคิล จิตติวาณิชย์” หรือ “คุณไมค์” ผู้จัดการฝ่ายการตลาดด้านธุรกิจ Google ประเทศไทย คนที่หนุ่มวัย 37 ปี ที่เข้ามาร่วมงานกับ Google ได้ 5 ปี หลังจากเรียนจบด้านวิศวะ คอมพิวเตอร์ ที่สหรัฐอเมริกา ก็ทำงานคอนซัลต์ด้านไอที ที่อเมริกา ก่อนจะมาทำคอนซัลต์ด้านมาร์เก็ตติ้ง กับ McKinsey & Company และได้ทำงานด้านมาร์เก็ตติ้งที่ดีแทค

[caption id="attachment_261094" align="aligncenter" width="335"] ไมเคิล จิตติวาณิชย์ ไมเคิล จิตติวาณิชย์[/caption]

สาเหตุที่หนุ่มนักการตลาดคนนี้ เลือกที่จะทำงานกับ Google เป็นเพราะ Mission&Vision คน และวัฒนธรรมองค์กร ของ Google Mission&Vision ของ Google คือ ไม่ว่าจะทำผลิตภัณฑ์ใดๆ จะต้องมองก่อนว่า ผลิตภัณฑ์นั้นให้ประโยชน์อะไรกับผู้ใช้ และผู้ใช้จะได้ประโยชน์อย่างไร ก่อนที่จะมาคิดเรื่องรายได้

ส่วนของ “คน” ที่ Google จะมีคัดเลือกคนที่มีความเป็น Googliness หรือความเป็น Google เพราะ
ฉะนั้น คนทำงานจึงมีแนวคิด และมีลักษณะการทำงานที่ไปในทิศทางเดียวกัน เอื้อต่อกัน คนทำงานมีความฉลาดและความเป็นมิตร ทำให้การทำงานคล่องตัว และส่วนสุดท้ายคือ วัฒนธรรมองค์กร ที่โฟกัสกับเรื่องการให้ความร่วมมือ (collaboration) และการสร้างงานที่มีอิมแพ็กต์ในสเกลใหญ่

“มันเป็นอะไรที่น่าตื่นเต้น เวลาที่เราทำอะไร เราจะไม่มองอะไรที่เล็กๆ เวลาเราพูดถึงกูเกิล คนจะพูดถึงเรื่อง 10 เท่า เราจะมองภาพใหญ่เสมอ ทำอะไรต้องให้ได้อิมแพ็กต์ใหญ่ เราจะไม่พูดถึงการเติบโต 10-20% แต่เราพูดว่าเราจะโตกี่เท่าตัว เวลาเรามองภาพใหญ่ ก็ทำให้เราคิดอะไรนอกกรอบได้มากขึ้น ถ้าทำอะไรเหมือนๆ เดิมมันจะไม่สามารถโตขนาดนั้นได้”

MP26-3342-2A ทั้งหมดนั่นคือเสน่ห์ของ Google ที่ทำให้นักบริหารหนุ่มคนนี้ สนุกและท้าทายกับการทำงานเสมอ

และที่สำคัญ การทำงานอยู่กับเทคโนโลยี ที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ทำให้ได้เรียนรู้และได้คิดสิ่งใหม่ๆ อยู่ตลอดเช่นกัน “ไมค์” บอกว่า ในอุตสาหกรรมของเทค มีการเปลี่ยนแปลงเร็ว และมีความไม่แน่นอน มีโปรดักต์ใหม่ มีเทรนด์ใหม่ พวกนี้ทำให้เราตื่นเต้นกับงานและอยู่มาได้เรื่อยๆ ซึ่งที่นี่ ถือเป็นที่ที่เขาร่วมงานมานานที่สุด ตลอด 5 ปี เขาได้เห็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลง โฟกัสที่เปลี่ยนไป ดึงให้เขาตื่นเต้นอยู่กับงานตลอดเวลา

เมื่อถามว่า อะไรคือคุณสมบัติของคนที่จะทำงานกับองค์กร หรืองานที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เช่นนี้ได้ “ไมค์” บอกว่า ที่ Google เวลารับคน เขาจะให้ความสำคัญในหลายๆ เรื่องๆ โดยเฉพาะส่วนที่ให้ความสำคัญมากที่สุด คือการสัมภาษณ์ ซึ่งจะดูใน 4 ส่วน คือ 1. ความรู้เกี่ยวกับเนื้องานที่จะเข้ามาทำ (role-related knowledge) 2. ความฉลาดและความว่องไวในการแก้ปัญหา (problem solving skill) 3. ความเป็นผู้นำ (Leadership) และ 4. ความเป็น Google หรือ Googliness มีมากแค่ไหน มีแพสชันมากไหม มีความสามารถในการทำงานในสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนได้มากแค่ไหน

โปรโมทแทรกอีบุ๊ก-6 การทำงานที่ Google สอนวิธีคิดที่เป็นกลยุทธ์แบบ Ecosystem จากมุมมองในการออกผลิตภัณฑ์แต่ละตัว ที่ต้องมองถึงการตอบโจทย์การแก้ปัญหาให้กับผู้ใช้ การทำให้ผู้ใช้ได้ประโยชน์จากผลิตภัณฑ์นั้นๆ ให้มากที่สุด ขณะเดียวกันผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ก็ต้องได้ประโยชน์ด้วย เช่น การทำ search engine ของ Google ทำเพื่อช่วยให้คนค้นหาข้อมูลที่เป็นประโยชน์ ได้เรียนรู้ข้อมูลใหม่ๆ ขณะเดียวกัน เมื่อลิงก์เข้าไปสู่เว็บต่างๆ ก็เป็นการเปิดโอกาสให้เว็บไซต์นั้นสร้างรายได้ เขาก็ขายโฆษณาได้เยอะขึ้น

นอกจากการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ จากการทำงานอยู่ตลอดเวลา “ไมค์” บอกว่า นั่นยังไม่เพียงพอ เพราะสิ่งใหม่ๆ ไม่มีแหล่งให้เรียนรู้ สิ่งที่ดีที่สุดคือการเติมเต็มสมองด้วยการอ่าน และการลองผิดลองถูก เรียนรู้และพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา

[caption id="attachment_261096" align="aligncenter" width="503"] ไมเคิล จิตติวาณิชย์ ไมเคิล จิตติวาณิชย์[/caption]

การทำงานกับ Google อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผู้บริหารหนุ่มคนนี้ คิดถึงสังคมและการมอบสิ่งดีๆ กลับสู่สังคมมากขึ้น เพราะตลอดอายุ 37 ปี ที่ “คุณไมค์” บอกว่า นี่คือครึ่งชีวิตที่เขา “Take” มาตลอด ทั้งความรู้ ประสบการณ์ และอื่นๆ หลังจากนี้ เขามีความคิดที่จะ “Give” ให้กับสังคม ไม่ว่าจะเป็นการสร้างประโยชน์ให้กับสังคมและคนรอบตัว ส่วนวิธีการจะเป็นอย่างไร เขายังไม่ได้ลงรายละเอียด แต่สิ่งที่เขาทำอยู่ตอนนี้คือ การให้ความรู้กับคนอื่นๆ เท่าที่โอกาสจะอำนวย

ส่วนเรื่องของการเติบโตในหน้าที่การงาน ผู้ชายคนนี้บอกเลยว่า เขาอาจจะเป็นตัวอย่างที่ไม่ดี เพราะไม่ได้มองอะไรที่จุดนั้น สิ่งที่เขามอง คือ การเลือกงานที่ meaningful ซึ่งนั่นทำให้เขาเลือกทำงานอยู่ที่ Google ณ ขณะนี้
ส่วนคนอื่นๆ หากให้เขาแนะนำ เขาบอกเลยว่า ควรโฟกัสที่งานที่ตัวเองอยากทำจริงๆ ทำให้งานที่เราทำอยู่นั้นมีความหมายที่สุด โดยไม่ได้ตั้งเป้าหมายที่เงิน เพราะเงินไม่ใช่สิ่งที่สำคัญที่สุด...เพราะเงินเราได้มาแค่ไหน ก็ไม่เคยพอ ซึ่งเขาก็ยอมรับว่า การที่คนเราจะไปจุดที่ไม่ต้องห่วงเรื่องเงินนั้นยาก แต่อย่าลืมว่า หากคิดถึงแต่เรื่องเงิน อิสรภาพในการตัดสินใจเลือกสิ่งที่ชอบและใช่กับตัวเอง ก็ไม่มีเช่นกัน

เรื่อง : พัฐกานต์ เชียงน้อย
ช่างภาพ : ประเสริฐ ขวัญมา
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,342 วันที่ 22 - 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว