ทุ่ม R&D แสนล้าน! 'อุตฯ อาหาร' นำโด่ง

19 ก.พ. 2561 | 05:02 น.
1150

สวทน. ประกาศตัวเลข ‘รัฐ-เอกชน’ ทุ่มงบวิจัยและพัฒนาพุ่งกว่าแสนล้าน บุคลากรวิจัยเติบโตแล้วกว่าแสนคน เป็นครั้งแรกของประเทศ ชี้! อาหาร ยานยนต์ ปิโตรเลียม ลงทุน R&D สูงสุด ส่วน ‘อุตฯ บริการ’ และ ‘ค้าปลีก’ ตามมาติด ๆ เผย ได้อานิสงส์จากนโยบายรัฐ ปลุกลงทุนในอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูงขึ้นต่อเนื่อง

ประเทศไทยเดินหน้านโยบายกระตุ้นการลงทุนในอุตสาหกรรมที่มีเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัย เพื่อให้ไทยก้าวพ้นประเทศผู้มีรายได้ปานกลางไปสู่รายได้สูง ด้วยการออกมาตรการสนับสนุนส่งเสริม โดยเฉพาะการลงทุนที่มีการวิจัยและพัฒนา (R&D) ทำให้สินค้าไทยมีมูลค่าสูงขึ้น

นายกิติพงค์ พร้อมวงค์ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) ให้สัมภาษณ์ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงผลการสำรวจข้อมูลตัวเลขการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาในรอบการสำรวจปี 2560 (ผลการสำรวจข้อมูลปี 2559) ของ สวทน. พบว่า ตัวเลขการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) ทั้งภาครัฐและเอกชนเพิ่มขึ้นแตะระดับ 113,527 ล้านบาท ถือเป็นครั้งแรกที่เงินลงทุนรวมด้าน R&D สูงทะลุแสนล้านบาท ซึ่งหากเปรียบเทียบผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ จีดีพี คิดเป็น 0.78% ต่อจีดีพี ทั้งนี้ ผลสำรวจดังกล่าวแบ่งเป็นเงินลงทุนจากภาคเอกชน 82,701 ล้านบาท และเงินลงทุนของภาครัฐ 30,826 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 73% และ 27% ตามลำดับ จากตัวเลขดังกล่าวถ้าเปรียบเทียบเมื่อปี 2558 จะพบว่า ภาคเอกชนมีการลงทุนด้าน R&D เพียง 59,442 ล้านบาท หรือ 0.43% ต่อจีดีพี


TP15-3341-2.

เป้าหมายโต 1% ของจีดีพี
ทั้งนี้ การลงทุนจากภาคเอกชนส่วนใหญ่จะเกิดจากบริษัทขนาดใหญ่ ส่วนภาครัฐส่วนใหญ่จะมีการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.), สถาบันวิจัยแห่งชาติ (วว.) รวมถึงสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ เป็นต้น

“เมื่อ 6 ปีที่แล้ว ภาคเอกชนกับรัฐบาลจะลงทุนด้าน R&D ไม่มาก และประเทศไทยในขณะนั้นก็มีการลงทุนด้านนี้อยู่แค่ระดับ 0.025% ของจีดีพี ถือว่าน้อยมาก และการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนายังกระจุกตัวอยู่กับบริษัทขนาดใหญ่ที่มีสายป่านยาวเป็นหลัก”

อย่างไรก็ตาม สวทน. ตั้งเป้าหมายกับรัฐบาลว่า จะให้มีการเติบโตของการลงทุนด้าน R&D จากภาครัฐและเอกชนเติบโตให้ถึง 1% ของจีดีพี ภายในรอบปีนี้ สมมติว่า ถ้าจีดีพีเติบโต 16 ล้านล้านบาท ก็แปลว่า เงินลงทุนด้าน R&D จะต้องโตถึง 160,000 ล้านบาท และในปี 2564 ค่าใช้จ่ายด้าน R&D จะเพิ่มเป็น 1.5% ของจีดีพี และบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนาจะเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 25.0 ต่อประชากร 10,000 คน


apptau13

“เราตั้งเป้าว่า รอบการสำรวจปี 2560 จะมี 15 คน ต่อประชากร 10,000 คน แต่ตอนนี้สามารถพัฒนานักวิจัยขึ้นมาได้ 17 คน ต่อประชากร 10,000 คน เพราะฉะนั้นตอนนี้ เรามีจำนวนของบุคลากรวิจัยประมาณ 112,400 คน และปี 2564 ตั้งเป้าที่ 25 คน ต่อประชากร 10,000 คน”

เลขาธิการ สวทน. กล่าวอีกว่า นโยบายกระตุ้นการลงทุนในอีอีซีถือว่าเป็นตัวเร่ง หรือ ตัวช่วย ให้เกิดการลงทุนด้าน R&D และคาดการณ์ว่า ตัวเลขการลงทุนด้านนี้จะเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 1% ในรอบสำรวจปี 2561 นี้ หรือประมาณ 150,000 ล้านบาท และในปี 2562 น่าจะเพิ่มขึ้นกว่า 1% หรือประมาณ 160,000-180,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นประมาณเท่าตัว ภายใต้สถานการณ์ที่เศรษฐกิจในช่วงนั้นดีด้วย


3 กลุ่มอุตฯ อัดงบ R&D สูงสุด
จากผลการสำรวจยังระบุด้วยว่า การเติบโตของการลงทุนด้าน R&D เกิดขึ้นจาก 3 ด้าน คือ 1.ด้านภาคอุตสาหกรรมการผลิต ซึ่งในส่วนนี้จะใช้งบลงทุนด้าน R&D สูงสุด 3 อันดับแรก คือ อุตสาหกรรมอาหาร ที่มีการลงทุนสูงถึง 15,051 ล้านบาท เป็นการลงทุนในการพัฒนาด้านบรรจุภัณฑ์ การพัฒนาสูตรอาหารและคุณค่าทางโภชนา เพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนไป

อันดับ 2 อุตสาหกรรมยานยนต์ ที่มีการลงทุน 11,879 ล้านบาท ในการวิจัยและพัฒนาด้านการพัฒนาและปรับปรุงกระบวนการผลิตใหม่ การพัฒนาชิ้นส่วนรถตัวใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของบริษัทแม่ และเพื่อลดต้นทุนการผลิต และอันดับ 3 คือ อุตสาหกรรมปิโตรเลียม ที่มีการลงทุนรวมด้าน R&D จำนวน 9,251 ล้านบาท เป็นการลงทุนด้านการพัฒนากระบวนการผลิตเพื่อลดต้นทุน

2.ด้านภาคบริการ เช่น เรื่องการพัฒนา Fintech เพื่อนำมาใช้พัฒนาการบริการด้านการเงินให้ทันสมัย, การบริการไปรษณีย์และโทรคมนาคม 3.ด้านการค้าปลีกค้าส่ง เช่น ห้าง ร้านสะดวกซื้อ ร้านของชำ ที่มีการพัฒนาระบบตรวจสอบสินค้าใหม่และปรับปรุงกระบวนการผลิตใหม่ โดย 2 ด้านหลังนี้ มีแนวโน้มเติบโตสูงขึ้น


Ad_Online-03-503x62-1

นายกิติพงค์ กล่าวอีกว่า การลงทุนในอีอีซีเป็นตัวเร่งให้เกิดการลงทุนด้าน R&D มากขึ้น โดยนโยบายอีอีซีไม่ใช่เฉพาะแค่ทำให้เกิดการผลิตและการจ้างงานเท่านั้น แต่ระยะยาวการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาจะเติบโตด้วย โดยเฉพาะใน 11 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ ที่นโยบายส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอให้การสนับสนุนด้านสิทธิประโยชน์การลงทุนเต็มที่

นายเชาวลิต เอกบุตร ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่การเงินและการลงทุน เอสซีจี เปิดเผยก่อนหน้านี้ถึงการลงทุนด้านการวิจัยและนวัตกรรมปีนี้ ว่า น่าจะสามารถใช้เงินลงทุนเพิ่มขึ้นในระดับ 1% ของยอดขายรวมของปีนี้ ที่ประเมินว่า จะเติบโตราว 5% หรือประมาณ 4,700 ล้านบาท จากปี 2560 มียอดขายอยู่ที่ 4.5 แสนล้านบาท ซึ่งในปีที่ผ่านมา เอสซีจีใช้งบวิจัยและนวัตกรรมกว่า 4,178 ล้านบาท หรือ 0.9% ของยอดขายรวม และจากการลงทุนด้านการวิจัยและนวัตกรรมที่ผ่านมา ส่งผลให้เอสซีจีมีรายได้จากยอดขายสินค้าเอชวีเอในปีที่ผ่านมา มากถึง 1.75 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 39% ของยอดขายรวม


………………..
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,341 วันที่ 18-21 ก.พ. 2561 หน้า 01-15

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว