บิ๊กKBANKซบBBL

22 ก.พ. 2561 | 04:34 น.
“อำพล-อาจ” 2 ผู้บริหารใหญ่ด้านไอทีอำลา KBANK ประเดิมนั่งที่ปรึกษาแบงก์กรุงเทพ ก่อนคว้าเก้าอี้ใหญ่ วงการคาดรับช่วงบุกตลาดดิจิตอลกสิกรไทยยันไม่กระเพื่อม เตรียมปรับโครงสร้างใหญ่รอบใหม่เร็วๆนี้

[caption id="attachment_260544" align="aligncenter" width="390"] อำพล โพธิ์โลหะกุล อำพล โพธิ์โลหะกุล[/caption]

รายงานข่าวจากธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า เมื่อสิ้นปี 2560 นายอำพล โพธิ์โลหะกุล รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย ได้ลาออกจากตำแหน่ง และไปทำงานที่ธนาคารกรุงเทพ โดยธนาคารกรุงเทพได้จ่ายเงินค่าชดเชยที่นายอำพล จะได้จากธนาคารกสิกรไทยหากเกษียณอายุเมื่อครบ 55 ปี

“คุณอำพล ถือว่าเป็นลูกหม้อของแบงก์ จบวิศวะ เป็นนักเรียนทุนของแบงก์ และเป็นตัวหลักในการ Run งานด้าน Re-engineering แบงก์เมื่อ 20 ปีก่อน จากนั้นมาดูแลงานด้านธุรกิจรายย่อย และไม่นานนักก็ได้รับมอบหมายให้ไปดูแลธุรกิจรายใหญ่ แต่ก็ไม่นาน ก่อนที่คุณบัณฑูร ลํ่าซำ มอบหมายงานให้ดูแลด้านยุทธศาสตร์องค์กร ระยะ 3-5 ปีของธนาคาร ซึ่งเป็นตำแหน่งสุดท้ายก่อนจะลาออก”

[caption id="attachment_260543" align="aligncenter" width="337"] อาจ วิเชียรเจริญ อาจ วิเชียรเจริญ[/caption]

นอกจากนี้นายอาจ วิเชียรเจริญ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย ซึ่งถือว่าเป็นมือดีทางด้านโปรดักต์ไอทีของธนาคาร เกษียณอายุ และธนาคารไม่ได้ต่ออายุงานให้ จึงตัดสินใจไปรับงานใหม่ที่ธนาคารกรุงเทพเช่นเดียวกัน

“ไม่มีการยกทีมลาออก ออกเพียง 2 ท่าน ท่านหนึ่งลาออกเอง อีกท่านเกษียณ งานไม่กระทบ ไม่กระเพื่อม แม้ว่าคุณอาจ จะเก่งมากเรื่องโปรดักต์ไอที แต่ก็มีผู้บริหารระดับรองลงไป ระดับผู้อำนวยการฝ่ายดูแลและรับผิดชอบไปก่อน ซึ่งคุณบัณฑูร คงจะแต่งตั้งคนใหม่มาดูแลต่อ อาจจะเป็นการประกาศโครงสร้างอีกครั้งในเร็วๆนี้” แหล่งข่าวกล่าว

วงการธนาคารคาดหมายว่า การมาของนายอำพล และ นายอาจ ที่ธนาคารกรุงเทพ จะมาช่วยเติมเต็มในส่วนงานโปรดักต์ไอที โปรดักต์ดิจิตอล ที่ธนาคารกรุงเทพให้ความสำคัญและเริ่มมารุกตลาดอย่างเต็มตัว หลังจากที่ทำแบบเงียบๆสไตล์ธนาคารกรุงเทพ ซึ่งไม่ได้เน้นใช้การตลาดมาโหมโปรโมตมากนัก

อย่างไรก็ตามการไม่บูมงานด้านตลาดดิจิตอล ทำให้ธนาคารกรุงเทพ ยังตามหลังแบงก์ใหญ่ด้วยกันอย่างธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารกสิกรไทย ที่ทุ่มงบประมาณจำนวนมาก โหมการตลาดแบบวันเว้นวัน ทำให้ฐานลูกค้าทั้งในแง่ของลูกค้าออนไลน์ อินเตอร์เน็ตแบงก์ และโมบายแบงกิ้งยังห่างไกลเมื่อเทียบกับแบงก์ขนาดเดียวกัน

ตัวเลขฐานลูกค้าโมบายแบงกิ้ง ใน 3 ธนาคารใหญ่ที่ขับเคี่ยวกัน พบว่าปัจจุบันธนาคารกรุงเทพ มีฐานลูกค้า Bualuang mBanking เพียง 4 ล้านราย ธนาคารกสิกรไทย มีฐานลูกค้า K PLUS 7.5 ล้านราย คาดว่าสิ้นปีจะเพิ่มเป็น 10.8 ล้านบาท ส่วนธนาคารไทยพาณิชย์ มีฐาน SCB Easy อยู่ที่ 6 ล้านราย สิ้นปีจะเพิ่มเป็น 8 ล้านราย จะเห็นว่าธนาคารกรุงเทพ แม้ว่าเป็นธนาคารใหญ่ แต่ฐานลูกค้าดิจิตอลแบงกิ้งยังน้อยเมื่อเทียบกับธนาคารขนาดใกล้เคียงกัน

[caption id="attachment_260542" align="aligncenter" width="337"] บัณฑูร ลํ่าซำ บัณฑูร ลํ่าซำ[/caption]

ดังนั้นการได้มือดีทางด้านเทคโนโลยีและไอทีอย่างนายอำพล และนายอาจ เข้ามาช่วยเสริมทัพ สะท้อนให้เห็นว่าธนาคารกรุงเทพไม่ได้ซื้อตัวมาเล่นๆด้วยราคาสูงลิ่ว แต่เตรียมตัวพร้อมรบในสนาม Digital Banking อย่างเต็มรูปแบบ หลังจากปล่อยให้คู่แข่งเร่งฝีเท้าแซงหน้าไปก่อน จึงต้องจับตาดูว่า 2 มือดีจะมีไม้เด็ดอะไรมาช่วยพลิกสถานการณ์ธนาคารกรุงเทพกลับมาเป็นผู้นำได้อีกครั้ง

ธนาคารกรุงเทพ เป็น 1 ใน 5 ธนาคาร รอบแรกที่ได้รับใบอนุญาตให้ใช้ QR Code มาตรฐานจากธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) และเป็น 1 ใน 6 ธนาคารที่ยื่นขออนุญาตประกอบธุรกิจ อี-มาร์เก็ตเพลส แพลตฟอร์มขายสินค้าออนไลน์ โดยให้แบงก์เป็นได้ทั้งช่องทางชำระเงินและให้ลูกค้านำสินค้ามาวางขาย ดังนั้นผลิตภัณฑ์ทางการเงินในรูปแบบดิจิตอลจึงจำเป็นต้องได้ผู้บริหารที่มีความชำนาญเฉพาะมาดำเนินการ

แหล่งข่าวจากธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า ในช่วงแรก นายอำพล และ นายอาจ จะร่วมงานกับธนาคารกรุงเทพ ในฐานะตำแหน่งที่ปรึกษาธนาคารก่อน และหลังจากนั้นจึงจะมีการแต่งตั้งในตำแหน่งผู้บริหารต่อไป

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,341 วันที่ 18 - 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว