ระเบิดเวลา15วัน ควํ่ากฎหมายลูกยื้อเลือกตั้ง?

18 ก.พ. 2561 | 02:38 น.
ความเชื่อมั่นโรดแมปสู่การเลือกตั้งของคสช.สั่นคลอนอย่างหนัก นับแต่สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ใช้เทคนิคทางกฎหมาย ปรับแก้ ม.2 ร่างกฎหมายลูกว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. ให้มีผลใช้บังคับหลังพ้น 90 วันนับแต่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นผลให้กำหนดการเลือกตั้งครั้งใหม่ในเดือนพฤศจิกายนปีนี้ ต้องขยายออกไปเป็นต้นปี 2562 กระแสทวงถามการเลือกตั้งลุกลามขยายวงกว้างไปเป็นลำดับ

อีกปัจจัยที่มีผลต่อการเริ่มนับหนึ่งสู่การเลือกตั้ง คือ การจัดทำร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการจัดเลือกตั้ง 4 ฉบับ ที่เวลานี้ 2 ฉบับสุดท้ายอยู่ในขั้นตอนของสนช. และกำลังถูกจับตาอย่างหนักว่าอาจถูกโหวตควํ่า ที่กระทั่งนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) ก็ไม่กล้ายืนยันว่าสนช.จะโหวตผ่าน โดยชี้ว่าอะไรก็เกิดขึ้นได้ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นความไม่แน่นอนยิ่งทบทวีขึ้นไปอีก

++สนช.ตั้งกมธ.วิสามัญร่วม
ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้งกรธ.และคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ส่งความเห็นแย้งร่างกฎหมายลูก 2 ฉบับ คือ ร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. และร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยที่มาส.ว. ถึงสนช.แล้ว เพื่อตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญร่วม 3 ฝ่าย คือ กรธ.และสนช.ฝ่ายละ 5 คน และกกต.อีก 1 คน ซึ่งนายศุภชัย สมเจริญ ประธานกกต.ร่วมเป็นกมธ.เอง

กมธ.วิสามัญร่วม 3 ฝ่ายต้องร่วมพิจารณาประเด็นโต้แย้งเพื่อส่งให้ที่ประชุมสนช. เห็นชอบหรือไม่ด้วยคะแนนเสียง 2 ใน 3 หรือ 166 เสียงขึ้นไปจากจำนวนสนช.ทั้งหมด 248 คน ภายใน 15 วัน หรือในต้นเดือนมีนาคมนี้ หากสนช.เห็นชอบตามที่กมธ.วิสามัญเสนอ จะเป็นไปตามไทม์ไลน์การเลือกตั้ง คือ ส่งร่างกฎหมายให้นายกฯนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย ซึ่งอยู่ในกรอบเวลา 90 วันหรือในเดือนพฤษภาคม เมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วรอไป 90 วัน หรือถึงเดือนสิงหาคม ให้กฎหมายเลือกตั้งส.ส.มีผลบังคับใช้

เมื่อกฎหมายลูกการเลือกตั้ง 4 ฉบับบังคับใช้แล้ว รัฐธรรมนูญกำหนดให้จัดการเลือกตั้งภายใน 150 วัน หรือใน 5 เดือน หรือราวเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ซึ่งเลื่อนจากเดือนพฤศจิกายน 2561 ตามกรอบเวลาจัดการเลือกตั้งเดิม ที่กฎหมายลูกการเลือกตั้งจะประกาศใช้ครบ 4 ฉบับทันทีหลังลงราชกิจจานุเบกษาในเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2561
แต่หากสนช.โหวตควํ่าร่างกฎหมายลูก 2 ฉบับ หรือเพียงฉบับใดฉบับหนึ่ง ต้องมานับหนึ่งร่างใหม่ ไทม์ไลน์การเลือกตั้งจะยืดออกไปอีก โดยนายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) คาดว่า จะใช้เวลาเพิ่มอีกอย่างน้อย 6 เดือน ทำให้การจัดเลือกตั้งอาจยืดไปถึงปลายปี 2562 ได้

TP14-3341-B ++10 ปมเห็นแย้งกรธ.-กกต.
ทั้งนี้ กรธ.และกกต.ส่งความเห็นแย้งร่างกฎหมายลูก 2 ฉบับข้างต้นให้นายพรเพชร พิชิตชลชัย ประธานสนช.เมื่อวันศุกร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ครบเส้นตายภายใน 10 วันนับแต่ได้รับร่างจากสนช.แล้ว นายอุดม รัฐอมฤต โฆษกกรธ. ระบุ ในร่างกฎหมายเลือกตั้งส.ส. เห็นแย้ง 4 ประเด็น คือ 1. การตัดสิทธิคนไม่ไปเลือกตั้ง เพิ่มข้อห้ามเป็นข้าราชการรัฐสภา จากเดิมที่ห้ามเป็นข้าราชการการเมืองเท่านั้น 2. การจัดมหรสพในการหาเสียง เพราะจะมีปัญหาเรื่องการกำหนดค่าใช้จ่ายผู้สมัคร และไม่เป็นธรรมระหว่างพรรคใหญ่-เล็ก 3. เวลาลงคะแนนที่ขยายเป็น 07.00-17.00 น. จะเป็นปัญหากับผู้ปฏิบัติงาน โดยเฉพาะพื้นที่ทุรกันดาร และเสี่ยงเกิดทุจริตการเลือกตั้งเพิ่ม 4. การช่วยคนพิการทางสายตากาบัตร เพราะจะทำให้การเลือกตั้งไม่เป็นความลับ

ส่วนร่างกฎหมายว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว. เห็นแย้ง 3 ประเด็น คือ 1. ลดกลุ่มอาชีพเหลือ 10 กลุ่ม จากเดิม 20 กลุ่ม ทำให้ขาดความหลากหลาย 2. ที่มาส.ว. 2 ทางคือ อิสระและตัวแทนองค์กร จากเดิมที่ให้สมัครอิสระอย่างเดียว และ 3. ให้เลือกกันเองในกลุ่มจากเดิมที่ให้เลือกไขว้นอกกลุ่ม ทำให้ฮั้วง่ายขึ้น

ด้านกกต.เองมีความเห็นแย้งในร่างกฎหมายเลือกตั้งส.ส. 5 ประเด็น นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. ชี้ว่า นอกจากส่วนที่เห็นพ้องกับกรธ.แล้ว ยังมีประเด็นเรื่อง 1. เบอร์ผู้สมัครที่แยกตามเขต ที่กกต.มองว่าจะทำให้สับสนและยุ่งยากในการจัดการ ซึ่งกกต.เห็นค้านตั้งแต่เป็นร่างของกรธ. 2. ค่าใช้จ่ายหาเสียงพรรคที่กำหนดเท่ากันไม่ว่าใหญ่-เล็ก และ 3. ขอบเขตอำนาจศาลในการให้ใบดำ ใบเหลือง

++ตั้ง11กมธ.หาข้อสรุปใน15วัน
การตั้งกรรมาธิการวิสามัญร่วม 3 ฝ่ายเดินหน้าแล้ว โดยจะมีตัวแทนกรธ.และกกต.ฝ่ายละ 5 คน ขณะที่กกต.จะมีนายศุภชัย สมเจริญ ประธานกกต. เป็นกมธ.ด้วยตนเองอีก 1 คน รวมเป็น 11 คน พิจารณาหาข้อสรุปความเห็นแย้งในร่างกฎหมายลูกแต่ละฉบับ เพื่อให้ที่ประชุมสนช.ลงมติเห็นชอบหรือไม่ด้วยคะแนนเสียง 2 ใน 3 หรือ 166 เสียงจากจำนวนสนช.ทั้งสิ้น 248 คนขึ้นไป ภายในกำหนด 15 วัน

โดยหลังสนช.ได้มีมติตั้งกมธ.ร่วม 3 ฝ่ายแล้ว ต้องพิจารณาในกำหนดวันที่ 1 มีนาคม จากนั้นสนช.จะนัดประชุมลงมติในสัปดาห์ถัดไป หรือประมาณวันที่ 8-9 มีนาคม เพื่อชี้ชะตาร่างกฎหมายลูก 2 ฉบับ

นายชาติชาย ณ เชียงใหม่ กรธ. กล่าวว่า กมธ.ร่วมต้องพูดกันด้วยเหตุผล โดยเฉพาะประ เด็นต่างๆ ที่กรธ.ส่งไปที่อาจขัดเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ ซึ่งต้องอธิบายให้กมธ.เข้าใจถึงผลเสีย ที่จะตามมา “หวังว่ากมธ.และสนช.จะรับฟังและเข้าใจ”

ด้านนายอุดม รัฐอมฤต กรธ.ชี้ว่า ร่างกฎหมายเลือกตั้งส.ส.ที่กรธ.โต้แย้งไปนั้น ล้วนเป็นประเด็นปัญหาทางเทคนิค คง ไม่ยากที่จะแลกเปลี่ยนความเห็นและทำให้เกิดข้อยุติ ส่วน ร่างกฎหมาย ส.ว.ที่กรธ.เห็นว่า ตามร่างที่สนช.ได้ปรับแก้ไป 3 ประเด็น ขัดแย้งเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ ยังมีความเห็นที่แตกต่างกันมาก แต่ยังเชื่อว่ากรธ. และสนช.จะมีโอกาสหารือกันว่ารัฐธรรมนูญประสงค์จะให้เกิดสิ่งใด และจะมีทางใดทำให้เจตนารมณ์เกิดได้จริง

บาร์ไลน์ฐาน เช่นเดียวกับในประเด็นเรื่องให้มีมหรสพหาเสียงได้ ที่กรธ.และกกต.ไม่เห็นด้วยนั้น นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. ระบุว่า ท่าทีของสนช.ช่วงหลังเริ่มมีแนวโน้มคล้อยตามข้อเสนอของกรธ.และกกต.แล้ว คิดว่า น่าจะโหวตในทางเดียวกันคือไม่ให้มีมหรสพแล้ว

ส่วนร่างพ.ร.ป.ว่าด้วย การได้มาซึ่งส.ว. ที่กรธ.และสนช.มีความเห็นตรงกันข้าม ทั้งในเรื่องกลุ่มอาชีพ ที่มา และการเลือก “ต้องรอดูว่ากมธ.ร่วม 3 ฝ่ายจะพิจารณาอย่างไร กกต.ต้องมากำหนดและทบทวนท่าที ว่าจะยืนตามความเห็นเดิม ไม่มีการปรับแก้ไขหรือไม่ อย่างไร 1 เสียงของประธานกกต.มีความหมายมาก ถ้า 2 ฝ่ายโหวตยันความเห็นของตัวเอง เสียงประธานกกต.จะเป็นเสียงชี้ขาด โหวตไปทางไหนฝ่ายนั้นชนะ”

ทั้งนี้ นายสมชัยชี้ว่า ถ้าฝ่ายกรธ.ชนะ จะสุ่มเสี่ยงสูงมากที่จะไปแพ้โหวตในที่ประชุมสนช. เพราะจะทำให้ร่างกฎหมายทั้งฉบับตกไป ต้องเข้าสู่กระบวนการยกร่างใหม่

เช่นเดียวกับนายชาติชาย ที่กังวลว่า หากข้อโต้แย้งผ่าน กมธ.แล้วและปรับแก้ให้ ถึงตรงนั้นต้องหาทางชี้แจงแก่สนช.ให้เข้าใจด้วยว่าเหตุผลที่ปรับแก้คืออะไร ไม่เช่นนั้นหากสนช.ยืนยันตามร่างเดิม โหวตไม่เห็นด้วยกับการแก้ไข ร่างกฎหมายนั้นก็ตกไปและต้องร่างใหม่ อาจกระทบต่อการเมืองอย่างสูง รวมถึงกระทบต่อความเชื่อมั่นของรัฐบาลและคสช.ด้วย “เราหวังว่าหากแก้ไขแล้วสนช.จะเข้าใจ”

กระแสโหวตควํ่าร่างกฎหมายลูกฉบับใดฉบับหนึ่งหรือทั้ง 2 ฉบับจึงกระหึ่มอยู่ในบรรยากาศการเมืองเวลานี้ ที่แม้กระทั่งนายมีชัยเองก็ระบุ ไม่สามารถบอกได้ว่าจะมีเหตุแทรก ซ้อนหรือไม่ มันอาจจะเกิดอะไรขึ้นก็ได้ ต้องดูกันไปเรื่อยๆ ว่าอะไรเป็นอะไร อย่าไปคาดการณ์อะไรมาก เดี๋ยวนอนไม่หลับ

15 วันนับถอยหลังสู่การชี้ชะตา 2 ร่างกฎหมายลูก ซึ่ง จะมีผลกระทบต่อเนื่องถึงไทม์ไลน์การเลือกตั้ง ที่รัฐบาลและคสช.เอง ก็ยังไม่ออกมายืนยันความชัดเจน กลายเป็นเชื้อไฟสุมขอนรุมรัฐบาลและคสช.อยู่เวลานี้ ว่าจงใจ “ยื้อ” เลือกตั้งไปอีกให้นานที่สุด

Ad_Online-03 ++2วิธีลากยาวเลือกตั้ง
นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ตั้งข้อสังเกตว่า การตั้งกมธ.วิสามัญร่วม 3 ฝ่าย เป็นเพียงเป้าหลอก ให้จับตาสนช.ว่าจะนำข้อสังเกตของ กมธ.ร่วมไปปรับแก้ร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับหรือไม่ หากนำไปปรับแก้ทุกอย่างก็จบไม่มีปัญหา แต่เท่าที่ฟังมาทราบว่าสนช.ตั้งธงไว้แล้วว่า แม้มติกมธ.จะออกมาอย่างไร สนช.ก็จะไม่เอาด้วย คือไม่แก้ตาม

“ถึงตอนนี้สนช.ทำได้ 2 วิธี คือ 1. สนช.อาจควํ่ากฎหมายลูกในหมวดเลือกตั้งฉบับใดฉบับหนึ่ง ก็จะส่งผลให้โรดแมปเลือกตั้งเลื่อนยาว เพราะต้องกลับไปแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งต้องทำประชามติ เพื่อเริ่มต้นร่างกฎหมายลูกที่ถูกควํ่าใหม่ ซึ่งไม่รู้จะต้องใช้เวลาอีกเท่าไหร่ และ 2. สนช.รวบรวมเสียงยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายลูกทั้ง 2 ฉบับ ก็ไม่รู้จะใช้เวลานานอีกเท่าไหร่เช่นกัน ดังนั้นการเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ไม่น่าจะเกิดขึ้น ตามที่ผู้มีอำนาจเคยบอกไว้”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,341 วันที่ 18 - 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว