เอกซเรย์สินค้าเกษตร หลุดกับดักราคา‘ขาลง’

22 ก.พ. 2561 | 03:16 น.
ราคาสินค้าเกษตรหลักหลายรายการของไทย เช่น ข้าว ยางพารา ปาล์มนํ้ามัน มันสำปะหลัง ข้าวโพด เวลานี้ขยับสูงขึ้นตามกลไกตลาด และหลักดีมานด์-ซัพพลาย จากความต้องการของตลาดมีมาก แต่ข่าวร้ายผลผลิตของเกษตรกรลดลงจากเข้าสู่ช่วงฤดูแล้ง เกษตรกรจึงได้อานิสงส์ก็ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยนัก จากส่วนใหญ่ไม่มีของในมือ แต่ก็ถือเป็นทิศทางแนวโน้มที่ดี

++ข้าวเปลือกพุ่งรอบ5ปี
ตัวอย่างข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลิ 105 (ความชื้น 15%) ซึ่งมีแหล่งปลูกสำคัญในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) ราคาที่เกษตรกรขายได้ ณ เวลานี้เฉลี่ยที่ 1.60-1.80 หมื่นบาทต่อตัน (ดูกราฟิกประกอบ) และข้าวเปลือกเจ้าทั่วประเทศเฉลี่ยที่ 8,000-8,500 บาทต่อตัน อย่างไรก็ดีราคาข้าวเปลือกทั้ง 2 ชนิดข้างต้น นายสุเทพ คงมาก นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทยออกมาระบุว่า เป็นราคาสูงสุดในรอบ 5 ปี นับจากรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีโครงการรับจำนำข้าวเปลือกราคาสูงปีสุดท้าย(ปีการผลิต 2556/57)ราคาข้าวเปลือกที่ปรับขึ้นครั้งนี้ มีปัจจัยสำคัญจากมีความต้องการและคำสั่งซื้อข้าวจากต่างประเทศมายังผู้ส่งออกของไทยจำนวนมาก จากที่เวลานี้ข้าวเพื่อการบริโภคในสต๊อกรัฐบาลได้ถูกระบายออกมาหมดแล้ว และไม่เป็นตัวกดทับราคาข้าวไทยในตลาดโลกอีกต่อไป เห็นได้จากราคาข้าวสารหอมมะลิ(เอฟโอบี) ของไทยขณะนี้สูงกว่า 1,100 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตันสูงสุดเป็นประวัติการณ์ แต่อีก ด้านซัพลายข้าวหอมมะลิในประเทศมีน้อยจากที่เกษตรกรขายไปก่อนหน้า เหลือติดมือไว้รอขายไม่มากนัก ทำให้โรงสี ผู้ค้าข้าวถุงแย่งซื้อตุนเพื่อไว้ผลิตขายให้ผู้ส่งออกและขายในประเทศ

++ลุ้นยางขยับ 50 บาท
ขณะที่ยางพารา อีกหนึ่งสินค้าเกษตรสำคัญ แม้เวลานี้ภาพรวมยางทุกประเภทไม่ว่าจะเป็นนํ้ายาง ยางแผ่นดิบ หรือยางแผ่นรมควันจะยังไม่ถึง 50 บาท/กิโลกรัม (เฉลี่ยที่ 41-45 บาท/กก.) แต่ผู้ส่งออกคาดการณ์มีแนวโน้มที่ดี โดยมั่นใจว่าจีนผู้นำเข้ายางพาราจากไทยรายใหญ่สุด(สัดส่วน 48%) และผู้ซื้อจากทั่วโลกจะมีคำสั่งซื้อเข้ามาจำนวนมากหลังเทศกาลตรุษจีน ซึ่งเวลานี้ผู้ส่งออกยางได้แย่งซื้อยางเพื่อตุนสต๊อกไว้รอขาย แข่งกับเวลาที่เหลือน้อย เพราะเวลานี้ในหลายพื้นที่ เช่น ภาคเหนือ อีสานและตะวันออกได้ทยอยปิดกรีดยางแล้วเป็นส่วนใหญ่เนื่องจากเข้าฤดูแล้ง ยางผลัดใบ กรีดนํ้ายางไม่ออก ส่วนภาคใต้จะเริ่มปิดกรีดปลายเดือนกุมภาฯนี้เช่นกัน ซึ่งจะทำให้ซัพพลายหายไป โดยผู้ส่งออกยางชี้ว่าแนวโน้มราคายางหลังตรุษจีนมีโอกาสที่จะขยับเหนือ 50 บาท/กก.ได้

TP09-3341-A ++ปาล์มราคาทะลุเป้าหมาย
ส่วนปาล์มนํ้ามันที่ราคาตกตํ่ามาก เหลือเพียง 2.70-3.45 บาท/กก.ในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ขณะที่สต๊อกนํ้ามันปาล์มดิบ(CPO)ในประเทศขณะนั้นสูงเป็นประวัติการณ์ถึง 5.32 แสนตัน ล่าสุดผลพวงจากกระทรวงพาณิชย์ได้ไปกระตุ้นการส่งออก นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีพาณิชย์

ออกมาระบุว่าสามารถผลักดันให้เอกชนส่งออกนํ้ามันปาล์มดิบได้แล้ว 1.57 แสนตัน ส่วนนายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีพลังงานแจ้งว่าสามารถกระตุ้นเพิ่มการผลิตไบโอดีเซลจากเดิม 4 ล้านลิตรต่อวันเป็น 6 ล้านลิตรต่อวันในปัจจุบัน ทำให้สต๊อกไบโอดีเซลเพิ่มจาก 92 ล้านลิตรเป็น 109 ล้านลิตร สรุป ณ เดือนมกราคม 2561 สต๊อกนํ้ามันปาล์มดิบได้ลดลงเหลือ 4.07 แสนตัน

ผลพวงจากความสำเร็จของมาตรการข้างต้น ประกอบกับเวลานี้ผลผลิตปาล์มนํ้ามันในหลายพื้นที่ของภาคใต้ซึ่งเป็นแหล่งผลิตใหญ่ได้ลดลงตามวัฏจักรของฤดูการผลิตทำให้ของมีน้อย ล่าสุด ราคาปาล์มในหลายแหล่งผลิตใหญ่ อาทิ กระบี่ สุราษฎร์ธานี และชุมพรขยับขึ้นมาเฉลี่ยที่ 3.80-4.20 บาท/กก. ถือเป็นไปตามเป้าหมายรัฐบาลที่ต้องการเห็นราคาปาล์มที่ระดับ 3.80 บาท/กก.ใน 2 เดือนแล้ว

++มัน-ข้าวโพดทำนิวไฮ
ด้านมันสำปะหลัง ราคาหัวมันสดที่เกษตรกรขายได้ในไร่นา ณ ปัจจุบัน เฉลี่ยที่ 2.20 บาท/กก. สูงสุดรอบ 3 ปี (นับจากปี 2558) ผลพวงจากราคามันตกตํ่ามาหลายปี ชาวไร่ลดการปลูก ส่วนหนึ่งผลผลิตเสียหายจากภัยธรรมชาติ ขณะที่ความต้องการมันสำปะหลังจากจีนซึ่งเป็นตลาดใหญ่สุดเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตแอลกอฮอล์ทดแทนข้าวโพดเพิ่มสูงขึ้นมากในขณะนี้ ทำให้ผู้ส่งออกแย่งซื้อ

ส่วนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ก็ไม่น้อยหน้า ราคาที่เกษตรกรขายได้เวลานี้เฉลี่ยที่ 8.80-9.60 บาท/กก. สูงสุดในรอบ 5 ปี (นับจากปี 2555) จากผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ขณะนี้มีน้อยขณะที่ความต้องการข้าวโพดของผู้ผลิตอาหารสัตว์มีมาก จากกระทรวงพาณิชย์บังคับสัดส่วน 3:1 (ซื้อข้าวโพดในประเทศ 3 ส่วนจึงจะนำเข้าข้าวสาลีได้ 1 ส่วน) พ่อค้าคนกลาง ร้านรับซื้อ โรงงานอาหารสัตว์แย่งซื้อเช่นกัน

 

โปรโมทแทรกอีบุ๊ก

++ทิศทางราคายังผันผวน
อย่างไรก็ดีทิศทางของราคาสินค้าเกษตรในช่วงเดือนที่เหลือของปีนี้ ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากผลผลิตที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยผลพยากรณ์จากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ในปี 2561 สินค้าเกษตรสำคัญหลายรายการคาดจะมีผลผลิตเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อราคาหากผลผลิตเกินความต้องการของตลาด เช่น ยางพาราจากปี 2560 คาดมีผลผลิต 4.5 ล้านตัน จะเพิ่มขึ้นเป็น 4.9 ล้านตันในปี 2561 จากมีเนื้อที่กรีดยางได้ทั่วทั้งประเทศเพิ่มขึ้นจาก 19.2 ล้านไร่ เป็น 20.1 ล้านไร่ ข้าวนาปรัง ผลผลิตจะเพิ่มขึ้นจาก 7.1 ล้านตัน เป็น 7.9 ล้านตันจากนํ้าต้นทุนในอ่างเก็บนํ้า และแหล่งนํ้าธรรมชาติที่จะใช้ในการทำนามีมากกว่าปีที่แล้ว

รศ.สมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมองของชาติระบุว่า ราคาสินค้าเกษตรจะดีหรือไม่ดี ปัจจัยหลักขึ้นกับดีมานด์-ซัพพลาย การแข่งขันในต่างประเทศ จากเศรษฐกิจและกำลังซื้อของประเทศคู่ค้า เป็นต้น

ดังนั้นทิศทางความยั่งยืนของราคาสินค้าเกษตรที่ดีในอนาคต ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน และเกษตรกรต้องร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดในการดูแลการผลิตให้สมดุลกับความต้องการของตลาด การ ผลักดันเพิ่มการใช้วัตถุดิบสินค้าเกษตรในประเทศ และสร้างอุตสาหกรรมแปรรูปเพิ่มมูลค่าสินค้าอย่างจริงจัง เพื่อหลุดจากกับดักการขายเป็นวัตถุดิบได้ราคาถูก เป็นต้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,341 วันที่ 18 - 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว