อภ.รุกสร้างความมั่นคงยาหลังปี 60ช่วยรัฐประหยัดกว่า 6.4 พันล.

14 ก.พ. 2561 | 05:34 น.
อภ.แจงผลการดำเนินงานปี 60 ช่วยรัฐประหยัดค่ายากว่า 6,400 ล้าน พร้อมเดินหน้าลงทุนด้านการผลิตยา ตามพันธกิจเสาหลักความมั่นคงด้านยาของประเทศ เตรียมสร้างโรงงานผลิตยาเพิ่มและโรงงานสารสกัดจากสมุนไพร ผลิตยาในหลายๆ กลุ่ม เน้นกลุ่มยารักษาโรคมะเร็ง และผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร

นพ.โสภณ เมฆธน ประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) เผยถึง ผลการดำเนินงานในปี 2560 ว่า อภ. มียอดจำหน่ายยากว่า 1.59 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.95% จากยอดขายในปี 2559 มูลค่ากว่า 1.51 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นยาองค์การฯ จำนวน 7,300 ล้านบาท ยาของผู้ผลิตอื่น จำนวน 8,605 ล้านบาท เป็นยอดกระจายยาเชิงสังคมกว่า 1.15หมื่นล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 73% ของผลประกอบการ และเพิ่มขึ้นมากกว่าปี 2560 จำนวน 1,189 ล้านบาท ทั้งนี้ ยาเชิงสังคมจะเป็นยาที่มีผู้ผลิตน้อยรายหรือไม่มีผู้ผลิตในประเทศ หรือไม่มีผู้จัดหามาสำรองไว้เลย ซึ่งบทบาทการสร้างให้ประชาชนเข้าถึงยาเชิงสังคม นับเป็นภารกิจหลักสำคัญที่องค์การฯ ต้องมุ่งมั่นดำเนินการให้เข้มเข็งยิ่งๆขึ้น

apaw

ส่วนโครงการในอนาคต อภ. มี 3 โครงการ ได้แก่ โครงการวิจัย พัฒนาและก่อสร้างโรงงานผลิตยารักษาโรคมะเร็ง เพื่อผลิตยารักษาโรคมะเร็งได้ด้วยตนเองในประเทศ ซึ่งคาดว่าจะทำให้ราคายาลดลงถึง 50% ผู้ป่วยเข้าถึงยาได้มากขึ้น ทำให้ประเทศมีความมั่นคงด้านยา โดยมุ่งเน้นการผลิตยารักษาโรคมะเร็งในทุกกลุ่ม ได้แก่ ยาเคมีบำบัดชนิดเม็ดและฉีด (Chemotherapy) ซึ่งเป็นยาพื้นฐานในการรักษาโรคมะเร็งที่ออกฤทธิ์ทั่วร่างกาย และยารักษาแบบจำเพาะเจาะจงต่อ Cell มะเร็ง (Targeted therapy) ทั้งชนิดเม็ด และยาฉีดชีววัตถุ คล้ายคลึงประเภท Monoclonal antibodies (Biosimilar)

สำหรับแผนการดำเนินงาน องค์การฯ ได้แบ่งเป็น 3 ระยะ ประกอบด้วย ระยะที่ 1 นำเข้าเพื่อจำหน่าย และแบ่งบรรจุผลิตภัณฑ์ ภายใน 2 ปี ควบคู่กันไปกับการวิจัย และพัฒนายา ระยะที่ 2 การก่อสร้างโรงงาน ซึ่งจะใช้เวลา 4-5 ปี และระยะที่ 3 ดำเนินการผลิตเพื่อจำหน่ายด้วยตนเอง ซึ่งทั้งหมดจะใช้เวลาประมาณ 8 ปี คาดว่าจะสามารถผลิตในระดับอุตสาหกรรมเพื่อจำหน่ายได้ในปี 2568 ซึ่งคาดว่าจะใช้งบทั้งสิ้นประมาณ 1,500 ล้านบาท ล่าสุดได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงกับปตท.ศึกษาความเป็นไปได้ของการสร้างโรงงานผลิตยารักษามะเร็ง

โครงการก่อสร้างโรงงานผลิตยารังสิตระยะที่ 2 ที่ อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี เพื่อผลิตยาน้ำรับประทาน ยาครีม ยาขี้ผึ้ง ยาปราศจากเชื้อ ยาน้ำใช้ภายนอก ยาฉีด และยาเม็ด รวมทั้งคลังที่ใช้สำหรับการสำรองวัตถุดิบและอุปกรณ์ โดยใช้งบประมาณจำนวน 5,607 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้ คณะกรรมการองค์การฯได้มีมติเห็นชอบให้นำเรื่องโครงการดังกล่าวเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) และขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการนำเสนอครม.ให้ความเห็นชอบ ในขณะเดียวกันองค์การฯได้ดำเนินการด้านต่างๆควบคู่ไปด้วย เช่น การจัดทำ Conceptual Design และ Site Master Plan ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้รับรองแบบการก่อสร้างโรงงานแล้ว การจัดทำ Basic Design & Detail Design โรงงานผลิตและคลัง ซึ่งผ่านการรับรองแบบจากอย. แล้ว

apaw2

นอกจากนั้นยังได้มีการศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนการก่อสร้าง และผ่านความเห็นชอบในหลักการจากคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กระทรวงการคลัง และสำนักงบประมาณ รวมถึงได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างจากกรมธนารักษ์ และเทศบาลบึงสนั่นแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำร่างข้อกำหนดการจ้างควบคุมงานก่อสร้างและกำหนดราคากลาง คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ช่วงปลายปี 2561 และจะแล้วเสร็จทั้งหมดใน ปี 2564 ซึ่งในอนาคตอาจจะย้ายฐานการผลิต การสำรองและกระจายเกือบทั้งหมด จากถนนพระรามที่ 6 ไปที่ อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี

ระยะที่ 3. แผนการสร้างนวัตกรรมและผลิต ผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร เพื่อให้มีการดำเนินการที่สอดคล้องกับแผนแม่บทแห่งชาติว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรไทย ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2560-2564 ที่ให้ผลิตภัณฑ์สมุนไพรเป็นทางเลือกในการป้องกัน หรือรักษาควบคู่หรือทดแทนยาแผนปัจจุบัน จึงได้มีแผนงานดังกล่าวเพื่อความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืนทางด้านยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพจากสมุนไพร โดยมุ่งเน้นวิจัย พัฒนาและผลิต ผลิตภัณฑ์ที่เป็นสารสกัดจากสมุนไพร ที่มีผลงานวิจัยที่เป็นระบบมีการทดสอบประสิทธิผลและความปลอดภัยในการใช้ มีการควบคุมคุณภาพตามมาตรฐาน GMP

โดยเน้นที่กลุ่มผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร ทั้งที่เป็นสารสกัดสมุนไพรที่เป็นยาเดี่ยว และสารสกัดจากสมุนไพรตำรับ ที่มีความต้องการใช้สูงในระบบสุขภาพของประเทศและตลาดโลก เช่น กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) โรคมะเร็ง เป็นต้น และกลุ่มยาสมุนไพรที่ใช้ในการดูแลสุขภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน ได้แก่ ยาสามัญประจําบ้านแผนโบราณ ยาสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ รวมถึงกลุ่มยากําพร้า ยาขาดแคลน โดยจะมีการพัฒนากลไกทางการตลาดเพื่อขยายตลาด เพิ่มช่องทางการตลาดให้ประชาชนได้เข้าถึงมากขึ้น โดยในส่วนของผลิตภัณฑ์สมุนไพรนี้ จะมีการจัดซื้อและติดตั้งเครื่องจักรมูลค่าประมาณ 77 ล้านบาท เพื่อติดตั้งในโรงงานผลิตเภสัชเคมีภัณฑ์ที่กำลังจะก่อสร้างเสร็จในกลางปีนี้

apaw3

สำหรับทำการสกัดสารสกัดจากสมุนไพรขมิ้นชัน เพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มมากขึ้นจากการที่ ผลิตภัณฑ์แคปซูลสารสกัดขมิ้นชัน ( Antiox ) ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นยาพัฒนาจากสมุนไพรแผนปัจจุบันรายการแรกในประเทศไทย และจะมีการก่อสร้างโรงงานสารสกัดสมุนไพร ด้วยงบประมาณ 717 ล้านบาท ขึ้นที่อ.หนองใหญ่ จ.ชลบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ขององค์การเภสัชกรรมเอง ที่จะให้พื้นที่นี้เป็นที่สำหรับการดำเนินงานด้านสมุนไพรครบวงจรต่อไป นอกจากนั้น จะได้มีการจัดทำโครงการ เกษตรพันธุ์ หรือ Contract Farming พืชสมุนไพร เพื่อให้ได้วัตถุดิบที่มีสารสำคัญจากสมุนไพรได้มาตรฐาน ปริมาณเพียงพอและต่อเนื่อง และยังเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจ และสังคมของประเทศ

ด้าน นพ.นพพร ชื่นกลิ่น ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า การที่องค์การฯเข้าไปเป็นกลไกในการจัดหาและสำรอง เพื่อรักษาสมดุล และตรึงราคาให้อยู่ในราคาที่เหมาะสมและสร้างการเข้าถึงให้มากขึ้น ทำให้ปี 2560 องค์การฯ ช่วยประหยัดงบประมาณจัดหายาของภาครัฐได้ถึง 6,398 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,417 ล้านบาท โดยเป็นยาในกลุ่มยาต้านไวรัสเอดส์ที่สามารถประหยัดได้ถึง 2,554 ล้านบาท รองลงมาเป็นยาต้านไข้หวัดใหญ่ 1,000 ล้านบาท

gpo1

นอกจากนั้นยังได้มีการผลิตและสำรองยากำพร้าและยาขาดแคลนเพิ่มอีกขึ้น 1 รายการ คือยา Mometasone Furoate ใช้บรรเทาอาการอักเสบและอาการคัน ในผู้ป่วยที่ตอบสนองต่อคอริติโคสเตียรอยด์ ที่มีอายุตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป รวมเป็น 31 รายการมูลค่าทั้งสิ้น 87 ล้านบาท และปี 2561 จะเพิ่มรายการยากำพร้าและยาขาดแคลนเพิ่มอีก 2 รายการคือ Flumazenil ใช้รักษาอาการสงบประสาทของการได้รับยากลุ่มเบนโซไดอะซีปีน(Benzodiazepine) และยา Isoprenaline ใช้รักษาอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ และในช่วงที่เกิดน้ำท่วมในหลายจังหวัดที่ผ่านมา องค์การฯได้จัดส่งยาชุดช่วยเหลือผู้ประสบภัยให้กระทรวงสาธารณสุขกว่า 400,000 ชุดอย่างรวดเร็วและทันท่วงที เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ นอกจากนั้นยังนำส่งรายได้ให้รัฐ อีก 816 ล้านบาท
AW_Online-03 ส่วนของการดำเนินการก่อสร้าง โรงงานผลิตวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่และไข้หวัดนก ตามมาตรฐาน WHO-GMP ที่ จ.สระบุรี ซึ่งการก่อสร้างโรงงานเสร็จแล้วนั้น ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการทดสอบระบบต่างๆอย่างเต็มรูปแบบ ทั้งระบบห้องผลิตและระบบสนับสนุนการผลิต ระบบเครื่องจักรผลิต และกระบวนการผลิตให้ทำงานสอดประสานกันเป็นไปตามมาตรฐานสากล เพื่อให้ได้วัคซีนที่มีประสิทธิภาพตามข้อกำหนดมาตรฐาน

ส่วนการวิจัยและพัฒนาวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ชนิดเชื้อตายแบบสามสายพันธุ์ ที่โรงงานต้นแบบ ที่มหาวิทยาลัยศิลปากรนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการทดสอบทางคลินิกระยะที่3 ซึ่งจะเสร็จในปี 2561และคาดว่าจะได้รับการขึ้นทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ได้ในปี 2562 หลังจากนั้นจะนำข้อมูลไปประกอบและเชื่อมโยงกับผลการผลิตวัคซีนที่ผลิตที่โรงงาน ในระดับอุตสาหกรรมที่ทำการทดสอบทางคลินิกระยะที่ 3 หรือ Bridging Study เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับการขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา คาดว่าจะสามารถขึ้นทะเบียนได้ในปี 2563

“ในช่วงปีที่ผ่านมาองค์การฯมีความภาคภูมิใจมากจากการที่องค์การอนามัยโลก(WHO) ได้มาตรวจและให้การรับรองโรงงานผลิตยารังสิต 1 และประกาศเผยแพร่ในเว็บไซต์ของ WHO ซึ่งแสดงถึงการเป็นโรงงานผลิตยาที่ได้มาตรฐานการผลิตในระดับสากล และนอกจากนั้นองค์การยังได้รับรางวัล อย.Quality Award ประจำปี 2561 ด้านยา ในหมวดยา ทั้ง 2 โรงงาน คือที่องค์การเภสัชกรรม ถนนพระรามที่ 6 และองค์การเภสัชกรรม อำเภอธัญบุรี จากอย.”

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว