เชื่อมั่นอีอีซีดันรายได้ต่อคนเพิ่มเท่าตัว ปั๊ม‘จีดีพี’โต60ล้านล้าน

20 ก.พ. 2561 | 03:40 น.
ร่างพระราชบัญญัติเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. …. หรือกฎหมายอีอีซี ที่ผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้โครงการอีอีซี ซึ่งเป็นความหวังใหม่ของไทยในการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันและดึงดูดการลงทุนในอนาคตอีก 20 ปีข้างหน้า เดินหน้าได้อย่างเต็มรูปแบบ

++ดันรายได้ต่อหัวเพิ่มเท่าตัว
โดยนายสุวิทย์ สรรพวิทยศิริ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย สถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง(สวค.) ภายใต้กระทรวงการคลังประเมินว่า การขับเคลื่อนเศรษฐกิจในพื้นที่อีอีซี จะทำให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศเพิ่มขึ้นจากการเติบโตปกติอีก2%ส่งผลให้ขนาดเศรษฐกิจของประเทศจะเพิ่มแบบก้าวกระโดดจาก 15 ล้านล้านบาทในปี 2560เป็น 30 ล้านล้านบาทในปี 2570 และ 60 ล้านล้านบาทในปี 2580

ขณะที่รายได้ต่อหัวของประชากรใน 3 จังหวัด ก็จะปรับตัวสูงขึ้นเป็น 21,000 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อคนต่อปี หรือ 672,000 บาทต่อคนต่อปี ซึ่งจะเป็นตัวเร่งให้รายได้เฉลี่ยต่อหัวของประเทศเพิ่มสูงขึ้นจนบรรลุเป้าหมายการหลุดพ้นจากประเทศกับดักรายได้ปานกลางที่ 10,000 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อคนต่อปี หรือ 320,000 บาทต่อคนต่อปี ในปี 2569 เร็วกว่าการเติบโตปกติที่ไม่มีการดำเนินนโยบายถึง 5 ปี โดยในปี 2569 คนไทยจะมีรายได้เฉลี่ยของประชากร 12,450 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อคนต่อปี หรือ 398,400 บาทต่อคนต่อปีจากปัจจุบันที่มีรายได้เฉลี่ย 6,600 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อคนต่อปี หรือ 211,200 บาทต่อคนต่อปีในปี 2560

++จีดีพีโตจากการลงทุน
ปัจจัยสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาอีอีซี ไปสู่เป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจระยะยาว คือ การลงทุนภาครัฐที่มีคุณภาพ จะทำให้ผลิตภาพทุนและแรงงานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเฉลี่ย11.3%ต่อปี ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนจะช่วยสนับสนุนการสะสมทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีคุณภาพในระบบเศรษฐกิจ เฉลี่ย 8.9% ต่อปี นอกจากนี้ยังช่วยเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวคุณภาพ ทำให้ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อหัวของนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 8.1% ต่อปี

นอกจากนี้ การพัฒนาอีอีซี จะทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลอย่างต่อเนื่องแต่ไม่เกิน 3% ของจีดีพี ซึ่งอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ ดุลการชำระเงินและทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับที่มั่นคงตามการลงทุนทางตรง ส่วนผลทางอ้อมจะทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 2.3% ต่อปีในระยะยาว อยู่ในระดับไม่สูงมากเมื่อเทียบกับการเติบโตของขนาดเศรษฐกิจ เนื่องจากมีผลิตภาพแรงงานและทุนขยายตัวเร่งขึ้นตามอุตสาหกรรมเป้าหมาย

++20 ปีรายได้ 1.2 ล้าน/ครอบครัว
อย่างไรก็ตาม การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของการลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชน อาจทำให้อัตราดอกเบี้ยในระบบปรับเพิ่มขึ้นบ้าง แต่จะไม่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุนและการขับเคลื่อนนโยบายอย่างมีนัยสำคัญ เพราะตามเป้าหมายการลงทุนของภาครัฐจะทยอยลงทุนในหลากหลายรูปแบบ ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดให้การขาดดุลเงินสดของรัฐบาลแต่ละปีไม่เกิน 3% ของจีดีพี ขณะที่อัตราส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพี ในประเทศจะต้องไม่เกิน 60%

tp11-3340-a อีกทั้งการพัฒนาอีอีซียังส่งผลต่อการจัดสรรทรัพยากรทางเศรษฐกิจและการลดความเหลื่อมลํ้ายกระดับรายได้ของประชาชน เนื่องจากแรงงานชั้นกลางจำนวนมากถูกดึงเข้ามาในระบบเพื่อยกระดับการผลิตให้สูงขึ้น ทำให้มีรายได้มากขึ้นลดความเหลื่อมลํ้าจากการกระจายรายได้มากขึ้น อัตราการขยายตัวของเมืองเพิ่มขึ้น 74% ในปี 2580

“จากการประเมินโดยใช้แบบจำลองเศรษฐกิจมหภาค พบว่าแนวทางการพัฒนาอีอีซี จะทำให้รายได้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 7% ต่อปี จาก 326,545 บาทต่อปีในปี 2560 เป็น 1,263,629 บาทต่อปีในปี 2580 จากผลิตภาพแรงงานและทุนที่สูงขึ้น ตามอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีศักยภาพและมีมูลค่าเพิ่มสูง ซึ่งเป็นการรองรับสังคมผู้สูงอายุได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังเพิ่มรายได้ของรัฐบาลทั้งทางตรงและทางอ้อมเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 6.5% ต่อปี ซึ่งรายได้ดังกล่าวถูกนำไปใช้ในการจัดสรรทรัพยากรทางเศรษฐกิจ เพื่อลดความเหลื่อมลํ้า ทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมได้มากขึ้น” นายสุวิทย์ระบุ

++การจ้างงานเต็มศักยภาพ
นายสุวิทย์ ชี้ให้เห็นอีกว่า ผลของการลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชนในอีอีซี จะทำให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจทั้งในระดับประเทศและระดับพื้นที่ โดยในปี 2580 หรืออีก 20 ปีข้างหน้า กำลังแรงงานและการจ้างงานอยู่ที่ระดับศักยภาพการผลิตเต็มที่ของประเทศ การสะสมทุนเพิ่มขึ้นถึง 4 เท่า มีอัตราการผลิตเฉลี่ยสูงถึง60%ผลจากการส่งเสริม 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย รวมทั้งภาคเกษตรกรรมและภาคบริการ ทำให้เกิดการสะสมทุนอย่างต่อเนื่องกว่า 9% ต่อปี คาดว่ามูลค่าการสะสมทุนของประเทศจะเพิ่มขึ้นถึง 4 เท่า เมื่อเทียบกับปัจจุบัน

โดยมีอัตราการใช้กำลังการผลิตภาคอุตสาหกรรมเฉลี่ยปี2561-2580 อยู่ที่ประมาณ60%ผลิตภาพแรงงาน เพิ่มขึ้นเฉลี่ย0.14%ต่อปี คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.0% ต่อปีในระยะยาว ในขณะที่ผลิตภาพทุนของประเทศเพิ่มขึ้นในระยะยาวเฉลี่ย 1.25% ต่อปี จากปัจจุบันที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 0.35% ตามเทคโนโลยีและการลงทุนในอุตสาหกรรมและบริการสมัยใหม่

Ad_Online-03-503x62-1 ทั้งนี้ จากการดำเนินนโยบาย อีอีซีในช่วง 1 ปีที่ผ่านมามีเม็ดเงินลงทุนใหม่ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย และอุตสาหกรรมเป้าหมายสนับสนุน 3 อุตสาหกรรม รวม 257,053 ล้านบาท ประกอบด้วย เม็ดเงินลงทุนใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย 247,744 ล้านบาทแบ่งเป็นอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ 1,045 ล้านบาท อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์1,681ล้านบาท อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร 2,991 ล้านบาท อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ 124,258 ล้านบาท อุตสาหกรรมดิจิตอล 1,676 ล้านบาท อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ 52,092 ล้านบาท อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ 34,920 ล้านบาท อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ5,166ล้านบาท อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ 22,239 ล้านบาท และอุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร 1,676 ล้านบาท

ส่วนอุตสาหกรรมเป้าหมายสนับสนุน 3อุตสาหกรรมจะมีวงเงินลงทุนรวมในช่วง 5 ปี 9,309 ล้านบาท ประกอบด้วย อุตสาหกรรมวิจัยและพัฒนา 2,595 ล้านบาท อุตสาหกรรม IHQ และ ITC 1,370 ล้านบาท และอุตสาหกรรมไฟฟ้าจากขยะ 5,344 ล้านบาท

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,340 วันที่ 15 - 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว