ประธานหอฯต่างชาติ ขานรับกฎหมายอีอีซี

22 ก.พ. 2561 | 03:45 น.
เมื่อร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ....หรือกฎหมายอีอีซี ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในวาระ 2 และ 3 พร้อมประกาศใช้บังคับเป็นกฎหมาย ความกระจ่างชัดที่นักลงทุนต่างชาติรอคอยมานานก็มีเพิ่มมากขึ้นเพื่อประกอบการพิจารณาตัดสินใจลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) นายสแตนลีย์ คังประธานหอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย (JFCCT) และผู้จัดการอาวุโสบริษัท ทุนเท็กซ์ เท็กซ์ไทล์ (ประเทศไทย) จำกัด ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ “ฐานเศรษฐกิจ” เปิดใจว่า เรื่องนี้นับเป็นข่าวดีและน่าจะเป็นก้าวย่างที่สำคัญอีกขั้นหนึ่งของอีอีซี

++ยิ่งชัดเจนก็ยิ่งมั่นใจ
โดยส่วนตัวยอมรับว่า มีรายละเอียดจำนวนมากของกฎหมายอีอีซี ที่ต้องศึกษาพิจารณาให้ละเอียดถี่ถ้วน ยกตัวอย่างเช่น อีอีซีเป็นพื้นที่พิเศษที่ครอบคลุม 3 จังหวัด (ฉะเชิงเทรา ระยอง ชลบุรี) แต่พื้นที่ที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนก็ใช่ว่าจะครอบคลุมทั่วทั้งจังหวัด หากแต่มีพื้นที่เฉพาะที่เรียกว่าเป็นพื้นที่ที่ได้รับสิทธิประโยชน์เป็นพิเศษด้านการลงทุน นอกจากนี้ ยังต้องอิงกับ 10 อุตสาหกรรมใหม่ที่จะได้รับการส่งเสริม ไม่ใช่ว่าเป็นโรงงานอะไรมาก็จะได้ทั้งนั้นรายละเอียดต่างๆ เป็นสิ่งที่นักลงทุนจะต้องศึกษาให้ดีเพื่อจะได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่จากโครงการนี้

โครงการอีอีซี คือ การยกระดับการลงทุนและโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ เริ่มจากอุตสาหกรรมใหม่ 10 ประเภทที่เชื่อว่าจะเป็นอนาคตของประเทศไทย ผมคิดว่าความสำเร็จที่แท้จริงจะเกิดขึ้นได้ต้องมาจากความร่วมมือกัน ผลักดันอุตสาหกรรม 10 ประเภทนี้ให้เติบโตและเป็นหัวจักรในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สิทธิพิเศษต่างๆนั้นดีแล้ว ที่เหลือก็เป็นเรื่องของการปฏิบัติและรายละเอียด เรื่องของผังเมืองและอื่นๆเป็นสิ่งที่นักลงทุนต่างประเทศให้ความสนใจ เราก็ต้องค่อยๆมาดูกัน ยกตัวอย่างนโยบาย International Head Quarter (IHQ) และ International Trading Quarter (ITQ) ที่ไทยอยากเชิญชวนให้บริษัทข้ามชาติเข้ามาตั้งสำนักงานใหญ่หรือสำนักงานตัวแทนค้าในไทย ให้ไทยเป็นเซอร์วิส เซ็นเตอร์ เหมือนอย่างฮ่องกงและสิงคโปร์ ซึ่งก็นับเป็นเรื่องที่ดี แต่ก็มีข้อรายละเอียดที่ต้องพิจารณา

[caption id="attachment_260666" align="aligncenter" width="503"] สแตนลีย์ คังประธานหอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย (JFCCT) และผู้จัดการอาวุโสบริษัท ทุนเท็กซ์ เท็กซ์ไทล์ (ประเทศไทย) จำกัด สแตนลีย์ คังประธานหอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย (JFCCT) และผู้จัดการอาวุโสบริษัท ทุนเท็กซ์ เท็กซ์ไทล์ (ประเทศไทย) จำกัด[/caption]

ผมเชื่อว่าขวบปีนี้รัฐบาลกำลังเดินหน้าเต็มที่ที่จะนำแผนงานและนโยบายต่างๆ มาปฏิบัติให้เป็นรูปธรรมก่อนที่จะเกิดการเลือกตั้ง จะเห็นได้ว่ามีหลายโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานที่กำลังเดินหน้าอย่างเต็ม ที่ไม่ว่าจะเป็นรถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูง การขยายสนามบิน ท่าเรือ และอื่นๆ โครงการเหล่านี้จะดึงดูดการลงทุนของต่างชาติเข้ามา ขณะเดียวกันอุตสาหกรรมคลัสเตอร์ที่มีอยู่แล้วก็จะต่อ ยอดยกระดับขึ้นไป “อีสเทิร์นซีบอร์ดเป็นโครงการความสำเร็จในอดีต ที่ทำให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมที่สำคัญในภูมิภาค เป็นดีทรอยต์ของเอเชียเมื่อพูดถึงอุตสาหกรรมรถยนต์ เมื่อยุคสมัยนั้นผ่านไปมาถึงเวลานี้ เรามีอีอีซีเป็นวิสัยทัศน์ของประเทศ ซึ่งไม่ได้เป็นความคิดฝันที่มาลอยๆ แต่มีพื้นฐานต่อยอดมาจากคลัสเตอร์อุตสาหกรรมที่ไทยมีอยู่เดิม และกำลังจะก้าวสู่อีกระดับที่มีเทคโนโลยี มีนวัตกรรมดิจิตอลเข้ามาช่วย เช่นก้าวไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) อุตสาหกรรมอากาศยาน อุตสาหกรรมที่ใช้หุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติ และปัญญาประดิษฐ์(เอไอ)เข้ามาเพิ่มมูลค่าซึ่งสอดคล้องกับกระแสแนวโน้มหลักๆ ของโลก”

++ยุทธศาสตร์การเชื่อมโยง
เมื่อ 40 ปีที่แล้ว บริษัทต่างชาติเข้ามาลงทุนในไทยเพื่อผลิตแล้วก็ส่งออก ไทยตั้งอยู่ในจุดที่เหมาะสมที่สุดในเออีซี (ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน) แต่มาถึงยุคนี้เราต้องคิดถึงการเชื่อมโยง เช่นเชื่อมโยงนโยบายเศรษฐกิจของไทยกับนโยบายเส้นทางสายไหมของจีน (Belt and Road Initiative) เชื่อมโยงการค้า การลงทุน และโลจิสติกส์ จากภาคใต้และตะวันตกของจีนมาสู่ไทยและอาเซียน แล้วเชื่อมไปออกมหาสมุทรอินเดีย (ผ่านทางเมียนมา) และมหาสมุทรแปซิฟิก ให้เร็วที่สุด จะเห็นได้ว่าไทยอยู่ในจุดที่เหมาะสมที่สุดตามสภาพทางภูมิศาสตร์ ไทยต้องเร่งสร้างการเชื่อมโยง (connectivity) ให้ไว ทำอย่างไรจะเชื่อมให้อีก 4 ประเทศใน CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม)เติบโตไปด้วยกันกับT(ไทย) เหมือนอย่างประเทศในสหภาพยุโรป (อียู) ที่เขาก็จับมือเติบโตไปด้วยกัน ไทยต้องมองไปข้างหน้าด้วยว่า เราไม่ได้เป็นเพียงฐานการผลิตอีกแล้ว แต่เราต้องเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมบริการ และศูนย์กลางการค้าขาย-การขนส่ง เป็น Trading Nation เหมือนอย่างฮ่องกงและสิงคโปร์ เรื่องนี้สำคัญมากและเราต้องวางระบบ วางพื้นฐานให้ถูกต้อง ซึ่งทั้งหมดเหล่านี้มันรวมอยู่ในอีอีซี

++3 ข้อฝากให้เร่งแก้ไข
สิ่งที่ผมเห็นว่าน่าจะได้รับการปรับปรุงแก้ไขโดยเร็วเพื่อเอื้อให้อีอีซีและเศรษฐกิจไทยก้าวรุดหน้าได้เร็วขึ้นมีอยู่ 3 ข้อด้วยกัน คือ1)การปฏิรูปกฎหมายที่ยังล้าหลัง หรือเป็นตัวถ่วง ทำให้เกิดความล่าช้าหรือยุ่งยากซับซ้อนในการดำเนินธุรกิจการค้า-การลงทุน ยิ่งไทยได้รับความนิยมจากชาวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยว เข้ามาประชุมสัมมนา หรือเข้ามาทำธุรกิจมากขึ้นเท่าไหร่ เราก็ยิ่งควรจะทำให้กฎระเบียบต่างๆ มันเอื้อต่อการรองรับพวกเขาเข้ามา ไม่ใช่ว่าเข้ามาทำธุรกิจแล้วยังต้องเจอกับกระบวนการที่ต้องใช้เอกสารจำนวนมากๆ หรือต้องผ่านหลายขั้นตอนการขอใบอนุญาตทำงาน (work permit) ก็เป็นสิ่งที่ทำให้ง่ายกว่านี้ สะดวกกว่านี้ได้ เรากำลังมี e-Government แล้ว พวกเอกสารขั้นตอนต่างๆ ก็ควรจะลดลง

โปรโมทแทรกอีบุ๊ก

 

2) เรื่องของบุคลากรและผู้เชี่ยวชาญในสาขาอาชีพต่างๆ ปัญหาขาดแคลนนั้นพูดกันมายาวนานแล้ว ต้องยอมรับว่าไทยผลิตบุคลากรเหล่านี้ป้อนตลาดแรงงานไม่ทัน ทุกวันนี้ก็ยังขาดแคลนอยู่ และถ้าคนในประเทศไทยเองไม่เพียงพอที่จะป้อนความต้องการของอุตสาหกรรมใหม่ๆที่เกิดขึ้นมา เราก็ควรจะต้องมีกฎระเบียบที่เอื้อให้คนต่างชาติสามารถเข้ามาทำงานเหล่านี้ในประเทศไทยได้สะดวกขึ้นด้วย เพราะเราต้องการบุคลากรที่มีทักษะความสามารถเข้ามาสู่พื้นที่อีอีซี นอกจากนี้ ยังควรต้องดึงคนหนุ่มสาวจากประเทศเพื่อนบ้านหรือในภูมิภาคเข้ามาเรียนในสถาบันการศึกษาของไทย ให้ไทยเป็นแหล่งบ่มเพาะบุคลากรที่มีการศึกษา-มีความสามารถป้อนให้กับโครงการต่างๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้น ผมมองว่าไทยมีศักยภาพที่จะเป็นศูนย์กลางการศึกษาของภูมิภาค แต่เราต้องเร่งมือให้ไวกว่านี้ โดยควรจะเน้นสร้างบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถในเทคโนโลยี 4 ด้านที่จะขับเคลื่อนอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ได้แก่ เทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัยใช้หุ่นยนต์และระบบการผลิตอัตโนมัติ การประมวลและบริหารจัดการฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data หรือ Data Technology) ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) และ Sharing Economy

และ 3) ที่จะขาดไม่ได้ คือการสร้างความโปร่งใสและแก้ไขปัญหาการคอร์รัปชัน เป็นสิ่งที่ยังต้องทำเรื่อยๆอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าไทยจะติดอันดับประเทศที่มีปัจจัยเอื้อให้สามารถดำเนินธุรกิจได้ง่าย (Ease of Doing Business) โดยไทยสามารถทำอันดับได้ดีขึ้น สะท้อนถึงมีการแก้ไข สร้างบรรยากาศและปัจจัยที่ดีสำหรับการทำธุรกิจ แต่ไทยก็ยังสามารถทำได้ดีกว่านั้น และการแก้ไขปัญหาธรรมาภิบาลและทุจริตประพฤติมิชอบก็เป็นเรื่องสำคัญ เพราะมันเป็นต้นทุนสำหรับการดำเนินธุรกิจด้วย หากแก้ไขได้ดี ก็จะสร้างความมั่นใจและเชื่อใจได้ว่า เมื่อเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ก็จะสามารถแข่งขันได้อย่างเสมอภาคและยุติธรรม ไม่มีใครได้เปรียบใครเพราะการทุจริตคอร์รัปชัน นี่เป็นเรื่องหลักๆที่ผมอยากจะฝากไว้เพื่อการพิจารณาแก้ไขเพื่ออนาคตของประเทศไทย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,341 วันที่ 18 - 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561
e-book