'เชฟรอน-ปตท.สผ.' เต็งปิโตร!

18 ก.พ. 2561 | 14:54 น.
‘ศิริ’ ลั่น! ประมูลปิโตรเลียม ‘เอราวัณ-บงกช’ ต้องเกิดให้ได้ ยัน! ได้ผู้ชนะ ก.พ. ปีหน้าแน่ ชี้! เจ้าเก่า ‘เชฟรอน-ปตท.สผ.’ มีโอกาสไปต่อ ตั้งเงื่อนไขรักษากำลังการผลิตก๊าซวันละ 1.5 พันล้านลูกบาศก์ฟุต พร้อมใช้ ม.44 เร่งสายไฟฟ้าลงใต้ และเปิดกว้างผลิตไฟจากหลังคา เหลือใช้ขายข้างบ้าน

นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวระหว่างปาฐกถาพิเศษ ‘นโยบายพลังงานชาติ’ จัดโดยชมรมวิทยาการพลังงาน (ชวพน.) ว่า นโยบายเร่งด่วนที่จะเร่งดำเนินการ คือ การจัดประมูลแหล่งปิโตรเลียมเอราวัณและบงกช ที่จะสิ้นสุดอายุสัมปทานในปี 2565-2566 ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำรายละเอียดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการประมูล (ทีโออาร์) จะชัดเจนในเดือน ก.พ. นี้ คาดจะประกาศเชิญชวนผู้สนใจได้ในเดือน มี.ค. 2561 และจะสามารถหาผู้ชนะและลงนามในสัญญาในรูปแบบแบ่งปันผลผลิต หรือ พีเอสซี ได้ในเดือน ก.พ. 2562


ener

โดยได้กำหนดเงื่อนไขสำคัญ คือ ต้องรักษากำลังการผลิตก๊าซธรรมชาติรวมจากทั้ง 2 แหล่ง เอาไว้ไม่น้อยกว่า 1,500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งเป็นปริมาณที่เพียงพอสำหรับป้อนเป็นวัตถุดิบให้กับโรงแยกก๊าซธรรมชาติ บนฐานที่อ้างอิงกับราคาก๊าซอ่าวไทย ในปัจจุบัน ซึ่งเงื่อนไขดังกล่าวจะทำให้เกิดการผลิตปิโตรเลียมที่ต่อเนื่อง จากกำลังการผลิตที่ลดลงในช่วง 2 ปีหลังได้ ส่วนในแต่ละแหล่งจะผลิตก๊าซขั้นต่ำในปริมาณที่เท่าใดนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาที่จะกำหนดเป็นหลักเกณฑ์ในทีโออาร์ต่อไป

“หากไม่สามารถเปิดประมูลได้ จะทำให้ตลาดหุ้นตกระนาว ดังนั้น ต้องทำให้การประมูลหาผู้มาลงทุนสำรวจและผลิตปิโตรเลียมใน 2 แหล่ง เกิดขึ้นให้ได้ เพื่อสร้างความมั่นใจต่อภาคธุรกิจ ซึ่งจะทำให้สามารถรักษาการผลิตอยู่ในระดับสูง ภายใต้ราคาก๊าซที่ไม่แพงไปกว่าราคาที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งเราต้องการบริษัทที่มีความสามารถ มั่นใจ และพร้อมจะทุ่มเทการผลิตก๊าซฯ ในระดับที่กำหนดไว้ได้ โดยเฉพาะบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ผู้ดำเนินการสัมปทานแหล่งเอราวัณ และบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (ปตท.สผ.) ผู้ดำเนินการแหล่งบงกช มีโอกาสชนะค่อนข้างสูง เพราะมีความชำนาญและประสิทธิภาพสูง ซึ่งหากเอกชนรายใดไม่เก่งพอ ก็คงต้องไปรอการเปิดประมูลสัมปทานใหม่ในรอบหน้า”

ปัจจุบัน แหล่งเอราวัณผลิตก๊าซธรรมชาติ 1.4 พันล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และน้ำมันดิบ 3.1 หมื่นบาร์เรลต่อวัน ส่วนแหล่งบงกชผลิตก๊าซธรรมชาติที่วันละ 632 ล้านลูกบาศก์ฟุต และบงกชใต้ผลิต 443 ล้านลูกบาศก์ฟุต


appBongkot

ทั้งนี้ การกำหนดกำลังการผลิตขั้นต่ำก่อนและหลังหมดอายุสัญญาไว้ เพื่อให้ปริมาณก๊าซธรรมชาติเพียงพอต่อการใช้ในโรงแยกก๊าซธรรมชาติ เท่ากับเป็นการปิดทางผู้ประกอบการรายใหม่ ๆ ที่จะเข้าร่วมประมูลด้วยข้อจำกัดด้านข้อมูลและไม่มีประสบการณ์ในการดำเนินการในพื้นที่ทั้ง 2 แหล่งมาก่อน เมื่อเทียบกับผู้ประกอบการรายเดิม ขณะเดียวกันหากผู้ประกอบการรายใหม่ชนะประมูล การผลิตก๊าซช่วงรอยต่ออาจสะดุดไม่ต่อเนื่องได้ เป็นการผิดเงื่อนไขที่อาจทำให้ถูกปรับหรือยึดใบอนุญาตได้ ขณะที่ ทาง ปตท.สผ. ยืนยัน จะยื่นประมูลแหล่งบงกชแน่ เพื่อให้ได้ดำเนินการต่อ ส่วนแหล่งเอราวัณก็พร้อมประมูลร่วมกับเชฟรอน แต่หากขอเพิ่มสัดส่วนหุ้นไม่ได้ก็พร้อมยื่นประมูลแข่งเอง

นายศิริ กล่าวอีกว่า เรื่องด่วนอีก 2 เรื่อง คือ การบริหารความมั่นคงความต้องการใช้ไฟฟ้าภาคใต้ หลังให้ชะลอการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่และเทพาออกไป 3 ปี โดยใน 5 ปีนี้ จะเพิ่มจำนวนและขนาดสายส่งแรงดันสูงขนาด 500 กิโลโวลต์ (kv) เชื่อมโรงไฟฟ้าหลักปัจจุบันที่จะนะและขนอม ตรงสู่เมืองที่ความต้องการใช้สูงในฝั่งอันดามัน และเชื่อมกับสายส่งหลักจากภาคกลางไปสถานีที่ จ.สุราษฎร์ธานี ที่กำลังดำเนินการจะแล้วเสร็จปี 2563 แก้ปัญหาคอขวด โดยเฉพาะสายส่งจากขนอมไปสุราษฎร์ธานี งบประมาณ 1.6 พันล้านบาท แลกกับความปรองดองในภาคใต้ จะเร่งเสนอ ครม. และอาจขอใช้ ม.44 ให้ดำเนินการได้เร็วขึ้น


Ad_Online-03-503x62-1

เรื่องด่วนที่ 3 การวางรากฐานโครงสร้างระบบพลังงาน 4.0 โดยจะไม่มีนโยบายซื้อไฟฟ้าในราคาแพงอีกต่อไป จากปัจจุบันที่ผู้บริโภคซื้ออยู่ 3.7 บาทต่อหน่วย เนื่องจากเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว สามารถทำให้การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน หรือ โรงไฟฟ้าเอสพีพี ที่กำลังจะหมดสัญญาเกือบ 1 พันเมกะวัตต์ และต้องการต่อสัญญาใหม่มีราคาถูกได้ จะเห็นได้จากที่ผ่านมา เปิดประมูลเอสพีพี ไฮบริด เฟิร์ม ปริมาณ 300 เมกะวัตต์ ตั้งราคากลางรับซื้อไว้ที่ 3.66 บาทต่อหน่วย แต่มีการแข่งขันทำให้ราคาเฉลี่ยต่ำมาอยู่ระดับ 2.44 บาทต่อหน่วยได้

อีกทั้ง จะเปิดกว้างให้ประชาชนทั่วไปสามารถผลิตไฟฟ้าใช้เอง โดยเฉพาะโซลาร์รูฟท็อป และส่วนที่เหลือสามารถที่จะขายเข้าระบบ หรือ อาคาร บ้านอยู่อาศัย บริเวณใกล้เคียงกันได้ด้วย ซึ่งเป็นราคาที่ถูกกว่าซื้อจากการไฟฟ้า โดยนโยบายนี้จะเห็นความชัดเจนในช่วงกลางปีนี้เป็นต้นไป


………………..
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,341 วันที่ 18-21 ก.พ. 2561 หน้า 01-15

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว