'ผู้หญิงไทย' ขอชิงบนเวทีโลก 'ผู้เชี่ยวชาญฯ ด้านข่าว'

20 ก.พ. 2561 | 07:58 น.
‘ยูเนสโก กรุงเทพฯ’ ร่วมมือ กสทช. จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการในหัวข้อ ‘Woman Make the News Thailand’ ส่งเสริมการเข้าถึงฐานข้อมูลออนไลน์ของผู้เชี่ยวชาญสตรีไทย เพื่อสนับสนุนการนำเสนอบทบาทของผู้หญิงให้ปรากฏในสื่ออย่างเท่าเทียม

องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ UNESCO-NBTC Workshop on Media and Communication : Women Make the News Thailand ในวันศุกร์ที่ 16 ก.พ. 2561 ณ อาคารหอประชุม สำนักงาน กสทช. เพื่อเผยแพร่ฐานข้อมูลออนไลน์ที่รวบรวมข้อมูลของผู้เชี่ยวชาญสตรีไทย โดยปัจจุบัน มีรายชื่ออยู่เกือบ 300 คน


01

แม้ว่าประเทศไทยจะเป็นหนึ่งในประเทศที่มีนักวิทยาศาสตร์ที่เป็นสตรีมากกว่าร้อยละ 50 และมีสตรีอยู่ในตำแหน่งผู้บริหารในองค์กรสูงถึงร้อยละ 37 แต่จากผลการจัดอันดับ Global Gender Index โดย World Economic Forum ในปี 2558 ปรากฏว่า ไทยถูกจัดอันดับที่ 131 จาก 145 ประเทศ และจากผลการสำรวจโดยไทยพีบีเอส ในปี 2557 มีเพียง 1 ใน 4 ของผู้เชี่ยวชาญที่เป็นสตรีไทยที่เป็นที่รู้จักในกลุ่มนักข่าว องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) จึงได้มีโครงการจัดทำฐานข้อมูลออนไลน์ของสตรีไทยที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องต่าง ๆ ให้กับแหล่งข่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเครื่องมือที่มีแหล่งข้อมูลที่ชัดเจนให้นักข่าวสามารถใช้เป็นแหล่งค้นหาเกี่ยวกับผู้เชี่ยวชาญที่เป็นสตรีตามประเด็นที่ต้องการ ส่งเสริมให้สังคมไทยมองเห็นสตรีไทยที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ ผ่านสื่อมากยิ่งขึ้น และส่งเสริมให้สตรีไทยมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ ของสังคมมากยิ่งขึ้น โดยในปี 2560 ได้พัฒนาเว็บไซต์ www.wmnthailand.org เป็นฐานข้อมูลออนไลน์ของผู้เชี่ยวชาญสตรีไทยสำหรับนักข่าว นำร่องด้วย 3 สาขาหลัก คือ 1) สื่อมวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศการสื่อสารและนวัตกรรม 2) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสภาพแวดล้อม และ 3) วัฒนธรรม วิถีชีวิต และประวัติศาสตร์อาเซียน


WMN_Logo_opensans

UNESCO ได้จัดทำฐานข้อมูลออนไลน์ของผู้เชี่ยวชาญสตรีไทยและเปิดตัวอย่างเป็นทางการในปี 2560 เพื่อเชื่อมโยงให้สื่อมวลชนของผู้หญิงที่เป็นผู้เชี่ยวชาญสตรีไทยทีด้านต่าง ๆ ให้มากขึ้น โดยผลการศึกษาของไทยพีบีเอส พบว่า ในจำนวนผู้เชี่ยวชาญทั้งหมดที่สื่อมวลชนสัมภาษณ์ มีผู้เชี่ยวชาญที่เป็นสตรีเพียงแค่ 1 ใน 4 เท่านั้น

การจัดประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ จึงมีวัตถุประสงค์ประชาสัมพันธ์โครงการฐานข้อมูลผู้เชี่ยวชาญสตรีไทยสำหรับนักข่าว และเพื่อแสวงหาความร่วมมือในการส่งเสริมให้นักข่าวและผู้ประกาศในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ในประเทศไทย สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของผู้เชี่ยวชาญสตรีด้านต่าง ๆ สนับสนุนการทำงานของสื่อมวลชนในการติดต่อเพื่อขอข้อมูลหรือขอสัมภาษณ์จากผู้เชี่ยวชาญสตรี เสริมสร้างความรู้ทางด้านการสื่อสาร การเตรียมตัว และเทคนิคการสัมภาษณ์ ตลอดจนส่งเสริมการนำเสนอข่าวสารเกี่ยวกับบทบาทของสตรีให้ปรากฏในสื่อไทยมากขึ้น


AW_Online-03

สำหรับผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย วิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารจากในประเทศและผู้เชี่ยวชาญจาก UNESCO ผู้ประกอบการกิจการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล ผู้ประกอบกิจการกระจายเสียง ผู้เชี่ยวชาญหญิงด้านต่าง ๆ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัย ผู้ประกาศข่าว และองค์กรที่เกี่ยวข้องกับสื่อสารมวลชนทั้งในประเทศและองค์กรระหว่างประเทศ และผู้บริหารสำนักงาน กสทช. ประมาณ 120 คน โดยมีคุณมากิ ฮายาชิกาว่า รักษาการผู้อำนวยการยูเนสโก กรุงเทพฯ และคุณภูมิภัส พลการ รักษาการผู้อำนวยการสำนักกำกับผังและเนื้อหารายการ และพัฒนาผู้ประกาศในกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ สำนักงาน กสทช. กล่าวเปิดงานและบรรยายภาพรวมของ WMN ประเทศไทย



ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว