‘ดอนเมืองโทลล์เวย์’พลิกเกมรุก เพิ่มศักยภาพเทคโนโลยี

17 ก.พ. 2561 | 06:57 น.
วันนี้ครบ 30 ปีของการดำเนินธุรกิจแต่ดูเหมือนว่าดอนเมืองโทลล์เวย์จะยังมุ่งขยายธุรกิจอย่างไม่หยุดนิ่งเนื่องจากเล็งเห็นโอกาสการลงทุนของภาครัฐที่มีแผนก่อสร้างมอเตอร์เวย์ และทางด่วนอีกหลายโครงการ ทั้งนี้ “ศักดิ์ดา พรรณไวย” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด(มหาชน) ให้สัมภาษณ์พิเศษ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงทิศทางการลงทุนและแนวโน้มการเติบโตทางธุรกิจว่า “ดอนเมืองโทลล์เวย์” จัดเป็นเส้นทางหลักในการเดินทางเข้า-ออกจากโซนเหนือของกรุงเทพมหานคร เป็นอีกหนึ่งทางเลือกการเดินทางให้ประชาชนสามารถเดินทางจากใจกลางกรุงเทพฯไปสู่พื้นที่โซนเหนือหรือมุ่งสู่ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้อย่างสะดวกรวดเร็วขึ้น

โดยช่วงที่ผ่านมาดอนเมืองโทลล์เวย์ได้มีการพัฒนาบุคลากร ความปลอดภัย และธุรกิจควบคู่กันมาโดยตลอด ไม่ได้มุ่งเน้นเฉพาะการพัฒนาธุรกิจเท่านั้น แต่ยังเน้นด้านธรรมาภิบาล กิจกรรมเพื่อสังคม รณรงค์ด้านความปลอดภัย ให้กับหน่วยงานทั้งภายในและภายนอกองค์กร นอกจากนั้นยังใช้คำนิยามที่ว่า CAT นั่นคือการมุ่งเน้นบริการลูกค้า ให้ได้รับความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย เน้นให้พนักงานมีแรงขับเคลื่อนกระตุ้นการทำงานไปสู่ความสำเร็จ และประสานงานเป็นทีมเวิร์กที่ดีเพื่อขับเคลื่อนองค์กรให้พัฒนาก้าวหน้าต่อไป

[caption id="attachment_259596" align="aligncenter" width="443"] ศักดิ์ดา พรรณไวย ศักดิ์ดา พรรณไวย[/caption]

++ภาพรวมธุรกิจปี60
ภาพรวมในปี 2560 พบว่ามีปริมาณจราจรในเส้นทางเพิ่มขึ้น 9 หมื่น 1 แสนคันต่อวัน เส้นทางส่วนต่อขยายประมาณ 5 หมื่นคันต่อวัน ส่วนกรณีความชัดเจนด้านการปรับราคาค่าผ่านทางยังเป็นไปตามเงื่อนไขสัญญาและอิงกลไกการตลาด โดยตามสัญญาจะมีการปรับราคาอีกครั้งซึ่งจะมีการอ้างอิงภาวะเงินเฟ้อประกอบการพิจารณาดังกล่าวนี้ด้วย ระยะสัมปทานที่เหลืออีกประมาณ 16 ปีจึงเป็นอีกหนึ่งความท้าทายในการต่อระยะสัญญา หรือแข่งประมูลในการบริหารจัดการเส้นทางดังกล่าวนี้

ในส่วนผลประกอบการทางธุรกิจนั้น “ศักดิ์ดา” ยืนยันว่าในปี 2560 คงเป็นไปตามเป้าหมาย และมีแนวโน้มดีขึ้นกว่าปี 2559 ที่ผ่านมาเล็กน้อย นอกจากนั้นยังได้ดำเนินโครงการสมาร์ทโปรเจ็กต์ที่จะแล้วเสร็จในปี 2562 เพื่อบริหารการจราจรให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น อีกทั้งยังได้ปรับปรุงระบบการจัดเก็บค่าผ่านทางไปสู่ระบบอี-เพย์เมนต์ในปีนี้ แล้วยังมีแผนเชื่อมระบบกับ M-PASS และอีซี่พาส ต่อเนื่องกันไป เช่นเดียวกับการลิงก์เข้ากับระบบตั๋วร่วมแมงมุมและยิงคิวอาร์โค้ดก็มีแผนดำเนินการไว้แล้วทั้งหมด ขณะนี้ยังต้องมองเรื่องความเป็นไปได้และนโยบายของภาครัฐประกอบกันอีกครั้ง

++มีแผนเชื่อมโยงระบบอื่น
ในปี 2560-2561 ดอนเมืองโทลล์เวย์มีแผนเชื่อมโยงเข้ากับระบบทางด่วน 2-3 โครง การ อาทิ แผนเชื่อมโทลล์เวย์เข้ากับทางด่วนศรีรัช-วงแหวนรอบนอกด้านตะวันตกเพื่อเชื่อมโยงกับฝั่งตะวันตกของกรุงเทพ มหานครเข้าสู่ระบบทางด่วนขั้นที่ 2 และดอนเมืองโทลล์เวย์เพื่อไปยังสนามบินดอนเมือง ในการรองรับปัญหาจราจรช่วงพื้นที่สถานีกลางบางซื่อที่จะพัฒนาให้เป็นฮับการเดินทางแห่งใหม่ระดับอาเซียนนั่นเอง

Ad_Online-03-503x62-1 นอกจากนั้นยังมีแผนเชื่อมเข้ากับการก่อสร้างสนามบินดอนเมืองระยะที่ 3 เพื่อให้สามารถเชื่อมกับโทลล์เวย์ได้โดยตรง จากปัจจุบันนี้มีทางเชื่อมเข้าสู่สนามบินดอนเมืองเพียงจุดเดียว แต่หากออกมาจากสนามบินดอนเมืองพบว่ายังไม่สามารถเชื่อมเข้าสู่โทลล์เวย์ได้โดยตรงคาดว่าจะใช้งบประมาณการลงทุนไม่น้อยกว่า 100 ล้านบาทต่อการก่อสร้างทางเชื่อมประมาณ 500 เมตร เช่นเดียวกับโครงการส่วนต่อขยายจากรังสิตไปถึงบางปะอินขณะนี้รอความชัดเจนจากภาครัฐเท่านั้นซึ่งทั้งหมดนี้ดอนเมืองโทลล์เวย์เตรียมความพร้อมลงทุนไว้พร้อมแล้วทั้งการลงทุนเองหรือการร่วมลงทุนพีพีพี

++ระดมทุนคืบหน้าอย่างไร
เรายังคงมองในหลายช่องทางการลงทุนเพื่อเข้าร่วมแข่งประมูลโครงการขนาดใหญ่ของรัฐบาลเนื่องจากมีระยะเวลานานถึง 30 ปีจึงมองว่าโอกาสการลงทุนจะคุ้มค่าหรือไม่อย่างไรบ้าง เช่นเดียวกับการมองศักยภาพคู่แข่งทางธุรกิจที่จะต้องเร่งพัฒนาให้สามารถกำหนดเงื่อนไขการลงทุนที่เหนือกว่าคู่แข่งได้ด้วยเช่นกัน จึงต้องศึกษากลยุทธ์และแผนธุรกิจให้พร้อมอยู่ตลอดเวลา เช่นเดียวกับปีนี้ยังมีแคมเปญการตลาดอีกหลายรายการที่จะเปิดตัวในเร็วๆ นี้

นอกจากนั้นยังให้ความสำคัญในเรื่องการเชื่อมโยง เนื่องจากปัจจุบันระบบทางด่วนยังไม่เชื่อมถึงกันได้อย่างสมบูรณ์ ผู้ใช้ทางจึงยังไม่มีทางเลือกมากนัก ดังนั้นหากรัฐเร่งเชื่อมโยงระบบทางด่วนได้มากขึ้น ก็จะส่งผลให้ดอนเมืองโทลล์เวย์เติบโตตามไปด้วยจึงเสนอภาครัฐให้เร่งศึกษาโครงการก่อสร้างเส้นทางเชื่อมโยงในทุกจุดที่สามารถจะดำเนินการได้โดยเร็วต่อไป

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,340 วันที่ 15 - 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว