นิวเจเนอเรชัน‘แอร์บัส’ เหินฟ้า A350-1000

21 ก.พ. 2561 | 02:31 น.
ว้าวๆ ในที่สุดเราก็ได้เห็นเครื่องบินรุ่นใหม่ “แอร์บัส เอ 350-1000” ที่มาเผยโฉมครั้งแรกในไทย เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา แถมยังปลื้มสุดๆ ที่มีโอกาสร่วมออนบอร์ด บนเที่ยวบินสาธิตในครั้งนี้อีกด้วย

MP22-3341-2B เครื่องบินรุ่นนี้จัดว่าเป็นเครื่องบินลำตัวกว้างพิสัยไกลรุ่นใหม่ล่าสุดของแอร์บัส ในตระกูลเอ 350 XWB ซึ่งเป็นรุ่นได้รับความนิยมในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ปัจจุบันแอร์บัส เอ 350-1000 สายการบินแรกที่สั่งซื้อคือ กาตาร์ แอร์เวย์ส และจะเริ่มทำเชิงพาณิชย์ได้ในเร็วๆ นี้ รวมถึงออร์เดอร์จากอีกหลายสายการบินในเอเชีย อาทิ คาเธ่ย์ แปซิฟิค เจแปน แอร์ไลน์ส จากคำสั่งซื้อของลูกค้ารวมกว่า 11 ราย รวมกว่า 169 ลำ

MP22-3341-5B หนึ่งในนั้นแม้จะยังไม่มีการบินไทย แต่ก็พอเทียบเคียงให้เห็นภาพความเป็นนิวเจเนอเรชันได้ เมื่อเทียบกับเครื่องบินเอ350-900 ที่หลายสายการบินในภูมิภาคนี้ใช้เครื่องบินรุ่นนี้บินอยู่ ซึ่งให้บริการผู้โดยสารไปกว่า 22 ล้านคนแล้ว รวมถึงการบินไทยที่ได้สั่งซื้อไป 12 ลำ และนำมาสยายปีกแล้ว 10 ลำ เนื่อง จากมีระบบอะไหล่เดียวกันกว่า 95% รวมถึงใช้ใบอนุญาตการทำการบินของนักบินแบบเดียวกัน แต่ลำตัวของเอ 350-1000 จะมีการใช้วัสดุชนิดพิเศษที่มีความคล้ายคลึงกัน แต่มีนํ้าหนักเบากว่า ทั้งลำตัวเครื่องบิน ก็จัดว่ากว้างที่สุด ในประเภทเครื่องบินแบบ 2 ช่องทางเดินของแอร์บัส

MP22-3341-3B นั่นก็คือจะกว้างกว่าเอ350- 900 ถึง 7 เมตร ทำให้ใส่ที่นั่งโดยสารเพิ่มขึ้นกว่าเดิมได้อีก 45 ที่นั่ง หรือจาก 321 ที่นั่งขยับมาได้มากถึง 366 ที่นั่ง หรือเพิ่มขึ้นกว่า 40% อีกทั้ง เอ350-1000 ยังเป็นเครื่องบินระยะไกลอย่างแท้จริง เพราะมีพิสัยการบิน 8,000 ไมล์ทะเล (14,800 กิโล เมตร) ตั้งแต่เมื่อเริ่มให้บริการ จึงสามารถทำการบินตรงจากกรุงเทพฯไปยุโรปหรืออเมริกา เหนือได้โดยไม่ต้องแวะพัก

MP22-3341-4B แล้วถ้าเทียบกับคู่แข่งอย่างโบอิ้ง ก็น่าจะแข่งกับรุ่น “โบอิ้ง777-300ER” เครื่องบินในตระกูล 777 ซึ่งแอร์บัส เคลมว่า จากการออกแบบปีกของตัวเครื่องบิน ตามหลักอากาศพลศาสตร์ โดยใช้แนวคิดการทำงานเหมือน “ปีกนก” เราจึงจะเห็นปีกที่มีลักษณะโค้งแหลมบริเวณปลาย สามารถปรับตามลักษณะการบิน

MP22-3341-1B รวมถึงการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการออกแบบ เพื่อเพิ่มความยาว แต่ลดนํ้าหนักของตัวเครื่องบิน โดยการปรับปรุง 4 องค์ประกอบหลัก คือ ปีก ลำตัว ระบบ และเครื่องยนต์ ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยขึ้น ทำให้ประหยัดพลังงานกว่าเครื่องบินตระกูล 777 ได้กว่า 25%

MP22-3341-6B รวมไปถึงการปรับเปลี่ยนระบบควบคุม ภายในห้องนักบิน ที่ใช้เทคโนโลยีจอสัมผัสหรือทัชสกรีน ทำให้ทันสมัยและใช้งานได้ง่ายขึ้น ซึ่งแอร์บัสมองว่าจะมีส่วนแบ่งทางการตลาดของเครื่องบินรุ่นนี้ เมื่อเทียบกับโบอิ้ง 777 ของคู่แข่ง น่าจะอยู่ในสัดส่วน 50:50

MP22-3341-7B ทั้งนี้เอ350-1000 ที่แอร์บัสนำมาบินสาธิตในครั้งนี้ เป็นหนึ่งในเครื่องบินทดสอบจำนวน 3 ลำ ที่ได้รับการติดตั้งห้องโดยสารที่ใช้งานเต็มรูปแบบ (ชั้นธุรกิจ 40 ที่นั่ง ชั้นอีโคโนมี พลัส 36 ที่นั่ง และที่นั่งชั้นคอมฟอร์ทอีโคโนมี 219 ที่นั่ง แต่เมื่อนำมาใช้บินในเชิงพาณิชย์ สายการบินจะเป็นผู้ดีไซน์จำนวนที่นั่งและจำนวนความเหมาะสมที่สายการบินนั้นๆ ต้องการ

เราแอบไปดูในลิสต์ราคาขายของเครื่องบินรุ่นนี้ก็พบว่า อยู่ที่ราว 366.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 1.16 หมื่นล้านบาท) แต่ส่วนใหญ่สายการบินที่เป็นลูกค้าก็มักจะ ได้รับส่วนลดจากแอร์บัส บางสายการบินก็ได้ส่วนลดตั้งแต่ 10-40% กันเลยทีเดียว

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,341 วันที่ 18 - 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว