สปส.เผยผู้ประกันตน ม.39 เชื่อมั่นจ่ายเงินสมทบโดยหักบัญชีธนาคารมากสุด

15 ก.พ. 2561 | 07:58 น.
ประกันสังคม เผยผู้ประกันตนมาตรา 39 เชื่อมั่นในระบบจ่ายเงินสมทบผ่านธนาคาร แจงธ.ค.60 มีผู้ประกันตนมาตรา 39 จ่ายเงินสมทบโดยวิธีการหักบัญชีเงินฝากธนาคาร จำนวน 649,394 คน คิดเป็นร้อยละ 50.82 เลขาธิการ สปส. เผย มุ่งมั่นเตรียมเพิ่มช่องทางความสะดวกให้ผู้ประกันตนหันมาสนใจ “อย่าขาดเงินสมทบเกิน 3 เดือน” เพื่อสิทธิประโยชน์ในระบบประกันสังคม

นายสุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงตัวเลขการส่งเงินสมทบของผู้ประกันตนมาตรา 39 ตามฐานทะเบียนงวดเดือนธันวาคม 2560 มีจำนวนทั้งสิ้น 1,365,106 คน ในจำนวนนี้มีผู้ประกันตนมาตรา 39 ส่งเงินสมทบงวดเดือนธันวาคม 2560 มีจำนวนทั้งสิ้น 1,277,743 คน คิดเป็นร้อยละ 93.60 อย่างไรก็ดี สำนักงานประกันสังคมได้อำนวยความสะดวกในการชำระเงินสมทบของผู้ประกันตนมาตรา 39 ซึ่งมีกำหนดชำระเงินสมทบภายในวันที่ 15 ของทุกเดือน อยู่หลากหลายช่องทางหลายวิธีด้วยกัน

โดยตัวเลขผู้ประกันตนมาตรา 39 ที่จ่ายเงินสมทบที่กล่าวมาข้างต้นเลือกที่จะใช้วิธีการจ่ายเงินสมทบมากที่สุดอันดับที่ 1 คือ การหักบัญชีเงินฝากธนาคาร จำนวน 649,394 คน คิดเป็นร้อยละ 50.82 รองลงมาอันดับ 2 การจ่ายเงินสมทบผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิส (ร้านเซเว่น อีเลฟเว่น) จำนวน 376,714 คน คิดเป็นร้อยละ 29.48 อันดับที่ 3 การจ่ายเงินผ่านเคาน์เตอร์ธนาคาร จำนวน 189,941 คน คิดเป็นร้อยละ 14.87

suradej

อันดับที่ 4 การจ่ายเงินสมทบที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ 12 แห่ง/จังหวัด/สาขาทั่วประเทศ จำนวน 53,590 คน คิดเป็นร้อยละ 4.19 อันดับที่ 5 การจ่ายโดยวิธีส่งทางไปรษณีย์ จำนวน 6,274 คน คิดเป็นร้อยละ 0.94 และอันดับที่ 6 การจ่ายผ่านเคาน์เตอร์เซ็นเพย์ (เซ็นทรัล) จำนวน 1,808 คน คิดเป็นร้อยละ 0.14

เลขาธิการสปส. กล่าวต่อว่า การที่ผู้ประกันตนเลือกวิธีจ่ายเงินสมทบ โดยวิธีหักบัญชีเงินฝากธนาคารแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นในระบบการจ่ายเงินสมทบ ที่สำนักงานประกันสังคมพร้อมให้ผู้ประกันตนอีกช่องทางหนึ่ง ที่จะอำนวยความสะดวก รวดเร็ว ประหยัดเวลา และค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาติดต่อกับสำนักงานประกันสังคม โดยร่วมกับธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารกรุงไทย ธนาคารธนชาต ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารทหารไทย และธนาคารกรุงเทพ

ทั้งนี้ มีขั้นตอนง่าย ๆ เพียงผู้ประกันตนยื่นหนังสือยินยอม การหักบัญชีเงินฝากธนาคารที่เปิดบัญชีไว้ ซึ่งเจ้าหน้าที่ธนาคารจะรับรองลายมือชื่อในหนังสือยินยอมฯ และให้ผู้ประกันตนนำสำเนาหนังสือยินยอมฯ ที่เจ้าหน้าที่ธนาคารได้รับรองลายมือชื่อแล้ว พร้อมแบบคำขอส่งเงินสมทบและสำเนาสมุดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ของผู้ประกันตน พร้อมแนบคำขอส่งเงินสมทบและสำเนาสมุดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ของผู้ประกันตน และเป็นบัญชีประเภทที่สามารถ ทำธุรกรรมหักบัญชีได้ มายื่น ณ สำนักงานประกันสังคมที่ผู้ประกันตนขึ้นทะเบียนไว้ก่อนวันที่ 15 ของทุกเดือน

Ad_Online-03

ผู้ประกันตนนำเงินเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารให้เพียงพอ ที่ธนาคารจะหักเป็นจำนวนเงินสมทบที่ต้องนำส่ง 1 งวดเดือน พร้อมค่าธรรมเนียมธนาคาร รายการละ 10 บาท โดยทุกวันที่ 15 ของเดือน ธนาคารจะทำการหักบัญชีเงินฝากของผู้ประกันตน หากเดือนใดวันที่ 15 ตรงกับวันหยุดธนาคารจะเลื่อนไปหักบัญชีวันทำการถัดไป ในส่วนของการออกใบเสร็จรับเงินนั้น ธนาคารจะส่งให้ผู้ประกันตนทางไปรษณีย์ ทั้งนี้ หากใบเสร็จรับเงินไม่ถึงผู้ประกันตน ผู้ประกันตนสามารถติดต่อขอรับใบเสร็จรับเงินหรือใบรายการชำระเงินสมทบ ได้ที่สำนักงานประกันสังคม ทั่วประเทศ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น สำนักงานประกันสังคมยังคงมุ่งมั่นอย่างไม่หยุดนิ่งเพื่อพัฒนาทุกช่องทางการให้บริการรับชำระเงินสมทบผู้ประกันตนตามมาตรา 39

อีกทั้งเตือนถึงผู้ประกันตนมาตรา 39 หันมาสนใจในสิทธิประโยชน์ที่พึงมีพึงได้ในระบบประกันสังคม “อย่าขาดส่งเงินสมทบเกิน 3 เดือน” ฉะนั้นสิทธิของผู้ประกันตนจะสิ้นสภาพโดยปริยาย หากผู้ประกันตนมีปัญหาข้อสงสัยติดต่อสอบถาม รายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด/สาขาทั่วประเทศ ที่ท่านสะดวก หรือโทร 1506

e-book