พลังทัวริสต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก นักท่องเที่ยวจีนบุก!

17 ก.พ. 2561 | 02:23 น.
หัวจักรการท่องเที่ยวเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก เพราะสถิติชี้ว่าในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทั่วโลกสร้างรายได้นำห่างหลายภาคอุตสาหกรรม ยกตัวอย่างปี 2559 ยอดรายได้ของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวโดยรวมมีมูลค่าไม่ตํ่ากว่า 7.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และในระยะ 10 ปีข้างหน้า สภาการเดินทางและการท่องเที่ยวโลก (World Travel and Tourism Council) ประมาณการว่า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจะเป็นแหล่งสร้างงานให้กับประชากรโลก โดยในทุกๆ 4 อัตราการจ้างงานใหม่หนึ่งในนั้นจะเป็นงานที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว

และเมื่อกล่าวถึงการขยายตัวด้านการท่องเที่ยวแล้ว ภูมิภาคเอเชียนับว่ามีการขับเคลื่อนที่น่าจับตาเป็นอย่างมากในฐานะมหาอำนาจด้านการท่องเที่ยว จักรเฟืองสำคัญในเรื่องนี้คือ นักท่องเที่ยวชาวจีนที่หลั่งไหลออกท่องเที่ยวทั่วโลกมากขึ้นทุกปี นอกจากนี้ยังทำสถิติเป็นทั้งนักช็อปตัวยง สถิติในปี 2559 ขององค์การการท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติ ชี้ว่า นักท่องเที่ยวชาวจีนจับจ่ายใช้สอยเป็นตัวเลขสูงเกินกว่านักท่องเที่ยวชาติอื่นๆ รวมทั้งสหรัฐอเมริกาที่ยังมียอดการจับจ่ายน้อยกว่านักท่องเที่ยวจีนราวครึ่งหนึ่ง (ดังภาพประกอบ)

TP10-3340-2A นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวชาวจีนยุคใหม่ที่เป็นคนหนุ่มสาวยังเป็นคนในยุคสมัยที่ใช้การท่องเที่ยวในประเทศต่างๆ ทั่วโลกเป็นตัวบ่งชี้สถานะทางสังคมแทนกระเป๋าถือแบรนด์เนม ด้วยเหตุนี้จึงไม่น่าแปลกใจที่มากกว่า 1 ใน 5 ของยอดใช้จ่ายรวมของนักท่องเที่ยวที่เดินทางออกนอกประเทศทั่วโลกจะเป็นยอดใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวชาวจีน มีตัวเลขประมาณการว่า ภายในปี 2564 ยอดรวมการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวจีนในต่างประเทศน่าจะพุ่งไปถึงระดับ 429,000 ล้านดอลลาร์ หรือกว่า 13.7 ล้านล้านบาท

งานวิจัยของบริษัทที่ปรึกษาการลงทุน “ซีแอลเอสเอ” ในปี 2560 ชี้ว่า ญี่ปุ่น ไทย และสหรัฐอเมริกา ได้รับการโหวตจากนักท่องเที่ยวจีนว่า นี่คือจุดหมายปลายทางที่พวกเขาจะมาเยือนให้ได้ (must-visit wish list) ภายใน 3 ปีข้างหน้า ลำดับอื่นๆ ที่รองลงมาได้แก่ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์

แนวโน้มในอนาคตจะยิ่งเพิ่มมากกว่านี้ เนื่องจากนักท่องเที่ยวจีนที่เราเห็นเดินทางออกนอกประเทศนั้น ยังเป็นสัดส่วนน้อยนิดของประชากรจีนทั้งประเทศ จากสถิติขององค์การการท่องเที่ยวแห่งสหประชาชาติพบว่า ชาวจีนที่มีพาสปอร์ตเพื่อการเดินทางออกนอกประเทศได้ มีสัดส่วนเพียง 5% เท่านั้น และในแต่ละปี รัฐบาลจีนต้องออกหนังสือเดินทางใหม่ให้แก่ประชาชนที่มายื่นขอราวๆ 10 ล้านฉบับ เราจึงไม่อาจมองข้ามความสำคัญของนักท่องเที่ยวจีนไปได้เลย

TP10-3340-1A ++การเปลี่ยนแปลงที่ตามมา
ผลสำรวจของบริษัท มาสเตอร์การ์ดฯ ชี้ว่า ภายในระยะเวลา 5 ปีซึ่งสิ้นสุด ณ สิ้นปี 2564 นักท่องเที่ยวจากประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ในเอเชียแปซิฟิกจะเป็นพลังขับเคลื่อนที่ทำให้เกิดนักท่องเที่ยวหน้าใหม่ในตลาดต่างประเทศจำนวนมากกว่า 50 ล้านคน ส่วนใหญ่พวกเขาคือคนรุ่นใหม่ในยุคที่ขาดโทรศัพท์สมาร์ทโฟนไม่ได้ และพลังของนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ก็จะทำให้โฉมหน้าการท่องเที่ยวโลกมีการเปลี่ยนแปลงไป จากนักท่องเที่ยวที่มากับกลุ่มทัวร์กลายเป็นนักท่องเที่ยวที่มากันเอง (เรียกว่า กลุ่ม FIT หรือ free, independent traveler) จัดตารางและกิจกรรมท่องเที่ยวเองตามใจชอบ โดยส่วนมากจะหาข้อมูลล่วงหน้าจากอินเตอร์เน็ต จองพาหนะและที่พักทางอินเตอร์เน็ต และใช้แอพพลิเคชันในสมาร์ทโฟนแปลภาษาที่ตัวเองไม่คุ้นเคย

นักท่องเที่ยวลักษณะนี้ก่อให้เกิดบริการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ที่เป็นความสนใจเฉพาะบุคคลเพื่อตอบโจทย์ความต้องการ อาทิ การท่องเที่ยวขั้วโลกใต้ ภูเขาหิมาลัย หรือเกาะอนุรักษ์ที่เข้าถึงได้ด้วยเครื่องบินนํ้าเท่านั้น แน่นอนว่าเป็นบริการที่มีราคาแพงกว่าทัวร์ที่ไปกันเป็นกลุ่มก้อน แต่พวกเขาก็ยินดีจ่าย

AW_Online-03 รายงานระบุว่า การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้ ยังทำให้รัฐบาลหลายประเทศในเอเชียเพิ่มงบประมาณรวมๆ กันมากกว่า 100,000 ล้านดอลลาร์เพื่อปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานสนับสนุนการเดินทางท่องเที่ยว เช่น การขยายท่าอากาศยาน เพิ่มเที่ยวบิน สร้างทางรถไฟเส้นทางใหม่ๆ สร้างโรงแรมและสวนสนุกเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว เป็นต้น และนั่นก็เป็นแรงกระตุ้นให้เกิดปรากฏการณ์ อื่นๆ ตามมา เช่นราคาที่ดินที่พุ่งสูงขึ้น การเคลื่อนไหวของนักอนุรักษ์ธรรมชาติ การพัฒนานวัตกรรมและแอพพลิเคชันใหม่ๆ รองรับนักท่องเที่ยวนานาชาติ ฯลฯ

การขยายตัวเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานที่มีไม่เพียงพอรองรับทำให้ภูมิภาคเอเชียเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่มีแนวโน้มการก่อสร้างสนามบินเพิ่มมาก ที่สุด โดยผลสำรวจของบริษัท วีซ่า อิงค์. พบว่า มีสนามบินอีกอย่างน้อย 178 แห่งที่กำลังอยู่ในแผนก่อ สร้างในภูมิภาคนี้ นอกจากนี้ยังมีการขยายหรือปรับปรุงสนามบิน อีกนับร้อยๆ แห่งซึ่งมีอยู่แล้ว

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,340 วันที่ 15 - 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว