สนข.เชิญสถานทูตคัดที่ปรึกษา ร่วมศึกษาพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์4เส้นทางไฮสปีดเทรน

21 ก.พ. 2561 | 03:50 น.
สนข.ร่อนหนังสือเชิญทูตต่างประเทศคัดมาจากที่ปรึกษาร่วมศึกษาพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ไฮสปีดเทรน นำร่อง 4 เส้นทาง ระยะเวลา 18 เดือน จับตาที่ดินโซนสถานี โคราช สระบุรี บูมแน่ ด้านสหภาพร.ฟ.ท.แตะเบรกอย่าคิดฮุบที่ดินมักกะสัน รอทีโออาร์ชัดเจนหากเอื้อเจ้าสัวซีพีระดมพลค้านเต็มสูบแน่

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าอยู่ระหว่างการส่งรายละเอียดไปยังสถานทูตต่างๆต่อกรณีเปิดให้แสดงความสนใจยื่นข้อเสนอเป็นที่ปรึกษาตามโครงการจ้างศึกษาพัฒนาเมืองกับระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งเพื่อให้แต่ละประเทศที่แสดงความสนใจได้ร่วมจอยต์เวนเจอร์กับบริษัทที่ปรึกษาของประเทศ ไทยดำเนินการโครงการนี้

ประการสำคัญรัฐบาลไทยอยู่ระหว่างการเร่งผลักดันโครงการรถไฟความเร็วสูง 4 เส้นทาง คือกรุงเทพฯ-หนองคาย, กรุงเทพฯ-เชียงใหม่,กรุงเทพฯ-หัวหิน,กรุงเทพฯ-อู่ตะเภา โดยกระจายออกไปสู่ภูมิภาคต่างๆซึ่งเป็นการลงทุนที่ต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก ดังนั้นแนวทางหนึ่งจึงต้องดำเนินการควบคู่กับไปการพัฒนาให้เป็นเมืองธุรกิจด้วยรูปแบบพัฒนาเชิงพาณิชย์พื้นที่รอบสถานี(Transit Oriented Development : TOD)

[caption id="attachment_260642" align="aligncenter" width="503"] แบบจำลองการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์สถานีรถไฟความเร็วสูง แบบจำลองการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์สถานีรถไฟความเร็วสูง[/caption]

ทั้งนี้เส้นทางกรุงเทพฯ-หัวหิน มีสถานีที่สามารถนำไปพัฒนาเชิงพาณิชย์ได้แก่ นครปฐม ราชบุรี เพชรบุรี และหัวหิน เส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ เฟสแรกกรุงเทพฯ-พิษณุโลก ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สุโขทัย นครสวรรค์ พิษณุโลก เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ได้แก่ สระบุรี ปากช่อง และนครราชสีมา เส้นทางกรุงเทพฯ-ระยอง(อู่ตะเภา) ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และ อู่ตะเภา รวมขนาดพื้นที่ในเบื้องต้นมีไม่น้อยกว่า 500 ไร่ซึ่งยังไม่รวมมักกะสัน บางซื่อ และฉะเชิงเทรา

“เมื่อศึกษาทั้งหมดแล้วถึงจะทราบว่ามีพื้นที่ที่สามารถนำไปพัฒนาเชิงพาณิชย์ได้จริงๆกี่ไร่ ขณะนี้สนข.ได้ทำหนังสือไปถึงสถานทูตจำนวน 7-8 ประเทศเพื่อขอรายชื่อบริษัทที่ปรึกษาในแต่ละประเทศที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องการศึกษาพื้นที่การพัฒนาเชิงพาณิชย์โดยรอบสถานีระบบขนส่งมวลชน ก่อนที่จะทำหนังสือเชิญอย่างเป็นทางการไปยังแต่ละบริษัทนั้นๆเนื่องจากการศึกษาตามแนวทางการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีระบบขนส่งมวลชนยังไม่เคยมีดำเนินการในประเทศไทยจึงเปิดโอกาสให้ประเทศต่างๆที่มีความเชี่ยวชาญเข้ามาดำเนินการ ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น ฮ่องกง อังกฤษ ฝรั่งเศส หรือเยอรมนี”

ทั้งนี้ในเบื้องต้นจะมอบหมายให้ศึกษาศักยภาพพื้นที่แต่ละสถานีว่าจะสามารถนำไปพัฒนาได้มากน้อยเพียงใด โดยจะพบว่าเชียงใหม่ นครราชสีมา สระบุรี มีความเป็นไปได้มากกว่าอีกหลายจังหวัด แม้ว่าเส้นทางกรุงเทพฯ-ระยองจะเป็นไปในรูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (พีพีพี) แต่ก็ต้องศึกษาในรูปแบบเดียวกันให้เป็นมาตรฐานทุกเส้นทาง โดยยังมีนโยบายให้นักลงทุนแต่ละท้องถิ่นได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาเชิงพาณิชย์แต่ละสถานีด้วยดังนั้นแต่ละพื้นที่จึงจะมีการจัดระเบียบเมืองใหม่ และที่ดินจะมีการใช้ประโยชน์มากขึ้น
AW_Online-03 “เดือนมีนาคมนี้จะเร่งเปิดขายเอกสารประกวดราคาให้ได้ ควบคู่ไปกับการส่งรายชื่อบริษัทที่ปรึกษาไทยไปให้กับแต่ละประเทศเพื่อประกอบการพิจารณาจอยต์เวนเจอร์ ใช้ระยะเวลาศึกษาประมาณ 18 เดือน นับเป็นมิติใหม่ของการริเริ่มการพัฒนาพื้นที่ TOD ในระบบขนส่งมวลชนของไทย ทั้งนี้ต้องเร่งดำเนินการเนื่องจากไทยลงทุนด้านคมนาคมขนส่งจำนวนมาก โดยเฉพาะรถไฟความเร็วสูงที่ใช้งบประมาณจำนวนมากจึงต้องให้เกิดการคุ้มทุนโดยเร็ว การพัฒนา TOD จึงเป็นความสำคัญอีกทั้งรัฐบาลได้กล่าวเสมอว่าจะเป็นการกระจายความเจริญของเมืองออกไปสู่ภูมิภาคโดยเฉพาะรอบสถานีรถไฟความเร็วสูง ให้เกิดการพัฒนาอย่างมีแบบแผน ถูกต้อง ชัดเจน ได้มาตรฐานสากล แม้ว่าปัจจุบันจะมีการเติบโตของเมืองรอบสถานีรถไฟฟ้าแต่ก็ยังเป็นไปตามธรรมชาติไม่ได้มีการออกแบบรองรับไว้ล่วงหน้าแต่อย่างใด”

ด้านนายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย(สร.ร.ฟ.ท.) กล่าวว่า ได้ยืนยันชัดเจนแล้วว่าที่ดินมักกะสันเป็นสมบัติที่รัชกาลที่ 5 พระราชทานให้ร.ฟ.ท.ดังนั้นไม่ควรนำไปประเคนให้เอกชนนำไปหารายได้ควรเปิดโอกาสให้ร.ฟ.ท.บริหารจัดการเอง จะเหมาะสมมากกว่าเนื่องจากมีหน่วยบริหารทรัพย์สินของร.ฟ.ท.ที่สามารถนำไปพัฒนาหารายได้ ไม่ควรนำที่ดินไปประเคนให้เอกชนบริหารจัดการรายได้หมดทุกแปลง

“หากทีโออาร์ชัดเจนแล้วพบว่านำที่ดินแปลงมักกะสันไปรวมเอาไว้ในโครงการพัฒนารถไฟเชื่อม 3 สนามบินด้วยเพื่ออ้างประโยชน์ด้านการสร้างแรงจูงใจให้เอกชนสนใจเรื่องการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ก็คงต้องมีการประท้วงไม่เห็นด้วย แม้จะอ้างว่ามีการเช่าแต่ก็ต้องสมนํ้าสมเนื้อกับมูลค่าที่ดินที่ประเมินเอาไว้ด้วยและกังวลว่าจะเกิดความล่าช้าตามมาหากยังคิดเอาที่ดินของร.ฟ.ท.ไปหารายได้เชิงพาณิชย์ไม่ว่าจะเป็นที่ดินแปลงมักกะสันราว 500 ไร่ ที่ดินย่านพหลโยธินและสถานีกลางบางซื่อราว 2,300 ไร่หรือพื้นที่ย่านสถานีฉะเชิงเทราก็ตาม”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,341 วันที่ 18 - 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว