ทิศทางราคาน้ำมันดิบโลกแบบนี้...ควรทำอย่างไร?

16 ม.ค. 2559 | 01:30 น.
ทิศทางราคาน้ำมันดิบโลกที่ปรับตัวลดลงจากระดับ 100 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรลในช่วงกลางปี 2557 ลดลงอย่างต่อเนื่องมาแตะอยู่ในระดับ 35-38 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาเรลล์ในปัจจุบันจะพบว่ามีสาเหตุหลักมาจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว โดยเฉพาะการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนซึ่งเป็นผู้บริโภคน้ำมันรายใหญ่ของโลก ทั้งนี้การที่จะเห็นระดับราคาน้ำมันดิบโลกไต่ขึ้นไปสู่ระดับมากกว่า 100 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรลในระยะอันใกล้นี้ "คงไม่ใช่เรื่องง่ายนัก" เพราะหากพิจารณาสภาวะแวดล้อมในอีก 5 ปีข้างหน้า ยังคงมีปัจจัยถ่วงราคาน้ำมันอยู่ ได้แก่ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกยังคงมีความเปราะบาง ความกังวลด้านอุปทานส่วนเกินน้ำมันดิบโลกยังคงมีอยู่ รวมถึงการค้นพบเทคโนโลยีใหม่ในการสกัดน้ำมันจากหินดินดาน (Shale Oil) ที่มีความสามารถนำมาทดแทนน้ำมันได้ จากปัจจัยความกังวลข้างต้น ได้ส่งผลไปยัง ราคาซื้อขายน้ำมันดิบเบรนท์ในตลาดซื้อขายล่วงหน้าช่วงอายุ 1-5 ปีข้างหน้า (Crude Oil - Brent Future Price) ให้อยู่ระหว่าง 32-55 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้ที่เราจะไม่ได้เห็นการปรับเพิ่มขึ้นของราคาอย่างก้าวกระโดดเฉกเช่นในอดีต

ในช่วงที่ทิศทางราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกกลับลงมาสู่ระดับไม่สูงมากนักอีกครั้ง ย่อมส่งผลดีทำให้ประเทศที่อยู่ในฐานะผู้นำเข้าน้ำมัน (Oil Importers) ได้รับผลประโยชน์โดยตรงจากราคานำเข้าที่ลดลง และผลประโยชน์จะตกไปยังกลุ่มผู้ประกอบการทำให้ต้นทุนค่าขนส่งถูกลงเช่นเดียวกับผู้บริโภคก็ประหยัดค่าใช้จ่ายด้านการเดินทางทำให้เหลือเงินไปจับจ่ายใช้สอยสินค้าอื่นๆ ส่งผลทำให้การบริโภคไม่ตกลงมากนัก แม้จะอยู่ในช่วงที่เศรษฐกิจโดยภาพรวมในปัจจุบันที่ไม่ดีก็ตาม

ทั้งนี้ จากรายงานการศึกษาของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) พบว่าผลของราคาน้ำมันดิบโลกที่ลดลงจะส่งผลทำให้เศรษฐกิจโลกโดยภาพรวมขยายตัวได้เพิ่มขึ้นกว่า 0.5% ในระหว่างปี 2558-2559 ซึ่งเศรษฐกิจของประเทศที่รับผลประโยชน์โดยตรง คือ กลุ่มประเทศผู้นำเข้าน้ำมันสุทธิ แต่อย่างไรก็ตามผลการประเมินตามวิธีดังกล่าวอยู่ภายใต้สมมติฐานการส่งผ่านราคาน้ำมันตลาดโลกไปยังราคาขายปลีกของแต่ละประเทศเป็นไปอย่างสมบูรณ์ ซึ่งในโลกแห่งความเป็นจริงแล้วไม่เป็นเช่นนั้น เนื่องจากรัฐบาลแต่ละประเทศต่างมีการแทรกแซงราคา กล่าวคือ ในยามที่ราคาน้ำมันดิบโลกสูงก็จะทำการอุดหนุนด้วยการลดภาษี และ/หรือ นำเงินกองทุนน้ำมันมาชดเชย เพื่อพยุงราคาขายปลีกภายในประเทศไม่ให้สูงมากเกินไปจนประชาชนปรับตัวไม่ทัน ในทางตรงกันข้ามยามที่ราคาน้ำมันดิบโลกลดลงรัฐบาลก็จะเก็บภาษีมากขึ้น และ/หรือ เพิ่มการเก็บเงินกองทุนน้ำมัน เพื่อมาชดเชยจำนวนเงินที่สูญเสียไปจากการอุดหนุนในช่วงที่ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นในช่วงก่อนหน้านี้ ด้วยกลไกการแทรกแซงราคานี้ ทำให้การส่งผ่านของราคาน้ำมันดิบโลกไปยังราคาขายปลีกในประเทศไม่สมบูรณ์ตรงตามสมมติฐานการประเมินของ IMF ด้วยเหตุผลดังกล่าวทำให้ราคาน้ำมันดิบโลกที่ลดลง ไม่สามารถผลักดันให้เศรษฐกิจโลกขยายตัวได้เต็มประสิทธิภาพ

กลับมามองที่ไทย ซึ่งเป็นประเทศผู้นำเข้าน้ำมันสุทธิ แน่นอนว่าเราเป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศที่ได้รับผลประโยชน์จากระดับราคาน้ำมันดิบโลกที่ลดลง แต่ทว่าผลประโยชน์เชิงบวกยังไม่เต็มประสิทธิภาพ เนื่องจากการส่งผ่านราคาน้ำมันดิบตลาดโลกมายังราคาน้ำมันขายปลีกภายในประเทศของไทยอยู่ในระดับเพียง 50-60% ซึ่งต่ำกว่ากลุ่มประเทศพัฒนาแล้วที่มีการส่งผ่านราคาในระดับที่สูง ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มประเทศยุโรป มีค่าเฉลี่ยการส่งผ่านราคาฯ ในระดับ 80% เนื่องด้วยราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศกลุ่มนี้จะถูกกำหนดให้เคลื่อนไหวอย่างเสรีตามกลไกตลาด (Liberalization) โดยส่วนใหญ่ภาครัฐจะไม่เลือกใช้วิธีการเข้าแทรกแซงราคา โดยจะปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด เนื่องจากการเข้าแทรกแซงจะก่อให้เกิดภาระหนี้สินทางการคลังจำนวนมาก ทำให้ไม่สามารถคาดการณ์กระแสเงินสดรับ-จ่ายได้ ซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการบริหารงบประมาณการคลังของชาติ ดังนั้น กลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วจะเลือกใช้วิธีการกำหนดให้ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศให้สอดคล้องกับราคาน้ำมันดิบโลก และให้ภาคเอกชนและประชาชนปรับตัวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เมื่อนโยบายเป็นเช่นนี้ ผู้ประกอบการจะมีความตื่นตัวในการพัฒนาคิดค้นนวัตกรรมประหยัดพลังงานที่เน้นลดต้นทุนการขนส่ง และยังสามารถส่งออกนวัตกรรมนั้นไปจำหน่ายยังประเทศต่างๆ ได้อีกด้วย ในขณะที่ประชาชนก็จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้น้ำมันให้สอดคล้องกับกลไกตลาด ทำให้การบริโภคน้ำมันมีประสิทธิภาพมากขึ้น

เราพอจะเห็นข้อดีของการปรับราคาน้ำมันขายปลีกภายในประเทศให้สอดคล้องกับกลไกตลาดจากตัวอย่างของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ถามว่าถึงเวลาที่เหมาะสมแล้วหรือยัง??? ในการกำหนดนโยบายราคาน้ำมันขายปลีกภายในประเทศตามกลไกตลาดโลก

หากพิจารณาสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบโลกในระยะ 1-5 ปีต่อจากนี้ จะพบว่ามีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ก็ถือว่าเป็น "จังหวะที่เหมาะสมที่ไทยจะค่อยๆ ปรับให้เป็นไปตามกลไกตลาด" แต่อย่างไรก็ดี การจะดำเนินการให้สำเร็จลุล่วงได้นั้น จะต้องร่วมมือกันอย่างบูรณาการจากทุกภาคส่วน

โดย "หน่วยงานของรัฐ" ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกลไกราคาน้ำมันต้องทำงานร่วมกัน และกำหนดแนวนโยบายการส่งผ่านราคาน้ำมันให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงเป็นไปตามกลไกตลาด นับตั้งแต่การส่งผ่านจากต้นน้ำคือ "ราคาน้ำมันดิบโลก" ไปยังกลางน้ำคือ "ราคาน้ำมันขายปลีกภายในประเทศ" จนกระทั่งไปถึงปลายน้ำคือ "ราคาสินค้าอื่นๆ ที่มีต้นทุนอิงกับราคาน้ำมัน" ให้สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อบรรเทาการบริโภคน้ำมันของภาคเอกชนที่บิดเบือนจากต้นทุนที่แท้จริง ด้าน "ภาคเอกชนและภาคประชาชน" ก็ให้พึงตระหนักถึงการใช้น้ำมันอย่างประหยัด เนื่องจากไทยมิใช่ประเทศผู้ผลิตน้ำมัน หากใช้อย่างฟุ่มเฟือยจะทำให้สูญเสียเงินตราให้ต่างชาติ ทำให้ขาดดุลทางการค้าและรายได้ของประเทศโดยรวมลดลง

เชื่อว่า...หากการกำหนดนโยบายราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศเป็นไปตามกลไกตลาดมีความชัดเจนแล้วจะก่อให้เกิดการยอมรับและการบริโภคน้ำมันอย่างสมเหตุสมผล นอกจากนี้ ภาครัฐก็ไม่ต้องกังวลเรื่องภาระหนี้สินทางการคลังอันเกิดจากการเข้าแทรกแซงราคาน้ำมันอย่างเช่นในอดีต ทำให้สามารถบริหารจัดการงบประมาณแผ่นดินสำหรับการพัฒนาประเทศในระยะต่อไปได้โดยง่าย

ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้ เป็นความคิดเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความคิดเห็นของ TMB Bank แต่อย่างใด

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,122 วันที่ 14 - 16 มกราคม พ.ศ. 2559