ตั้งทีมเจรจาลดค่าโง่ยาง ศาลสั่งจ่ายซีพี365ล้าน-สอบต้นตอแพ้คดี

21 ก.พ. 2561 | 04:32 น.
“กฤษฎา” สั่งกรมวิชาการเกษตรตั้งทีมเจรจาลดหนี้ หลังศาลตัดสินให้ชดใช้ค่าเสียหายคดีกล้ายางซีพีต้องจ่ายจริงกว่า 365 ล้าน พร้อมตั้งกรรมการสอบต้นตอทำให้แพ้คดี ด้านเครือซีพีแจงที่มาฟ้องเรียก 1,700 ล้าน จากค่าเสียหายภาพลักษณ์สูงปรี๊ด!

น.สพ.สรวิศ ธานีโต โฆษกและผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สั่งการด่วนที่สุดให้กรมวิชาการเกษตรแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ไปเจรจากับเครือเจริญโภคภัณฑ์(ซีพี) เพื่อขอลดยอดเงินจ่ายค่าเสียหาย หลังจากศาลฎีกาสูงสุดได้มีคำพิพากษาตัดสินให้ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์เมล็ดพันธุ์ จำกัดในเครือซีพี ชนะคดียางล้านไร่ จากที่บริษัทถูกระงับการส่งมอบต้นกล้ายาง 16.14 ล้านต้น ซึ่งทางบริษัทเรียกค่าเสียหายรวม 1,700 ล้านบาท แต่กรมต้องจ่ายค่าเสียหายจริงรวม 365 ล้านบาทเท่านั้น

TP08-3341-1A ทั้งนี้เมื่อผลการเจรจาสำเร็จให้ทำหนังสือแจ้งไปยังศาลด้วย นอกจากนี้ให้มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนในเรื่องดังกล่าวว่ามีความหละหลวมในเรื่องใด และใครมีส่วนเกี่ยวข้องบ้าง

ด้านแหล่งข่าวเครือซีพี เผยที่มาของการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย 1,700 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าเสียหายภาพลักษณ์ 1,300 ล้านบาทและอีกราว 400 ล้านบาท จากเงินค้างชำระที่บริษัทส่งมอบกล้ายางไปก่อนหน้านี้ประมาณ 87 ล้านบาท รวมค่าเสียหายที่ถูกระงับการส่งมอบยาง 16.14 ล้านต้น และดอกเบี้ยระยะเวลา 10 ปี อย่างไรก็ดีที่สุดแล้วศาลมีคำพิพากษาให้กรมวิชาการเกษตรชดใช้ค่าเสียหายแก่บริษัทเฉพาะค่าเสียหายจากการถูกระงับการส่งมอบกล้ายาง 16.14 ล้านต้นบวกค่าดอกเบี้ยแล้วรวม 365 ล้านบาท ส่วนค่าเสียหายภาพลักษณ์นั้นศาลไม่ให้จ่าย

แหล่งข่าวจากกรมวิชาการเกษตร เผยว่าในปี 2549 ปีสุดท้ายของโครงการยางล้านไร่ ทางเครือซีพี ค้างส่งมอบกล้ายางให้เกษตรกร 3.32 หมื่นราย รวม 16.14 ล้านต้น โดยให้เหตุผลว่า ในปีดังกล่าวฝนตกมากเกินไป นํ้าท่วมในหลายพื้นที่ จึงเป็นเหตุสุดวิสัยที่ไม่สามารถส่งมอบกล้ายางให้เกษตรกรได้ทันตามกำหนด ในขณะนั้นคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดที่มีการอนุมัติกล้ายางตามโครงการดังกล่าว และเครือซีพี กำลังถูกตรวจสอบกรณีมีข้อสงสัยว่าบริษัทฮั้วประมูลงาน ซึ่งคดีอยู่ในระหว่างการตรวจสอบของ คตส. จึงทำให้ นายธีระ สูตะบุตร อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ตัดสินใจยกเลิกสัญญากับเครือซีพี

“อดีตรัฐมนตรีให้เหตุผลการยกเลิกสัญญาในครั้งนั้นว่าจำเป็นต้องตัดตอน เพื่อให้ คตส.ได้ตรวจสอบเงินที่นำมาใช้ในโครงการกล้ายาง ซึ่งเห็นว่า คตส.ยังตรวจสอบเงินก้อนนี้อยู่ แล้วจะให้กระทรวงเกษตรฯ มารับโครงการต่อได้อย่างไร ทางซีพีน่าจะเข้าใจ”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,341 วันที่ 18 - 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว