ล็อกTORประมูลปิโตรเลียม หนุนรายเก่าผลดีผลิตได้ต่อเนื่อง

18 ก.พ. 2561 | 06:36 น.
งวดเข้ามาทุกขณะกับการเปิดประมูลสัมปทานปิโตรเลียมของแหล่งบงกช และเอราวัณ ที่จะหมดอายุลงในช่วงปี 2565-2566 ซึ่งกำลังเป็นที่สนใจของทุกฝ่ายว่า รายใดจะคว้าแหล่งปิโตรเลียมขนาดใหญ่ของประเทศไปครอง จากการผลิตก๊าซธรรมชาติอยู่ราว 2 พันล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน แบ่งเป็นแหล่งเอราวัณผลิตก๊าซธรรมชาติอยู่ที่ 1.2 พันล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ส่วนแหล่งบงกช ผลิตก๊าซธรรมชาติอยู่ราว 900 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน

ล่าสุดนายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ยืนยันว่า อยู่ระหว่างพิจารณาหลักเกณฑ์และเงื่อนไขทีโออาร์การประมูลจะมีความชัดเจนปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้ และจะสามารถประกาศทีโออาร์ได้ภายในเดือนมีนาคม 2561 นี้

โดยที่แน่ๆ จะมีผู้รับสัมปทานรายเดิม อย่างบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ผู้ผลิตในแหล่งบงกช และบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ปัจจุบันเป็นผู้ผลิตในแหล่งเอราวัณ เข้ามาร่วมประมูลอย่างแน่นอน และอาจจะได้เห็นรายใหม่ๆ อาทิ Mubadala Petroleum (MP) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของรัฐวิสาหกิจด้านพลังงาน Mubadala Investment Company สาธารณรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หรือ UAE, CNOOC (China National Offshore Oil Corporation) และกลุ่มบริษัท มิตซุยฯ ซึ่งมีบริษัท โมเอโกะฯ ลงทุนในไทยอยู่แล้ว เข้าร่วมประมูลในครั้งนี้ด้วย

TP8-3340-A ++ออกTORหนุนรายเก่า
สำหรับความสนใจของการเปิดประมูลครั้งนี้ อยู่ที่การกำหนดเกณฑ์และเงื่อนไขการประมูล (TOR) ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ต้องการให้เกิดการผลิตปิโตรเลียมอย่างต่อเนื่อง โดยกำหนดให้ผู้ร่วมประมูลจะต้องสามารถรักษาการผลิตก๊าซธรรมชาติขั้นตํ่าไว้ที่ 1.5 พันล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ต่อเนื่อง 10 ปีขึ้นไป จะเป็นเงื่อนไขสำคัญ ที่จะนำไปสู่การตัดสินใจของผู้ประกอบการรายใหม่ว่าจะเข้าร่วมประมูลหรือไม่ เพราะหากชนะการประมูลไปแล้วไม่สามารถรักษากำลังการผลิต ก็จะต้องถูกปรับหรือไม่ก็ถูกถอนใบสัมปทาน

ทั้งนี้ หากมาพิจารณาผลได้ผลเสียของการเปิดประมูลครั้งนี้ นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ สะท้อนให้เห็นว่า การเปิดประมูลย่อมเป็นผลดีกับประเทศชาติมากกว่าไม่ได้เปิด เพราะ 1. ยังมีอัตรากำลังการผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย หากผลิตปิโตรเลียมไม่ได้จะทำให้ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (แอลพีจี) หายไป 2. ก๊าซธรรมชาติที่จะป้อนเข้าโรงแยกก๊าซธรรมชาติ จะหายไป จึงต้องนำเข้าแอลเอ็นจีเข้ามาทดแทน 3. ปริมาณนำเข้าแอลเอ็นจีเพิ่มสูงขึ้น และ 4. อุตสาหกรรมปิโตรเคมีได้รับผลกระทบและต้องนำเข้าแอลพีจีเข้ามาทดแทน เป็นต้น

++กังวลรายใหม่ผลิตไม่ต่อเนื่อง
ที่สำคัญการกำหนดอัตรากำลังการผลิตขั้นตํ่าที่ระดับ 1.5 พันล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จะเป็นจุดคัดกรองผู้ประกอบการที่มีศักยภาพ เพราะหากชนะการประมูลจะต้องดำเนินการตามเงื่อนไขให้สำเร็จ เพื่อให้เกิดการผลิตปิโตรเลียมอย่างต่อเนื่อง และหากเป็นรายใหม่ๆ เข้ามาประเทศจะได้เทคโนโลยีหรือนวัตกรรมใหม่ๆในการสำรวจขุดเจาะและผลิต เกิดการถ่ายถอดเทคโนโลยี

แต่ผลเสียที่เกิดขึ้น และเป็นที่น่ากังวลหากรายใหม่หรือรายเล็กๆ ชนะประมูลขึ้นมา เกรงว่าจะส่งผลทำให้การผลิตสะดุดลง เพราะมีข้อเสียเปรียบกว่ารายเก่า ที่มีข้อมูลด้านการผลิต บุคลากรมีความเชี่ยวชาญ ที่ดำเนินการผลิตมาแล้ว 30 ปี และมีการพัฒนาเทคโนโลยีที่สอดคล้องกับสภาพธรณีของไทย ดังนั้น หากรายใหม่ชนะการประมูล ก็ต้องทำการศึกษาข้อมูลอย่างรอบด้าน หรือเริ่มนับหนึ่งใหม่ เกรงว่าจะทำให้การผลิตช่วงรอยต่อเกิดการสะดุด ไม่สามารถรักษาเสถียรภาพทางการผลิตได้ ซึ่งจะกระทบต่อการจัดหาก๊าซแอลเอ็นจีจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น เพราะหากกำลังการผลิตก๊าซหายไป 2 พันล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เท่ากับว่าจะต้องนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจีกว่า 14 ล้านตันต่อปี จากปัจจุบันที่นำเข้าอยู่ราว 4-5 ล้านตันต่อปี

AW_Online-03 “ในแง่ที่ดีก็คือประเทศจะได้มีกำลังผลิตปิโตรเลียม เพื่อความมั่นคงของประเทศจะได้ต่อเนื่อง หากผลิต 1.5 พันล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน แต่ในแง่ของการประมูล ก็อาจจะทำให้รายใหม่ เข้ามาแข่งขันลำบากขณะที่ผลตอบแทนรัฐยังคงอยู่ โดยปี 2559 รัฐได้ค่าภาคหลวงอยู่ที่ 4.13 หมื่นล้านบาท เก็บภาษีปิโตรเลียมได้ 4.61 หมื่นล้านบาท และผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษอีก 1,102 ล้านบาท”

++เชื่อแข่งขันทำให้ต้นทุนลดลง
นายมนูญ ศิริวรรณ กรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน เห็นการกำหนดอัตราการผลิตขั้นตํ่าที่ระดับ 1.5 พันล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เทียบกับกำลังการผลิตปัจจุบันจากทั้ง 2 แหล่ง รวมอยู่ที่ 2.1 พันล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน นับว่าไม่สูงมากนัก ส่งผลให้ผู้ประกอบการรายเล็กและรายใหม่ สามารถเข้าร่วมประมูลได้ หากมีผู้เข้าร่วมประมูลหลายรายจะเกิดการแข่งขัน ต้นทุนลดลง แต่ก็จูงใจลำบากเนื่องจากแหล่งสัมปทานอ่าวไทยไม่ได้อุดมสมบูรณ์มากนัก แต่ผลเสียคือกำลังการผลิตตํ่ากว่าปัจจุบันมาก ส่งผลให้รายได้เข้าประเทศลดลง

ดังนั้น สิ่งที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พยายามผลักดันอยู่นี้ ไม่เพียงการกำหนดหลักเกณฑ์ทีโออาร์ แต่ยังล็อบบี้ให้ผู้รับสัมปทานรายเดิม เข้าร่วมประมูลแข่งขันกันทั้ง 2 แหล่ง โดยหวังว่าจะเป็นผู้ชนะการประมูล ทำให้ประเทศเกิดการผลิตปิโตรเลียมอย่างต่อเนื่อง ช่วยรักษาความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศไว้ได้

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,340 วันที่ 15 - 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว