'นกแอร์' ขาดทุน! เหลือ 1.8 พันล้าน ดิ้นบินประจำ 2 เมือง ในจีน

18 ก.พ. 2561 | 09:50 น.
1643

แผนฟื้น ‘นกแอร์’ เริ่มผงกหัว! เผยตัวเลขไตรมาส 4 ลดขาดทุนเหลือ 225 ล้านบาท เดินหน้าลุยตลาดจีน เปิดประจำ 2 เมือง ต้น มี.ค. นี้ จ่อผนึก ‘บินไทย’ ซื้อน้ำมันร่วมลดต้นทุน

แผนพลิกฟื้นธุรกิจ (Turnaround Plan) สายการบินนกแอร์เริ่มเห็นผลเป็นรูปธรรม หลังจากผลประกอบการไตรมาสที่ 4 ปี 2560 ตัวเลขการขาดทุนลดลงเหลือ 225 ล้านบาท ซึ่งถือว่า ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้านั้น ซึ่งมีจำนวน 684 ล้านบาท และส่งผลให้ตลอดปี 2560 มีตัวเลขการขาดทุนอยู่ที่ 1,854 ล้านบาท ลดลงจากปี 2559 ซึ่งขาดทุนถึง 2,795 ล้านบาท

สาเหตุที่ขาดทุนลดลงมาจากหลายปัจจัย ทั้งการเปลี่ยนผู้บริหารจาก นายพาที สารสิน มาเป็น นายปิยะ ยอดมณี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารคนใหม่ เมื่อวันที่ 14 ก.ย. ปีที่แล้ว

แผนการเพิ่มทุนสภาพคล่องที่ทำสำเร็จ การลดค่าใช้จ่าย เพิ่มรายได้ และการขยายเส้นทางบินใหม่ทั้งในและต่างประเทศ ที่เป็นไปตามแผน จึงส่งผลให้ทิศทางในการดำเนินการของสายการบินเริ่มส่งสัญญาณที่ดีขึ้น

โดยปีที่แล้ว นกแอร์มีรายได้รวม 1.47 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.17% คิดเป็นรายได้จากค่าโดยสาร เพิ่มขึ้น 7.74% และมีรายได้จากการให้บริการ 53.41% รายได้ที่เพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากการขยายจุดบินเช่าเหมาลำไปจีนเพิ่มขึ้น ส่งผลให้รายได้ต่อปริมาณการผลิตผู้โดยสาร (RASK) เพิ่มจาก 2.02 บาทต่อที่นั่ง-กิโลเมตร มาอยู่ที่ 2.06 บาทต่อที่นั่ง-กิโลเมตร และการขยายอัตราการใช้งบเครื่องบินเพิ่มเป็น 11 ชั่วโมงบินต่อวัน

P1-3341-2A

แหล่งข่าวระดับสูงจาก บมจ.นกแอร์ กล่าวว่า พร้อมที่จะเดินหน้าพลิกฟื้นธุรกิจให้กลับมามีกำไร โดยจะทยอยปรับเส้นทางบินจากเช่าเหมาลำมาเป็นบินประจำนำร่อง 2 เส้นทางบิน เข้าจีน คือ เมืองหนานหนิงและเจิ้งโจว เริ่มวันที่ 1 มี.ค. นี้ จำนวน 4 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ซึ่งได้จัดโปรโมชันราคาเริ่มต้นที่ 3,375 บาท/คน/เที่ยว รวมค่าภาษีสนามบิน ค่าธรรมเนียมต่าง ๆ น้ำหนักฟรี 20 กิโลกรัม รวมถึงมีแผนการเปิดบินเส้นทางบินใหม่ไปยังอินเดียด้วย

ทั้งจะทยอยปลดระวางเครื่องบินเก่าออกจากฝูงบิน 4 ลำ ในปีนี้ จะทำให้ลดค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุง

ทั้งนี้ นกแอร์มีเที่ยวบินเช่าเหมาลำเข้าจีนเพิ่มขึ้น 125.3% เมื่อปีที่แล้ว เพิ่มจาก 1,272 เที่ยวบิน จากปีก่อนหน้านั้น มาเป็น 2,866 เที่ยวบิน ในปี 2560 ส่วนปีนี้แนวโน้มน่าจะมีทิศทางที่ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จากการฟื้นตัวของตลาดจีน เป็นตลาดที่มีคุณภาพมากขึ้น และอานิสงส์จากรัฐบาลหนุนส่งเสริมเมืองรอง ซึ่งนกแอร์มีเส้นทางบินถึง 18 เส้นทาง เข้าเมืองรอง รวมถึงจะเปิดบินดอนเมือง-แม่ฮ่องสอน วันที่ 25 มี.ค. นี้ จะทำให้การรับรู้รายได้ดีขึ้น

“ความร่วมมือกับไทยกรุ๊ป ระหว่างการบินไทย นกแอร์ และไทยสมายล์ ที่จะมีความชัดเจนขึ้น ในการประชุมครั้งหน้าจะมีการหารือในเรื่องการซื้อน้ำมันร่วมกัน โดยการบินไทยจะเป็นแกนหลัก ซึ่งทำให้นกแอร์สามารถลดต้นทุนเรื่องน้ำมัน ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายหลัก” แหล่งข่าว กล่าว

ส่วนปีหน้า มีแผนรับมอบเครื่องบิน โบอิ้ง 737 MAX จำนวน 4 ลำ จากที่สั่งซื้อไว้ 8 ลำ เพื่อบินเข้าจีน ส่วนแผนเพิ่มรายได้จะพัฒนาจากเช่าเหมาลำมาเป็นเที่ยวบินประจำเพิ่มขึ้น ปัจจุบัน นกแอร์เปิดให้บริการเส้นทางสู่จีน 24 เส้นทาง ไปยัง 19 เมือง ได้แก่ เป่าโถว ฉางซา เฉิงตู ต้าถง ฝูโจว ไหโข่ว เหอเฟย์ โฮฮอท หลินยี่ เหมยเซียน ซีอาน หนานชาง หนานทง เหยียนเฉิง หยินฉวน อี๋ชาง และอู๋ซี โดยมีอัตราบรรทุกผู้โดยสารชาวจีนจำนวน 5 แสนคน ในปีที่แล้ว เพิ่มขึ้น 54% จากปี 2559


Ad_Online-03-503x62-1

ด้าน นายปิยะ ยอดมณี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.นกแอร์ กล่าวว่า การเปิดเที่ยวบินประจำสู่ทั้ง 2 เมือง ถือเป็นการตอกย้ำความแข็งแกร่งของนกแอร์ในตลาดจีน หลังจากที่สายการบินให้บริการเที่ยวบินแบบเช่าเหมาลำ มาเป็นเวลากว่า 3 ปี

ทั้งนี้ หนานจิงและเจิ้งโจวจะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้เครือข่ายเส้นทางการบินในประเทศจีนของนกแอร์เติบโต และมีศักยภาพมากยิ่งขึ้น ส่วนเส้นทางบินเช่าเหมาลำอื่น ก็มองเป็นโอกาสในการสร้างตลาดบินประจำต่อไปด้วย


………………..
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,341 วันที่ 18-21 ก.พ. 2561 หน้า 01-02

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว